หนุ่มใต้ ผลิต “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ธาตุอาหารครบ-ย่อยสลายได้เอง หนึ่งเดียวในโลก!

เป็นที่ทราบกันดีว่า ช่วงหลายปีมานี้ราคายางพาราตกต่ำมาโดยตลอด ขณะที่รัฐบาลเองก็มีนโยบายลดพื้นที่ปลูกยางพารา และหันมาส่งเสริมการแปรรูปให้มากขึ้น รวมทั้งให้นำมาเป็นส่วนผสมของถนนและวัสดุอปุกรณ์ต่างๆ

ย่อยสลายได้ ลดโลกร้อน

ด้วยเหตุนี้เอง ผลิตภัณฑ์ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้ ของ คุณณัฐวี บัวแก้ว อายุ 24 ปี เจ้าของแบรนด์ Greensery จึงตอบโจทย์ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญมีส่วนช่วยลดโลกร้อนด้วย และก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์ของเขาก็ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมประกวดแข่งขันแผนธุรกิจ โครงการ Bangchak YY contest กระทั่งได้รับรางวัลชนะเลิศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปนำเสนอผลงาน ในงาน Social Business Forum Asia ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่นมากทีเดียว

มาฟังกัน หนุ่มรายนี้ซึ่งเรียนจบปริญญาตรี คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ สาขาวิชาวิศวกรรมการผลิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) คิดค้นผลิตภัณฑ์ดังกล่าวนี้มาได้อย่างไร

คุณณัฐวี เกริ่นความเป็นมาของผลิตภัณฑ์นี้ว่า เริ่มจากช่วงก่อนเรียนจบ ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม PSU Startup Challenge ที่จัดโดย P-SEDA สถานพัฒนาการเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา มอ. โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีความคิดที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจ โดยโครงการจะเชิญรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จประกอบธุรกิจในแต่ละด้านมาเป็นวิทยากร บางคนอายุยังน้อย เลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า จะทำแบบรุ่นพี่ได้หรือเปล่า

คุณณัฐวี บัวแก้ว

หลังจากนั้นก็เปิดใจที่จะเรียนรู้ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแผนธุรกิจ องค์ความรู้ต่างๆ ที่จะนำพาให้สามารถมีธุรกิจเป็นของตัวเองได้ และในงานก็มีกิจกรรมให้แข่งขันการประกวดไอเดียทางธุรกิจ การทำแผนการตลาดและการนำเสนองาน

สรุปว่า การแข่งในครั้งนั้น ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้มามากกว่านั้นคือ ทำให้ค้นพบว่าตัวเองชอบด้านนี้เอามากๆ ทำแล้วสนุก สนุกที่จะเรียนรู้และตัดสินใจเข้าประกวดแข่งขันอีกหลายเวที จนมีอยู่งานหนึ่งที่ให้ส่งผลงานเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการเกษตร โดยนึกได้ว่าเมื่อสองปีที่ผ่านมาเคยช่วยน้องสาวทำโครงงานถุงเพาะชำดูดซับน้ำจากยางพารา เลยตัดสินใจนำโครงงานนี้มาวิจัยและพัฒนาต่อ ซึ่งมองว่าการที่ถุงเพาะชำดูดซับน้ำได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ เลยตัดสินใจลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากเกษตรกรในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด เช่น สงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี

 

ในถุงมีธาตุอาหาร

จนได้ข้อสรุปว่า เกษตรกรเจอปัญหาในหลากหลายแง่มุม เช่น ถุงพลาสติกขาดง่าย โดนแดดนานๆ จะกรอบ ดูดกลืนแสงได้ดีเพราะมีสีดำ ทำให้ต้องรดน้ำต้นกล้าบ่อย เพื่อป้องกันสภาวะการขาดน้ำของพืช ขณะปลูกลงแปลงปลูกหรือเปลี่ยนขนาดไซซ์ถุงเพาะชำจากเล็กไปใหญ่ต้องกรีดถุงออก ซึ่งทำงานได้ช้าลงมาก รวมถึงต้องใช้ความระมัดระวังในการฉีกถุง เพื่อไม่ให้รากพืชเกิดความเสียหายและยังเป็นปัญหาขยะพลาสติกจากถุงเพาะกล้า และอีกปัญหาที่สำคัญคือ ต้นทุนการทำเกษตรที่สูงขึ้นมากกว่าอดีต เลยสรุปปัญหาทั้งหมดเพื่อหาแนวทางการแก้ไขได้ดังนี้

  1. ถุงต้องดูดซับน้ำได้
  2. ถุงต้องย่อยสลายได้ ไม่ต้องกรีดถุงขณะย้ายกล้าหรือปลูกลงแปลงปลูก
  3. ถุงต้องมีธาตุอาหารที่ช่วยในการเจริญเติบโตของกล้าพืช
  4. ต้องใช้วัตถุดิบจากยางพาราในการทำถุงเพาะชำ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักของประเทศ และกำลังประสบปัญหาราคายางที่ตกต่ำมากในปัจจุบัน หากช่วยกันนำยางพารามาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ จะสามารถเพิ่มมูลค่าจากยางพาราได้

 

“เหตุผลที่ผมเลือกทำถุงเพาะชำจากยางพารา เกิดจากความคิดเริ่มต้นคือ ต้องการเพิ่มมูลค่าให้กับยางพาราที่ตกต่ำมากในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อพ่อแม่พี่น้องชาวสวนยางเป็นอย่างมาก ผมเองก็เป็นลูกชาวสวนยางอยู่ที่อำเภอจุฬาภรณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จึงเกิดความคิดที่จะทำถุงเพาะชำ เพราะมีการใช้เยอะมากในกระบวนการปลูกกล้าไม้ อีกทั้งเป็นตลาดที่ใหญ่มากตลาดหนึ่งที่ยังเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่จะใช้แล้วทิ้ง ซึ่งกำจัดโดยวิธีการเผาหรือฝังกลบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรง”

คุณณัฐวี แจกแจงว่า ในการเข้าร่วมประกวดแข่งขันแผนธุรกิจ โครงการ Bangchak YY contest จนได้รับรางวัลชนะเลิศ และเป็นตัวแทนประเทศไทยไปนำเสนอผลงาน ในงาน Social Business Forum Asia ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการตัดสินใจที่จะวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ถุงเพาะชำจากยางพาราให้สำเร็จและออกสู่ตลาดให้ได้โดยเร็ว

ต่อมาได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นผู้ประกอบการในความดูแลของศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มอ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนในหลากหลายด้าน ทั้งการพัฒนาองค์ความรู้ และการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงได้เข้าร่วม โครงการ SME D Scaleup Rubber Innovation โดยได้รับความช่วยเหลือจากคณาจารย์ภายใต้อุทยานวิทยาศาสตร์ มอ. เป็นที่ปรึกษาในการวิจัยและพัฒนาถุงเพาะชำจากยางพาราในครั้งนี้ จนสำเร็จเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบในปัจจุบัน

เจ้าของ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” รายนี้ อธิบายถึงขั้นตอนกระบวนการผลิตถุงเพาะชำว่า ไม่มีความยุ่งยากอะไรมาก ใช้กระบวนการเดียวกับการผลิตถุงมือจากยางพาราในปัจจุบัน นั่นคือ กระบวนการจุ่มขึ้นรูป มีแม่พิมพ์ถุงเพาะชำ สูตรที่ใช้ขึ้นรูป และตู้อบเป็นอุปกรณ์หลัก ทั้งนี้ในกระบวนการผลิตมีการใช้ยางพารามากกว่า 50% ส่วนผสมของถุงใช้เป็นฟูดส์​เกรดทั้งหมด จึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

กลุ่มลูกค้าหลากหลาย

ปัจจุบัน ได้วิจัยและพัฒนาถุงเพาะชำจากยางพาราขึ้นมา 2 รูปแบบ นั้นคือ ถุงเพาะชำขนาดเท่าถุงพลาสติกทั่วไปและผลิตภัณฑ์ใหม่คือ ถุงเพาะชำกล้าสำหรับถาดเพาะชำ ซึ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้เป็นหลัก เพราะมีฐานลูกค้ารองรับ เนื่องจากทำให้สามารถย้ายกล้าลงแปลงปลูกได้รวดเร็ว ไม่เกิดความเสียหายของรากพืชในการย้ายกล้าและยังคงคุณสมบัติเดิมคือ ถุงสามารถย่อยสลายได้ สามารถดูดซับน้ำได้ และมีธาตุอาหาร N P K ที่จำเป็นของกล้าพืชในการเจริญเติบโต ทำให้เกษตรกรลดระยะเวลาในการทำงานลงได้ รวมถึงอัตราการรดน้ำ และปริมาณปุ๋ยเคมี ทั้งยังช่วยเกษตรกรชาวสวนยางพาราได้อีกด้วย

คุณณัฐวี พูดถึงกลุ่มลูกค้าของเขาว่า มีหลากหลาย อาทิ กลุ่มบริษัทเพาะพันธุ์กล้าไม้ กลุ่มผู้ประกอบการจำหน่ายอุปกรณ์ทางการเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มบุคคลทั่วไปที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้เจ้าตัววางแผนผลิตออกจำหน่ายในเดือนเมษายนนี้ เนื่องจากงานวิจัยถุงเพาะชำจากยางพาราเพิ่งวิจัยสำเร็จได้ไม่นาน จึงต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ โดยในช่วง 1-2 ปีแรก จะวางแผนในการจ้างผลิตจากโรงงานผลิตถุงมือจากยางพารา

สำหรับแผนการตลาด หนุ่มเจ้าของถุงเพาะชำจากยางพาราบอกว่า ด้วยความที่เป็นสินค้าใหม่เจ้าแรกและเจ้าเดียว ซึ่งยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายมากนัก จึงต้องอาศัยช่องทางการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานต่างๆ และจากการได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์เกษตรกรเพาะพันธุ์กล้าไม้ในพื้นที่หลายจังหวัดทางภาคใต้ และงานเกษตรภาคใต้ที่รวมผู้ประกอบการหลายจังหวัดในประเทศไทย พบว่าเกษตรกรมีความสนใจที่จะทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ถุงเพาะชำจากยางพารา รวมถึงการนำเสนอผลงานนวัตกรรมที่ประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับผลตอบรับอย่างดีมาก ซึ่งสรุปผลได้ว่า ถุงเพาะชำจากยางพาราไม่เพียงแต่เป็นที่ต้องการภายในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถเปิดตลาดในต่างประเทศได้

จากข้อมูลดังกล่าว จึงได้จัดทำการตลาดทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น รวมถึงการออกบู๊ธเจรจาคู่ค้าระหว่างประเทศ เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

เริ่มต้นศูนย์บาท แต่มีไอเดีย

ว่าไปแล้วแม้จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความโดดเด่น แต่ความยากที่จะทำให้ผู้คนรู้จักก็ยังเป็นโจทย์ที่ท้าทาย ซึ่งเขาเองยอมรับว่าการเปิดตลาดช่วงแรกถือเป็นงานที่หนักมาก ที่จะทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับในท้องตลาด แต่ก็ได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทในศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ มอ. รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ที่มีฐานลูกค้ากลุ่มเดียวกันช่วยประชาสัมพันธ์สินค้า และส่งสินค้าไปทดสอบกับกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย ซึ่งในตอนนี้มีกลุ่มลูกค้าติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่องเพื่อซื้อสินค้าถุงเพาะชำจากยางพารา

คุณณัฐวี ให้ข้อมูลด้วยว่า จากการสืบค้นข้อมูล ยืนยันได้ว่าเป็นถุงเพาะชำรายแรกของไทย และน่าจะเป็นรายแรกในโลกก็ได้ เพราะค้นไม่เจอว่ามีที่ไหนทำบ้าง ซึ่งถุงที่ทำตอนนี้มีเฉพาะถุงที่ใช้สำหรับถาดเพาะชำ กำลังพัฒนาไปผลิตขนาดต่างๆ ด้วย โดยถุงที่พัฒนาขึ้นเหมาะสำหรับพืชที่มีอายุมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป หรือพืชไม้ดอกไม้ประดับ

ในฐานะเด็กจบใหม่ที่มาเป็นผู้ประกอบการเลยนั้น คุณณัฐวี พูดถึงปัญหาอุปสรรคว่า เป็นเรื่องยากมากที่เด็กจบใหม่ตัดสินใจมาทำธุรกิจของตัวเองด้วยเงินทุนศูนย์บาท (0 บาท) ซึ่งต้องเจอกับคำถามมากมายถึงการไม่ไปทำงานตามสายอาชีพที่เรียนจบมา ต้องอดทนแบกรับความเสี่ยงเยอะมาก เนื่องจากทางบ้านไม่ได้มีฐานะร่ำรวย และยังมีภาระต้องส่งน้องสาวเรียนต่อในระดับชั้นมหาวิทยาลัย บวกกับหนี้สินเยอะมาก เนื่องจากพ่อที่เป็นเสาหลักเสียชีวิต แต่ที่กล้าติดสินใจลงมือทำเพราะมองเห็นโอกาสจากการได้เรียนรู้ว่าถ้ามีแค่ไอเดียก็สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ โดยเริ่มส่งผลงานประกวดมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อหาช่องทางหาเงินทุน จนปัจจุบันสามารถทำไอเดียที่คิดไว้ให้เป็นจริงได้ด้วยเงินเริ่มต้นศูนย์บาท (0 บาท)

“ผมมองว่า ธุรกิจถุงเพาะชำเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผมสามารถเข้ามาแย่งส่วนแบ่งในตลาดนี้ได้อย่างแน่นอน เพราะเราตั้งใจทำสินค้าที่มีคุณภาพที่สามารถลดต้นทุน ลดระยะเวลาในการทำงาน ช่วยเหลือชาวสวนยาง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สิ่งสำคัญคือ หาที่ของเราให้เจอว่าเราเหมาะกับกลุ่มลูกค้าแบบไหน เท่านี้ก็คิดว่าธุรกิจสามารถเติบโตได้”

ผู้สนใจ “ถุงเพาะชำจากยางพารา” ย่อยสลายได้ แบรนด์ “Greensery” ติดต่อ คุณณัฐวี บัวแก้ว ได้ที่ โทร. 064-497-7095 ไลน์ : nutnattawee และเพจเฟซบุ๊ก : @GreenseryThailand