วช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมผ้าทอ และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) หนุนงานวิจัยเพื่อเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน จังหวัดบุรีรัมย์ ภายใต้ โครงการ Innovation Hubs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ฐานนวัตกรรมของประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ส่งผลให้หลายชุมชนเข้มแข็งและสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

นางสาวสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ที่ปรึกษา วช. อดีตเลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการ Innovation Hubs เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 กลุ่มเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เป็นความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และเครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา 9 ภูมิภาค เพื่อร่วมมือในการดำเนินเผยแพร่ผลงานในโครงการ Innovation Hubs โดยตกลงที่จะให้ความร่วมมือกัน

ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน และส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อที่จะได้นำความรู้และเทคโนโลยีมาบูรณาการกับศักยภาพท้องถิ่น โดยการเผยแพร่ผลงานและข้อมูลการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย เพื่อไปสู่การค้นคว้าและสร้างแรงบันดาลใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาและต่อยอดศักยภาพต้นทุนของชุมชน และนำองค์ความรู้ผลงานวิจัยและเทคโนโลยี เครือข่ายวิจัยอุดมศึกษา ไปใช้ประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการเผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบ

ผศ. ดร.อริศร์ เทียนประเสริฐ ประธานคณะกรรมการ โครงการ Innovation Hubs กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ เป็นหนึ่งในสาขากลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ของ Innovation Hubs ในเครือข่ายวิจัยอีสานตอนล่าง เนื่องจากบุรีรัมย์มีต้นทุนวัฒนธรรมนำเข้าด้านสนามกีฬา สนามแข่งรถ และการพัฒนาพื้นที่ แต่สามารถต่อยอดโดยใช้องค์ความรู้งานวิจัยมาช่วยพัฒนาต้นทุนด้านศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญา

โดยเฉพาะผ้าไหมให้เติบโตและพัฒนาไปด้วยกันได้ โดยขณะนี้กลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับทุนจาก วช. และโครงการได้ร่วมมือกับชุมชนในหลายพื้นที่ นำงานวิจัยมาพัฒนาการออกแบบลวดลาย และการมัดย้อมไหมมัดหมี่ด้วยสีธรรมชาติ จนได้ผ้าไหมมัดหมี่บุรีรัมย์ ที่มีความโดดเด่น ร่วมสมัย แต่ยังคงเสน่ห์แห่งวัฒนธรรมในภูมิภาค เป็นจุดขายที่แตกต่างจากที่อื่น

โดยนักวิจัยได้นำลายจำหลักจากปราสาทขอมมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายใหม่ๆ กว่า 50 ลาย ซึ่งเหมาะกับทุกวัย การที่นักวิจัยฯ สามารถเชื่อมโยงความรู้เข้ากับชุมชนในพื้นที่ พัฒนาให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการ ในลักษณะของการท่องเที่ยว จะช่วยส่งเสริมให้เกิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ และเกิดแรงเหวี่ยงไปยังพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น ดังที่จังหวัดบุรีรัมย์ ขณะนี้คนรุ่นใหม่เริ่มพัฒนาตลาดออนไลน์ และสนใจอาชีพทอผ้า สิ่งที่ตามมาคือ เศรษฐกิจ หรือการประกอบอาชีพในพื้นที่เกิดความยั่งยืน หนุ่มสาวไม่ต้องออกจากบ้านไปทำงานที่อื่น

ทั้งนี้ วช. ได้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงานวิจัย “สานต่อภูมิปัญญา ผ้าทอบุรีรัมย์ เลิศล้ำการท่องเที่ยว” ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่าง วันที่ 30 – 31 มีนาคม 2562 โดยมี รศ. สมบัติ ประจญศานต์ หัวหน้าสาขาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ นักวิจัยโครงการไหมมัดหมี่ลายจำหลักจากปราสาทขอม พร้อมคณะนักวิจัย นำชมลวดลายศิลปกรรม ที่ปราสาทหินเขาพนมรุ้ง รวมทั้งโครงการวิจัยอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว โปรแกรมท่องเที่ยวสายอารยธรรมขอม ผลผลิตจากงานวิจัยหมู่บ้านท่องเที่ยวไหมชุมชนสายยาว และผลผลิตจากงานวิจัยต่างๆ

ผู้สนใจผลงานวิจัย โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ลายจำหลักปราสาทขอม และการพัฒนาลายมัดหมี่สมมาตร สามารถเยี่ยมชมได้ในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2562” ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ระหว่าง วันที่ 7 – 10 เมษายน 2562