เกษตรปราจีนฯ วิเคราะห์สารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี

นายยศพนธ์ ทัพพระจันทร์ เกษตรจังหวัดปราจีนบุรี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรของเกษตรกรในจังหวัดปราจีนบุรี จึงได้มอบหมายให้นายสุรแสง พูนเพิ่มสุขสมบัติ หัวหน้ากลุ่มอารักขาพืช และเจ้าหน้าที่กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี ดำเนินงานโครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร กิจกรรมนำร่องจุดบริหารจัดการสารตกค้างในพืชผลการเกษตร ดำเนินการให้ความรู้ บรรยายความรู้ในการตรวจวิเคราะห์สารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร พร้อมทั้งให้บริการด้านการวิเคราะห์สารตกค้าง ความปลอดภัยในสินค้าเกษตร โดยมีสมาชิกกลุ่มตลาดเกษตรกรจังหวัดปราจีนบุรี นำผลผลิตทางการเกษตรมาเข้ารับการบริการตรวจสารตกค้าง ณ จุดบริหารจัดการสารตกค้างในพืชผลการเกษตร สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อทำการวางแผนการผลิตผลผลิตทางการเกษตร และเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรต่อไป

โดยกลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี ใช้วิธีการตรวจวิเคราะห์อย่างง่าย ตามหลักการตรวจหาสารตกค้างวิธี Acetyl Cholinesterase Inhibition Technique ซึ่งมีขั้นตอน ได้แก่

1. ตักตัวอย่างอาหารที่หั่นละเอียด 5 กรัม เติมน้ำยาสกัด 1 จำนวน 5 มิลลิลิตร ปิดฝาขวด เขย่าแล้ววางทิ้งไว้ 10-15 นาที

2. ดูดน้ำยาสกัด จำนวน 1 มิลลิลิตร ใส่ในหลอดทดลอง เติมน้ำยาสกัด 2 จำนวน 1 มิลลิลิตร นำไประเหยในถาดน้ำอุ่นจนน้ำยาสกัด 1 ระเหยหมด

3. นำหลอดทดลองใหม่ 3 หลอด เติมน้ำยา ดังนี้

หลอดที่ 1 หลอดตัดสิน ใส่น้ำยาสกัด 2 จำนวน 1 ขีด

หลอดที่ 2 หลอดควบคุม ใส่น้ำยาสกัด 2 จำนวน 1 ขีด

หลอดที่ 3 หลอดตัวอย่าง ใส่น้ำยาสกัดจากตัวอย่างที่ได้นำไประเหยเรียบร้อยแล้ว จำนวน 1 ขีด

4. หลังจากนั้นเติมน้ำยาจีที 1 จำนวน 2 ขีด ใส่ลงในทุกหลอด ทิ้งไว้ 5-10 นาที โดยในระหว่างรอเวลา ให้เทจีที 2.1 ลงในจีที 2 เป็นน้ำยาผสมจีที 2 และเทจีที 3.1 ลงในจีที 3 เป็นน้ำยาผสมจีที 3

5. เติมน้ำยาผสมจีที 2 ลงในหลอดที่ 1 จำนวน 1.5 ขีด ส่วนหลอดที่ 2 และหลอดที่ 3 เติม 1 ขีด ตั้งทิ้งไว้ 30 นาที

6. เติมน้ำยาผสมจีที 3 จำนวน 4 ขีด ลงในทุกหลอด ตามด้วยจีที 4 จำนวน 2 ขีด เขย่าและเติมจีที 5 จำนวน 2 ขีด เขย่า สังเกตสีทั้ง 3 หลอดและอ่านผลการทดสอบ โดยการอ่านสีสารละลายในหลอดทดลอง วิเคราะห์ดังนี้ หลอดตัวอย่าง สีอ่อนกว่าหรือเท่ากับหลอดควบคุม คือ ไม่พบสารตกค้าง หลอดตัวอย่างสีอ่อนกว่าหลอดตัดสิน แต่เข้มกว่าหลอดควบคุม คือพบสารตกค้างแต่อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย และหลอดตัวอย่างสีเข้มกว่าหลอดตัดสิน คือพบสารตกค้างในปริมาณมากกว่าค่าความปลอดภัย

ซึ่งการได้รับสารตกค้างในร่างกายมนุษย์เมื่อบริโภคผลผลิตเข้าไปนั้น แม้อาจจะได้รับในปริมาณต่ำ แต่ได้รับเป็นประจำอาจสะสม และส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานในร่างกาย เช่น ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ภูมิคุ้มกันของร่างกาย และส่งผลกระทบก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี ในระดับเซลล์ ดังนั้น การให้ความสำคัญในการวิเคราะห์สารตกค้าง และความปลอดภัยในผลผลิตทางการเกษตร จึงเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเสี่ยง และเพิ่มความปลอดภัยของผลผลิต รวมทั้งใช้เป็นมาตรการในการควบคุมตลาดเกษตรกรของจังหวัดปราจีนบุรี

โดยเกษตรกรผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มอารักขาพืช สำนักงานเกษตรจังหวัดปราจีนบุรี