คุณค่าแห่งสมุนไพร สร้างรายได้เกษตรกรบ้านดงบัง ปราจีนบุรี ด้วยแปลงเกษตรอินทรีย์

คุณสมัย คูณสุข อายุ 55 ปี บ้านเลขที่ 34 หมู่ที่ 6 บ้านดงบัง ตำบลดงขี้เหล็ก  อำเภอเมือง  จังหวัดปราจีนบุรี เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพรในแปลงอินทรีย์ เพื่ออบแห้งส่งขายให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านบ้านดงบัง ทำอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวนเป็นหลัก ประมาณปี 2537 เริ่มปรับเปลี่ยนมาทำไม้ดอกไม้ประดับ เริ่มต้นไปได้สวย รายได้มีขึ้นลงบ้างตามธรรมชาติของตลาด  ต่อมาปี 2540 ไม้ดอกไม้ประดับราคาตกต่ำอย่างมาก ชาวบ้านจึงมองหาทางเลือกใหม่ ด้วยการปลูกพืชสมุนไพร เริ่มจากปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริมส่งให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร

 

คุณสมัย คูณสุข

คุณสมัย เริ่มมีความสนใจที่จะปลูกสมุนไพร จึงได้ไปสอบถามทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผลิตยาสมุนไพรควบคู่กับการรักษาแผนปัจจุบันอยู่แล้ว มีการตกลงระหว่างกันว่า บ้านดงบังจะเป็นแหล่งผลิตสมุนไพรเพื่อป้อนให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มีการคุยกันและตกลงว่าจะซื้อ จึงจะเริ่มปลูก

วัตถุดิบที่โรงพยาบาลต้องการในช่วงนั้นคือ หญ้าปักกิ่ง เพราะฉะนั้นสมุนไพรตัวแรกที่ปลูกคือ หญ้าปักกิ่ง  โดยโรงพยาบาลอภัยภูเบศรได้นำพันธุ์มาให้ทดลองปลูก เมื่อปลูกสำเร็จมีความเจริญงอกงาม นำมาสู่การขยาย มีการปลูกสมุนไพรชนิดอื่นเพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันปลูกสมุนไพรหลักที่ส่งให้กับทางโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ทั้งสิ้น 15 ชนิด อาทิ หญ้าปักกิ่ง หญ้าหนวดแมว เพชรสังฆาต เสลดพังพอน ชุมเห็ดเทศ ขมิ้นชัน ใบชะพลู ทองพันชั่ง อัคคีทวาร เป็นต้น พื้นที่ปลูกกว่า 70 ไร่

ฟ้าทลายโจร

คุณสมัยเล่าว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านที่สนใจปลูกมีมากถึง 300 ราย แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 12 รายเท่านั้น เนื่องจากความซับซ้อนการดูแลฟาร์มให้ถูกต้อง ซึ่งที่นี่เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีหลักเกณฑ์มากมาย ชาวบ้านบางรายยังคงคุ้นชินกับการใช้สารเคมี ทำให้ไม้สามารถเป็นแปลงปลูกอินทรีย์ ทำต่อไม่ไหว ซึ่งผู้ปลูก 12 ราย ที่เหลือในปัจจุบันได้รับรองมาตรฐานเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์แล้ว

บ้านดงบัง ได้รับมาตรฐานรับรองแปลงเกษตรอินทรีย์จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ หรือ มกท. ซึ่งเน้นในเรื่องของความหลากหลายทางระบบนิเวศ ไม่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว ใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ใช้สารเคมี และทำตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลักษณะแปลงปลูกเป็นการปลูกป่า 3 ระดับ ประกอบด้วยไม้สูง ไม้กลาง และไม้ล่าง เป็นการจัดการแปลงปลูกแบบองค์รวม เลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งบ้านดงบังแห่งนี้เป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์ ซึ่งหลังจากได้รับรองมาตรฐานแล้ว เพื่อให้มั่นใจในความสะอาดปลอดภัย จะมีการตรวจแปลงปลูกถึงปีละ3 ครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจรับของมูลนิธิตรวจปีละ 2 ครั้ง และ มกท. ตรวจอีกปีละครั้ง ทุกๆ ปี

เพชรสังฆาต

สมุนไพรเด่นที่บ้านดงบังปลูกเป็นหลัก มีจำนวนการสั่งซื้อสูง และมีการผลิตอย่างต่อเนื่องทุกรอบการสั่งซื้อ คือ ฟ้าทลายโจร หญ้าปักกิ่ง และเพชรสังฆาต ซึ่งในการผลิตแต่ละครั้งจำนวนจะขึ้นอยู่กับการออเดอร์ของโรงพยาบาลอภัยภูเบศร มีการวางแผนส่งขายสมุนไพรแต่ละชนิดภายในสมาชิกด้วยกัน โดยการแบ่งกันปลูกและส่งขายตามจำนวนสมาชิก เช่น เมื่อมีการส่งฟ้าทลายโจร 1,200 กิโลกรัม สมาชิกทั้ง 12 ราย ต้องรับผิดชอบผลิตด้วยกัน คือมีการผลิตเฉลี่ย รายละ 100 กิโลกรัม เพื่อส่งให้กับโรงพยาบาล เป็นวิธีการช่วยเหลือและแบ่งปันรายได้กันอย่างทั่วถึง

ส่วนวิธีการขยายพันธุ์ส่วนใหญ่ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดและการปักชำ เช่น ฟ้าทลายโจร จะใช้การเพาะเมล็ด แต่ส่วนมากแล้วเป็นการขยายพันธุ์ด้วยการปักชำ มีข้อดีคือเติบโตเร็ว

ก่อนที่จะมีการปลูก ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนของทุกปี ฝ่ายการตลาดของโรงพยาบาลจะประชุมวางแผนว่าในปีต่อไป โรงพยาบาลจะใช้สมุนไพรอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร แล้วผู้ปลูกจะเริ่มการปลูกในช่วงปลายฝนต้นหนาว กระทั่งถึงเดือนธันวาคม ซึ่งจะเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้การเก็บเกี่ยวก็จะขึ้นอยู่กับอายุของสมุนไพรแต่ละชนิดด้วย เพื่อให้ได้คุณภาพและสารออกฤทธิ์ทางยาที่เป็นมาตรฐาน

ล้างทำความสะอาด 3 น้ำ

การดูแล ให้ปุ๋ย

การทำเกษตรอินทรีย์ ปัจจัยที่ใช้ต้องปลอดสารเคมี ที่นี่ใช้ปุ๋ยคอก และปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพแทน ซึ่งปุ๋ยคอกก็ต้องมีที่มาที่ไป หากจะใช้ขี้ไก่ ห้ามใช้ขี้ไก่กรงตับ เนื่องจาก ไก่ที่ถูกเลี้ยงลักษณะนี้จะมีความเครียด เมื่อถ่ายออกมาแล้วจะมีสารเคมีหลั่งออกมาด้วย

ศัตรูพืชของสมุนไพรไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสมุนไพรที่ปลูกส่วนมากทีรสขม ซึ่งศัตรูพืชไม่ชอบอยู่แล้ว อีกทั้งการปลูกแบบหลากหลายทางระบบนิเวศ ธรรมชาติจะจัดการตัวเองอย่างเป็นระบบ มีนก มีตั๊กแตน มีกิ้งก่า มีหนู เป็นห่วงโซ่อาหารตามธรรมชาติ การจัดการแปลงปลูกส่วนมากเป็นเรื่องของการกำจัดวัชพืช

ให้น้ำบ่อย

รอสะเด็ดน้ำ

เนื่องจากเป็นแปลงปลูกที่เลียนแบบธรรมชาติ จึงให้น้ำไม่บ่อยนัก คือให้ทุกเช้า วันเว้นวัน ช่วงฤดูฝนไม่ต้องลดน้ำ ให้ธรรมชาติจัดการด้วยตัวเอง โดยรวมแล้วการปลูกสมุนไพรปัญหาในเรื่องของความแคระแกร็นต่างๆ จะน้อยหรือแทบไม่มีเลย  มีก็ต่อเมื่อพืชบางชนิดไม่เหมาะกับบางฤดูกาล ทำให้การเติบโตมีปัญหาบ้าง

วิธีเก็บเกี่ยวผลผลิต

การเก็บผลผลิตจะเก็บตามอายุของสมุนไพรแต่ละชนิด เช่น ฟ้าทลายโจร จะมีอายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 2-3 เดือน ในแต่ละรอบการผลิตจะปลูกสมุนไพรแต่ละชนิดไม่เท่ากัน เนื่องจากจะขึ้นอยู่กับออเดอร์ของโรงพยาบาล

สับเป็นชิ้น

บ้านดงบังแห่งนี้ถือเป็นส่วนผลิตวัตถุดิบให้กับโรงพยาบาลคือมีพื้นที่ปลูก มีโรงล้างและโรงหั่น ซึ่งแปรรูปออกมาเป็นวัตถุดิบชิ้นแห้ง ส่งให้กับโรงพยาบาล

ขั้นตอนคือ เมื่อเก็บสมุนไพรจากแปลงแล้ว จะมาคัดสิ่งปนเปื้อน ส่วนที่ไม่ต้องการทิ้ง จากนั้นนำไปล้างน้ำสะอาด 3 ครั้ง ผึ่งให้สะเด็ดน้ำ นำมาหั่น เข้าโรงตาก ตากให้แห้ง 80% แล้วนำเข้าเตาอบด้วยอุณหภูมิ 60 องศา นาน 2 ชั่วโมง ก่อนจะบรรจุถุงเตรียมส่งขาย

สมุนไพรชิ้นแห้งที่ส่งขายราคาเฉลี่ยนอยู่ที่ตันละ 1 แสน 5 หมื่นบาท เป็นราคาสมุนไพรออร์แกนิก ซึ่งราคาสมุนไพรจะมีอยู่ 3 ระดับ คือ ราคาทั่วไป ราคาปรับเปลี่ยนและราคาออร์แกนิก เปรียบเทียบราคาคือ เมื่อส่งขายฟ้าทลายโจรทั่วไป ราคาจะอยู่ที่ 50 บาท/กิโลกรัม หากอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ ราคาจะอยู่ที่ 100 บาท/กิโลกรัม และเมื่อได้รับการรับรองเป็นเกษตรอินทรีย์แล้วราคาจะสูงถึง 150 บาท/กิโลกรัม เลยทีเดียว สำหรับสมุนไพรที่แพงที่สุดของสวนบ้านดงบังคือ หญ้าปักกิ่ง ราคาตันละ 8 แสน 5 หมื่นบาท ในเวลา 1 ปี เกษตรกรจะส่งสมุนไพรขายให้ รพ. รายได้ 30,000-40,000 บาทต่อครอบครัว ก่อนหน้านี้ชาวบ้านปลูกสมุนไพรเป็นรายได้เสริม แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นรายได้หลักของแต่ละครอบครัวไปแล้ว

ตากสมุนไพรให้แห้ง

“สำหรับผู้ที่มีความสนใจอยากปลูกสมุนไพรขาย สิ่งสำคัญอยู่ที่การตลาด เกษตรกรปัจจุบันทำการตลาดไม่เป็น ควรมีการพูดคุยกัน ตกลงกันกับผู้ซื้อ วางระบบให้เห็นเป็นรูปธรรม ผู้ปลูกต้องมีใจด้วย เพราะการปลูกสุมนไพรมีระยะเวลาในการเก็บเกี่ยวที่ต่างกันแต่ละชนิด มีรายละเอียดค่อนข้างเยอะ”

บ้านดงบัง นอกจากจะเป็นพื้นที่ปลูกสมุนไพรส่งขายให้กับโรงพยาบาลอภัยภูเบศรแล้ว ปัจจุบันที่นี่ยังเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีเกษตรกรเข้ามาดูงาน ทั้งในพื้นที่ที่นอกพื้นที่หรือกลุ่มเกษตรกรในอาเซียนด้วย และมีกล้าพันธุ์สมุนไพรจำหน่าย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมัย คูณสุข ประธานที่ปรึกษากลุ่มสมุนไพรบ้านดงบัง เบอร์โทรศัพท์ (087) 087 5039

เตาอบสมุนไพร
สมุนไพรรอส่งขาย