กาแฟโรบัสต้า กาแฟต้นใหม่ ใบ-ดอก สีม่วง : นวัตกรรมเกษตรของสวนศิริรัศมี ที่เมืองลำปาง

ที่ตำบลบ้านเสด็จ จังหวัดลำปาง สามีภรรยามีภูมิลำเนาเดิมอยู่คนละจังหวัด แต่ไปตั้งหลักปักฐานปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าที่จังหวัดลำปาง จากเมล็ดพันธุ์ทดลองเพาะ ปลูกด้วยตนเองอยู่หลายครั้ง จนในที่สุดประสบผลสำเร็จ และได้สร้างนวัตกรรมเกษตร นำเมล็ดพันธุ์โรบัสต้าสายพันธุ์ดีและสายพันธุ์พื้นเมือง มาเพาะพันธุ์จนได้กาแฟโรบัสต้าต้นใหม่ ที่ผิดแปลกไปจากต้นกาแฟโรบัสต้าโดยทั่วไป

คุณทรงวุธ มีศิริ อายุ 49 ปี ภรรยา คุณนุชจรี รัศมี อายุ 35 ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่เลขที่ 733 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง โทร. (098) 975-7132 เจ้าของสวน “ศิริรัศมี” มาจากชื่อสกุล มีศิริ และ รัศมี

คุณทรงวุธ มีศิริ และ คุณนุชจรี รัศมี

เป็นมาอย่างไร จึงมาปลูกกาแฟโรบัสต้าที่ลำปาง
ผู้เขียนตั้งคำถาม

คุณทรงวุธ ลำดับเหตุการณ์ย้อนอดีตให้ฟังว่า ตนเองมีถิ่นกำเนิดอยู่จังหวัดชลบุรี ส่วนภรรยาเป็นชาวจังหวัดชุมพร เดิมมีอาชีพรับเหมา รายได้ดีพอมีเงินเก็บ แต่งานหนัก ยังไม่มีที่ดิน คิดอยากทำการเกษตร แต่ที่ดินในแถบนั้นถูกซื้อไปเพื่อทำอุตสาหกรรม ประกอบอาชีพนี้มา 10 ปี มีปัญหาสุขภาพเป็นกระดูกทับเส้น เดินไม่ได้ 7 เดือน ใช้เงินที่เก็บออมไว้มารักษาตัวจนแทบจะไม่เหลือ

มีอยู่ปีหนึ่งไปเที่ยวบ้านเพื่อนที่จังหวัดพะเยา แม้ร่างกายยังเดินไม่ได้ก็อยากไป ถึงจังหวัดลำปาง เห็นเขาปลูกสับปะรดกันต้นงามดี ดินคงจะดี ภรรยาลงจากรถไปซื้อสับปะรดแล้วสอบถามคนแถวนี้ว่า ที่ดินบริเวณนี้เขาขายกันแพงไหม แต่ก็ยังไม่ได้คิดที่จะซื้อ และเมื่อได้กลับไปบ้านเพียงไม่นาน ก็ได้รับโทรศัพท์ บอกว่าจะขายที่ดิน จึงตกลงซื้อไว้ และย้ายบ้านมาตั้งหลัก ตั้งใจทำเกษตรที่จังหวัดลำปาง ทั้ง 2 คน พากันไปดูงาน สอบถามข้อมูลการปลูกกาแฟ ณ สถานีทดลองเกษตรที่สูงวาวี (ดอยวาวี) จังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ได้ให้คำชี้แจง และแนะนำอย่างดีว่า ทางภาคเหนือบนดอยสูงปลูกได้ดีคือกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ส่วนพื้นราบอากาศค่อนข้างร้อนและแล้ง ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าจะดีกว่า

ต้นนี้ถ่ายเดือนเมษายน ต้นไม่โทรม

เริ่มนับ 1 ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า

คุณทรงวุธ เล่าต่อว่า ตนเองและภรรยาจึงเดินทางไปที่บ้านพ่อตาที่จังหวัดชุมพร ซึ่งท่านมีอาชีพปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้ามาเป็นสิบๆ ปี นำเมล็ดกาแฟมาเพาะไว้ที่จังหวัดลำปาง แต่เมล็ดไม่งอก จึงลงไปจังหวัดชุมพรอีกครั้ง ทำการเพาะเมล็ดที่นั่น แล้วนำต้นกล้าขึ้นมาปลูกที่จังหวัดลำปาง โดยช่วงแรกก็ยังเพาะเมล็ดไปด้วย หวังว่าเมล็ดจะงอกให้ดูสักจำนวนหนึ่ง ใช้ความพยายามจนถึงปีที่ 3 จึงประสบความสำเร็จ

นำต้นกล้าลงไปปลูก ในช่วงแรกทดลองปลูก 200 ต้น เพื่อหาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ ที่ยังสงสัย เมื่อต้นกาแฟอายุได้ 3 ปี ก็ให้ผลผลิต ได้น้ำหนักหลังนำไปตากแดด 258 กิโลกรัม และเมื่อนำไปสีเป็นสารเขียวเมล็ดกาแฟ ชั่งได้ 127 กิโลกรัม หลังจากสีแล้วนำเมล็ดสารส่วนหนึ่งไปตรวจสอบความเข้มข้นของสารกาแฟ พบว่ามีความเข้มข้นมาก เป็นที่ยอมรับของนักดื่มกาแฟ

ได้สอบถามและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้ปลูกกาแฟทางภาคใต้ สรุปว่าที่ตนเองผลิตกาแฟโรบัสต้าได้น้ำหนักดีกว่า คาดว่าปัจจัยที่สำคัญคงเป็นสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ หรือ ดิน น้ำ อากาศ เพราะทางภาคใต้มีปริมาณน้ำเยอะ น้ำฝนก็ตกลงมามาก แต่ที่ปลูกในไร่กาแฟแห่งนี้ ต้นจะโตช้าไปหน่อย แต่ทนแดด เมล็ดได้น้ำหนักดี และสารกาแฟมีรสเข้มข้น และที่สำคัญดอกกาแฟที่ได้ นำไปทำเป็นชาดอกกาแฟ ส่วนทางภาคใต้ทำไม่ได้ เหตุจากฝนชุก ทำให้ดอกร่วง นอกจากชาดอกกาแฟแล้ว คุณนุชจรี ได้กล่าวเสริมว่าได้นำดอกกาแฟไปทดลองผลิตสบู่ดอกกาแฟด้วย ผลิตได้แล้ว แต่แบ่งปันกันใช้ในหมู่สมาชิก ยังไม่ได้ประชาสัมพันธ์ออกสู่ตลาด

นำมาทำชาดอกกาแฟ
สบู่กาแฟและสบู่ดอกกาแฟ

ขยายพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า ร่วมกับพืชชนิดอื่น

คุณทรงวุธ อธิบายว่า ด้วยสภาพของดินในบริเวณนั้น ได้เคยผ่านการปลูกสับปะรดมาก่อน เป็นดินที่ผ่านการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีมามาก ดินมีลักษณะเป็นสีเทา หน้าดินมีสภาพแข็ง มีทรายและหินปะปนอยู่ ต้องปรับปรุง ปรับสภาพดินอยู่นาน แล้วจึงนำต้นกล้ากาแฟสายพันธุ์โรบัสต้าลงปลูก 1,500 ต้น บนเนื้อที่ 10 ไร่

สภาพทั่วไปของแปลงปลูกกาแฟ

“ไม่ได้ปลูกตรงตามหลักเกณฑ์อะไร ผมดูจากสภาพพื้นที่เป็นหลัก ใช้ระยะความห่างระหว่างต้น 2.5 เมตร x 3 เมตร ระหว่างแถวของต้นกาแฟ ผมทดลองปลูกพืชล้มลุก และพืชยืนต้นจำนวน 30 ชนิด เพื่อจะดูว่าพื้นดินบริเวณนี้เหมาะกับพืชชนิดใดอีก เพื่อจะใช้เป็นพืชเสริม ขายก็ได้ เป็นที่ต้องการของตลาด เมื่อเวลาผ่านไป มีพืชเพียง 10 ชนิดเท่านั้น ที่คงไว้ ตอบโจทย์ลักษณะสภาพดินได้ ได้แก่ สะตอ มะพร้าว น้อยหน่า หมาก มะกรูดตัดใบ ส้ม มะละกอ ตะไคร้ กล้วย มะม่วงหิมพานต์” คุณทรงวุธ เล่า

ปลูกกาแฟโรบัสต้า ผสมผสานกับพืชอื่น

การดูแลต้นกาแฟโรบัสต้า คุณทรงวุธ บอกว่า หลังจากปลูกต้นกาแฟโรบัสต้าแล้ว ก็ดูแลไปตามปกติ

น้ำ นอกจากน้ำฝน ก็มีน้ำจากสระ หน้าแล้งขาดน้ำก็ใช้ระบบน้ำหยด ผลิตอุปกรณ์จากวัสดุเหลือใช้

ระบบน้ำหยด

ปุ๋ย จะให้เฉพาะปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักจากขี้ไก่ผสมแกลบ โรยบางๆ เพื่อป้องกันแสงแดดเป็นหลัก เหตุที่ไม่ใช้ฟางข้าวคลุมโคนต้น เพราะฟางข้าวเป็นสิ่งที่หายากในพื้นที่นี้

การกำจัดวัชพืช นอกจากการตัดวัชพืชให้สั้นแล้ว จะใช้น้ำหมักชีวภาพผสมเกลือ น้ำยาล้างจาน ฉีดพ่นที่ต้นวัชพืชช่วงที่แดดจัดๆ ฉีดพ่นได้ทุกฤดูกาล

คุณทรงวุธ ให้ความสำคัญกับการตัดแต่งกิ่งต้นกาแฟเป็นอย่างมาก ปกติต้นกาแฟที่มีอายุ 3 ปี จะตัดแต่งกิ่งให้เหลือ 3-5 กิ่ง ถ้าบริเวณพื้นที่นั้นเป็นดินที่สมบูรณ์ แต่ถ้าบริเวณใดดินไม่ดีจะไว้กิ่ง 3-4 กิ่ง เท่านั้น กอปรกับในพื้นที่ตรงนี้ดินมีปัญหา น้ำก็มีน้อย จึงต้องไว้กิ่งเพียง 4 กิ่ง เพราะฤดูร้อนยาวนานกว่าทางภาคใต้ ระยะเวลาตัดแต่งกิ่งที่นี่ปฏิบัติการ 2 เดือน ต่อครั้ง เพื่อจะทำให้ลำต้นนำน้ำไปเลี้ยงยังส่วนต่างๆ ได้ดี จะได้กิ่งก้านที่ยาว ติดผลดี ต้นไม่โทรม แม้ใบร่วงต้นก็ยังดำรงชีวิตอยู่ได้

แต่ในอนาคต เมื่อต้นกาแฟโรบัสต้า ณ ไร่แห่งนี้ อายุได้ 8 ปี คุณทรงวุธ บอกว่า จะต้องตัดแต่งลำต้นกิ่งที่สูง กิ่งที่โน้มลงไม่ได้ คือสูงเกินไป และจะนำเอาลำต้น กิ่ง ไปเผาถ่านต่อไป

ผลผลิตกาแฟโรบัสต้า

เมื่อถามถึงผลผลิตกาแฟโรบัสต้า คุณทรงวุธ ตอบว่า ต้นกาแฟที่ไร่ของตน จะออกดอกปีละ 4 ครั้ง คือช่วงเดือนพฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ กล่าวคือ จะได้ผลผลิต 4 รุ่น โดยจะเริ่มเก็บผลสดได้ตั้งแต่เดือนกันยายนเรื่อยไปจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือมีนาคม แต่ละรุ่นจะใช้เวลาตั้งแต่ต้นกาแฟผลิดอก จนเก็บผลสด ที่เป็นผลเชอร์รี่ 10-11 เดือน ผลผลิตที่ดีที่สุด เก็บผลในเดือนธันวาคม ต้นกาแฟโรบัสต้าที่มีอายุ 3 ปี จะให้ผลผลิตเป็นผลสด 7-10 กิโลกรัม ต่อต้น โดยในรุ่นแรกคุณทรงวุธบอกว่า จะรูดผลทิ้งทั้งหมด เนื่องจากผลกาแฟสดรุ่นแรก จะให้ผลผลิตน้อย ต้องการให้ต้นกาแฟมีอายุที่ยืนยาว ถ้าไม่รูดผลทิ้ง จะทำให้ไม่ได้คุณภาพ จะได้ผลกาแฟเป็นผลครึ่งเมล็ด เมล็ดเล็ก และมีจุดสีดำข้างในเมล็ด

ผลดก ข้อถี่ หลุดง่าย

เมื่อเก็บผลสดที่เป็นผลเชอร์รี่แล้ว คุณทรงวุธ บอกว่า จะนำผลนั้นไปตากแดดอย่างน้อย 14-15 วัน หรือ 10 แดด ขึ้นไป แล้วจึงนำไปสีเป็นสารเขียวเมล็ดกาแฟ จากนั้นบรรจุเมล็ดสารใส่กระสอบป่าน เนื่องจากกระสอบป่านสามารถระบายอากาศได้ดี

คุณทรงวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า เปลือกหรือกากของผลกาแฟที่ได้จากการสี จะถูกนำกลับมาผลิตปุ๋ยหมัก เมื่อถึงฤดูฝนก็จะนำน้ำหมักจุลินทรีย์มารดบนกองปุ๋ย แล้วนำผ้าใบคลุมไว้ เมื่อได้เป็นปุ๋ยหมัก ก็จะนำไปใช้ในไร่กาแฟต่อไป กากกาแฟมีธาตุอาหารไนโตรเจนสูง เหมาะกับพืชที่ต้องการสร้างใบ

สร้างเครือข่ายผู้ผลิต

และตลาดกาแฟสวนศิริรัศมี

คุณทรงวุธ บอกว่า นอกจากตนเองจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟด้วยตนเองแล้ว ยังเพาะเมล็ดพันธุ์กาแฟโรบัสต้าบรรจุถุงแจกจ่ายให้แก่เพื่อนๆ เกษตรกรเครือข่ายผู้ปลูกกาแฟ และเป็นผู้รวบรวมผลดิบกาแฟจากสมาชิกมาตากแห้ง แล้วสีเป็นสารเขียวเมล็ดกาแฟส่งให้โรงงานอีกทีหนึ่ง

“แต่ปัญหาก็มี เป็นปัญหาการรวบรวมผลกาแฟ มักพบสิ่งเจือปน เกษตรกรไม่เก็บผลกาแฟเชอร์รี่ตามที่ตกลงกันไว้ หรือก็มีปัญหาที่เกษตรกรปลูกกาแฟหลายสายพันธุ์ เมื่อถึงเวลาเก็บผลสด ก็มักจะเก็บปะปนกัน ไม่แยก ทำให้ยากต่อการควบคุมมาตรฐานเมล็ดกาแฟ แนวทางแก้ไขของผม ก็คือ อาจจะให้แต่ละกลุ่มควบคุมดูแลกันเอง ช่วยกันกลั่นกรองว่าผลกาแฟที่เก็บจากต้น เก็บขณะที่ผลมีสีเหลือง-ส้ม-แดง หรือ แดงม่วง เพื่อคุณภาพความเชื่อใจของผู้ซื้อ” คุณทรงวุธ เล่า

ผลเชอร์รี่พร้อมเก็บไปตากแดด
.ผลเชอร์รี่นำมาตากแดดไม่ต่ำกว่า 10 แดด

คุณทรงวุธ ยังเปิดเผยอีกว่า สารกาแฟที่ถูกบรรจุในกระสอบป่านจะนำไปขายยังจุดรับซื้อที่เป็นตัวแทนของ บริษัท เนสท์เล่ จำกัด ซึ่งต้องผ่านการกลั่นกรองของจุดตัวแทนนี้ก่อนส่งเข้าโรงงาน สำหรับต้นทุนการผลิตกาแฟโรบัสต้านั้น จะอยู่ที่กิโลกรัมละ 6 บาท หากขายได้ตามราคา ณ จุดรับซื้อ จะมีกำไรประมาณร้อยละ 40 ของต้นทุนการผลิต ซึ่งดีกว่าการปลูกพืชชนิดอื่นอย่างแน่นอน

แสดงหลักฐานยืนยันว่าปลูกโรบัสต้าพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร

นวัตกรรมเกษตรจากการพัฒนาสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้า

เป็นที่น่ายินดีสำหรับสวนศิริรัศมี และ คุณทรงวุธ ในการสร้างนวัตกรรมเกษตร พัฒนาสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้า จนได้ต้นที่มีลักษณะแตกต่างจากต้นกาแฟโรบัสต้าโดยทั่วไป ที่เกิดจากการใช้ความรู้ ความคิด ประสบการณ์ ในการเพาะเมล็ดพันธุ์กาแฟ

คุณทรงวุธ มีศิริ กับต้นกาแฟสีม่วง
กาแฟโรบัสต้าต้นใหม่สีชมพูอมม่วง

คุณทรงวุธ เล่าให้ฟังว่า ได้นำเมล็ดพันธุ์กาแฟพันธุ์ดีของกรมวิชาการเกษตร มาปลูกสลับกับพันธุ์พื้นเมืองชุมพร เมื่อหลายปีก่อน เมื่อได้ผลผลิต 3-4 ปี แล้วจึงนำเมล็ดพันธุ์ที่ดีไปเพาะและปลูก ซึ่งต้องคัดเลือกจากต้นที่ผลดก ข้อถี่ หลุดง่าย ซึ่งต้นพันธุ์ที่ได้มาใหม่นี้มีลักษณะเด่นคือ ใบมีสีม่วง ดอกสีชมพูอมม่วง มีกลิ่นหอมมาก ให้ผลดก มีข้อถี่ หลุดง่าย ทนแดด แมลงไม่รบกวน และเมื่อนำเมล็ดไปปลูกตามพื้นที่อื่น ลักษณะใบ ดอก สีของใบและดอก ก็เป็นเช่นนั้น จึงได้ข้อสรุปว่าคงได้ลักษณะต้นพันธุ์ที่นิ่งแล้ว

ดอกสวย สีชมพูอมม่วง

“ผมยินดีหากมีการตรวจสอบกายภาพของต้น ใบ ดอกกาแฟต้นใหม่ แล้วนำไปขยายสายพันธุ์แจกจ่ายให้แก่เกษตรกรทั่วๆ ไป ผมก็จะดีใจมากครับ เพียงแต่ผมยังไม่รู้จะเดินเข้าไปหาหน่วยงานใด ผมเป็นเกษตรกรตัวเล็กๆ ที่เสียงไม่ดัง ไม่เคยเข้าไปสัมพันธ์กับหน่วยราชการด้านการเกษตรครับ” คุณทรงวุธ แจ้งความประสงค์

คุณทรงวุธ ต้องการให้ทางราชการตรวจสอบ ไม่ว่าจะออกหนังสือรับรองพันธุ์พืช หรือจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ เพื่อจะได้รับการคุ้มครองปกป้องทรัพยากรพันธุ์พืชของประเทศ