โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 น่าน ศูนย์รวมเด็กกินนอน ทำเกษตรยังชีพ

ปีที่ผ่านมา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เข้าไปส่งเสริมการนำมาตรฐานไปใช้ในสถานศึกษาระดับมัธยมนำร่อง 6 แห่ง ในจังหวัดน่าน

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา เป็นหนึ่งในโรงเรียนทั้ง 6 แห่ง

แนวทางที่มกอช.เข้าไปส่งเสริม คือ การผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ปลอดภัยต่อการบริโภค โดยจัดให้มีแปลงเรียนรู้และสร้างความเข้าใจเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย แต่เหตุที่ต้องเข้ามาส่งเสริมในโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ รับนักเรียนจากหลายอำเภอ โดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นชนเผ่า ไร้สัญชาติ จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่ทำการเกษตรภายในโรงเรียน เพื่อเป็นแหล่งป้อนอาหารให้กับนักเรียนที่ต้องกินนอนในโรงเรียนตลอดปีการศึกษา

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 แห่งนี้ มีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา และเป็นโรงเรียนประจำ เด็กนักเรียนที่มาเรียนที่นี่ต้องกินอยู่หลับนอน เรียนหนังสือ และใช้ชีวิตประจำวันที่โรงเรียนตลอดปีการศึกษา มีช่วงปิดเทอมที่ผู้ปกครองมารับกลับไปบ้านได้

ดูเหมือนไม่น่ามีอะไรที่ติดขัด แต่แท้ที่จริง โรงเรียนแห่งนี้มีเพียงพื้นที่ที่กว้างมากพอรองรับการกินอยู่หลับนอน การเรียน ของเด็กนักเรียนจำนวนหลักร้อย เพราะมีพื้นที่กว้างมากถึง 137 ไร่ ซึ่งถูกแบ่งให้เป็นพื้นที่สำหรับทำการเกษตรมากถึง 40 เปอร์เซ็นต์

จ.ส.อ. เสวก ฉุนหอม ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 บอกว่า โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนยากจนมาเรียนมากที่สุดของจังหวัดน่าน เด็กส่วนใหญ่มีพื้นฐานครอบครัวจากการเป็นเกษตรกร มีภูมิลำเนาบนที่สูงและภูเขา การทำการเกษตรในโรงเรียนจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อป้อนผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรเข้าสู่โรงครัว และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนและผู้ปกครองที่สนใจ เพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของนักเรียน

นักเรียนที่มาเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 แห่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวชนเผ่า ซึ่งมีทั้งหมด 9 ชนเผ่า ได้แก่ ม้ง เมี่ยน ขมุ ลั๊วะ มลาบรี ถิ่น ไทลื้อ ลาวบ้านโคก และชาวพื้นราบ

ความแตกต่างในการดำรงชีวิตแต่ละชนเผ่ามีความแตกต่างกัน ซึ่งครูจะเป็นผู้ปรับให้นักเรียนทั้งหมดใช้ชีวิตได้อย่างปกติเช่นเดียวกับนักเรียนพื้นราบทั่วไป ยกเว้น ชนเผ่ามลาบรี ที่มีความแตกต่างค่อนข้างสูง เพราะเป็นชนเผ่าที่เก็บตัว มีความส่วนตัวสูง ไม่สุงสิงกับใครยกเว้นชนเผ่าของตนเอง และไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มักถางป่าและทำไร่เลื่อนลอย แต่เมื่อเข้ามาใช้ชีวิตในรั้วโรงเรียนแห่งนี้ จำเป็นต้องสอนให้เกิดการปรับตัวให้ได้ โดยเด็กนักเรียนที่เป็นชนเผ่ามลาบรีมีทั้งสิ้น 37 คน นอกจากนี้ การสอนให้ทำการเกษตรในโรงเรียน นอกจากจะได้อาหารเข้าสู่โรงครัวแล้ว ยังเชื่อว่าการสอนให้ทำการเกษตรจะส่งต่อไปถึงผู้ปกครองของเด็กอีกด้วย

“การทำการเกษตรในโรงเรียน ได้จัดพื้นที่ไว้ด้านท้ายของโรงเรียน ติดกับหอพักของเด็กนักเรียน เป็นแปลงเกษตรขนาดใหญ่ในรูปแบบของผักปลอดสาร มีการล้อมรั้วเลี้ยงไก่ เป็ด เพาะเห็ด การทำปุ๋ยไว้ใช้เองในโรงเรียน ซึ่งปัญหาของการทำการเกษตรในโรงเรียนมีเพียงปัญหาเรื่องน้ำและดิน ซึ่งถือเป็นปัญหาหลักของภาคเกษตร เพราะดินในพื้นที่ของโรงเรียนไม่เหมาะสำหรับการทำการเกษตร และน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ แม้ว่าจะขุดบ่อบาดาล และมีบ่อเก็บน้ำไว้ใช้ 1 บ่อแล้วก็ตาม”

ปัญหาสำหรับการสอนนักเรียนเรื่องการทำการเกษตร ไม่เฉพาะความแตกต่างของชนเผ่า แต่ยังพบปัญหายาเสพติด ปัญหาการถูกล่วงละเมิดในเด็ก และปัญหาครอบครัว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นหน้าที่ครูในโรงเรียนที่ต้องช่วยกันดูแล

นอกจากนี้ ปัญหาความยากจนก็มีสูงถึง ร้อยละ 60 เมื่อถึงช่วงปิดภาคเรียน จึงพบว่ามีเด็กนักเรียนตกค้างอยู่ที่โรงเรียนจำนวนมาก เพราะภูมิลำเนาเด็กอยู่ห่างไกล ผู้ปกครองไม่มีเงินค่าเดินทางสำหรับมารับนักเรียน อาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีพ การทำการเกษตรในโรงเรียนให้ได้วัตถุดิบมาประกอบอาหาร จึงเป็นสิ่งจำเป็น เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จึงพยายามเรียนรู้ เพราะรู้ว่าการเกษตรเป็นพื้นฐานของการดำรงชีพ และทำให้พวกเขาอยู่รอด

ในทุกๆ วัน ครูจะพานักเรียนแต่ละชั้นลงแปลง แบ่งเป็นระดับชั้น แต่ทุกระดับชั้นจะได้ลงแปลงวันละ 1 ชั่วโมง ไม่นับเวลาเย็นและเช้าที่นักเรียนจะได้รับมอบหมายให้ดูแลแปลงต่างหาก

ผลผลิตที่ได้จะถูกส่งเข้าโรงครัว เมื่อเหลือจากโรงครัวจะถูกนำไปแปรรูปเพื่อเก็บไว้รับประทานในมื้อถัดไป

จ.ส.อ. เสวก เล่าว่า ที่ผ่านมา ผลผลิตที่ได้จากแปลงเกษตรทุกรูปแบบไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักเรียน เพราะเด็กกินอาหาร 3 มื้อ และปัญหาเรื่องดินและน้ำที่ทำให้ได้ผลผลิตไม่ดี จึงเป็นปัจจัยที่โรงเรียนยังต้องการผู้ที่มีความรู้ทางด้านเกษตรเข้ามาให้คำแนะนำ

อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนชิ้นนี้ไม่ได้เป็นตัวอย่างในการบริหารจัดการแปลงเกษตรในโรงเรียน เช่นเดียวกับบทความชิ้นอื่น แต่เขียนขึ้นเพื่อให้เห็นว่า การเกษตรในโรงเรียนมีความสำคัญต่อผู้อยู่อาศัยในโรงเรียนมากน้อยเพียงใด และต้องการสื่อให้ทราบว่า ยังมีเด็กนักเรียนที่ต้องการผู้มีความรู้เข้าไปถ่ายทอดเรื่องการทำการเกษตรให้ได้ผลดี ภายใต้ปัจจัยที่มีอุปสรรค และยังต้องการความช่วยเหลือด้านเกษตรอีกมาก ดังนั้น หากจะมีผู้ใหญ่ใจดี หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปส่งเสริมสนับสนุน ก็จะเป็นการดีต่อเยาวชนของประเทศ

ขอข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อสอบถามได้ที่ จ.ส.อ. เสวก ฉุนหอม ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 56 ตำบลกลางเวียง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน โทรศัพท์ (081) 446-7890

หรือต้องการบริจาคเสื้อผ้า ของใช้ อุปกรณ์การเรียน ให้กับเด็กนักเรียน โรงเรียนแห่งนี้ยินดี โดยเฉพาะเครื่องใช้สำหรับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 สามารถประสานงานไปยัง อาจารย์เพชรรุ่ง ไชยปัญญา โทรศัพท์ (091) 076-1045 ได้ตลอดเวลา