ใช้ปุ๋ยหมักกับแปลงปลูกพริกไทย เกษตรกรทำเองได้ ลดต้นทุนการผลิตเกินครึ่ง

นายดำรงฤทธิ์ หลอดคำ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง เปิดเผยว่า พริกไทยเป็นพืชที่สำคัญต่อเศรษฐกิจ มีการบริโภคและส่งออกของประเทศไทยมาช้านาน และเป็นอีกพืชเศรษฐกิจที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดจันทบุรี นอกเหนือจากผลไม้ที่ขึ้นชื่อชนิดอื่นๆ อาทิ ทุเรียน มังคุด ลองกอง และสละ เป็นต้น

ประเทศไทยมีการปลูกพริกไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2300 โดยปลูกทางภาคใต้และแพร่กระจายมาทางภาคตะวันออก เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึงกัน ส่วนแหล่งปลูกแหล่งใหญ่ในปัจจุบันจะอยู่ที่จังหวัดจันทบุรี มีพื้นที่ปลูกไม่น้อยกว่า 6,757 ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ 2,889 ตัน คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 387 ล้านบาท ต่อปี ที่ผ่านมาเกษตรกรที่ปลูกพริกไทยมักประสบปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืช ทำให้ผลผลิตลดลงทั้งปริมาณและคุณภาพ สาเหตุเกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจในการจัดการโรคและแมลงศัตรูพืช จึงทำให้ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างที่ควรจะเป็น

“สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการสนองงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อส่งเสริมด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรได้จัดทำแปลงสาธิตการปลูกพริกไทย โดยการใช้สารชีวภัณฑ์ในการกำจัดแมลงศัตรูพืช ตามแนวทางการให้ความรู้ในการทำการเพาะปลูกพืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ ตลอดถึงแนวทางการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี และได้ขยายผลสู่การปฏิบัติใช้ของเกษตรกรที่ปลูกพริกไทยในพื้นที่ใกล้เคียงมาอย่างต่อเนื่อง เกษตรกรให้ความสนใจและสามารถแก้ไขปัญหาโรคในพริกไทยได้อย่างน่าพึงพอใจ” นายดำรงฤทธิ์ กล่าว

จากการลงพื้นที่แปลงปลูกพริกไทยของเกษตรหมู่บ้านรอบศูนย์และหมู่บ้านขยายผลของศูนย์ นำโดย นางอาภาพร ช่างถม นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำงานส่งเสริมการเกษตร ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี  พบว่าปัญหาเรื่องโรคพืชและแมลงศัตรูพืชเข้าทำลาย ส่วนใหญ่จะเป็นโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราทำให้มีอาการใบร่วงให้ผลผลิตต่ำและไม่มีคุณภาพนั้น ได้ให้เกษตรกรนำสารชีวภัณฑ์คือเชื้อราไตรโคเดอร์มามาใช้ซึ่งประสบผลสำเร็จสามารถแก้ไขปัญหาได้ และเพื่อให้เกษตรกรมีผลกำไรเพิ่มขึ้นได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรร่วมกันผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เองโดยเกษตรกรจะรวมกลุ่มกันผลิตปุ๋ยหมักแล้วจำหน่ายให้กับสมาชิกนำไปใช้ ส่วนรายได้จากส่วนนี้ก็จะได้เป็นทุนในการผลิตปุ๋ยหมักรอบต่อๆ ไป ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีปุ๋ยหมักไว้ใช้อย่างต่อเนื่อง เป็นการประหยัดและลดต้นทุนการผลิตได้มากขึ้น

นายบุญชัย กิ่งมณี เกษตรกร บ้านสองห้อง ตำบลรำพัน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี หนึ่งในเกษตรกรขยายผลฯ กล่าวว่า ตนเองมีพื้นที่ 14 ไร่ ปลูกพริกไทยประมาณไร่ครึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2540 สามารถเก็บผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปี พ.ศ. 2557-2558 มีโรคแมลงเข้ามาทำลายต้นพริกไทย มีโรครากเน่า โคนเน่า ก็ใช้สารเคมีป้องกันโรค ต่อมาสภาพดินก็เสื่อมและมีโรคเพิ่มมากขึ้น

“มีนักวิชาการเกษตร เข้ามาแนะนำให้ใช้ปุ๋ยหมัก หลังใช้พบว่าดีมาก แถมมีเงินเหลือกว่าใช้ปุ๋ยเคมีมาก เปรียบเทียบถ้าใช้ปุ๋ยเคมีมันก็มีส่วนดีตรงที่มีน้ำหนักเบาใช้ง่าย แต่มีส่วนทำให้ดินเสีย เปรียบเทียบกับปุ๋ยหมัก ถ้าหากซื้อมาจากบริษัทเอกชนราคาจะสูงนิดหนึ่ง แต่หากทำเองผสมเองราคาจะแตกต่างกันเกินครึ่ง แต่ต้องออกแรงหนักหน่อยเพราะต้องทำเอง สำหรับส่วนผสมของปุ๋ยหมักนั้นเกษตรกรสามารถหาได้ในพื้นที่ของตนเอง ก็มี แกลบดิบ แกลบดำหรือขี้เถ้าแกลบ ขุยมะพร้าว มูลสัตว์ จะเป็นมูลไก่ มูลโคก็ได้ซึ่งจะใช้เป็นหลัก และน้ำหมัก พด.2 เป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ใช้เวลาในการหมักตามสูตรที่กรมพัฒนาที่ดินและกรมส่งเสริมการเกษตรแนะนำ คือประมาณ 45-60 วัน ก็นำไปใช้ได้ สำหรับกลุ่มที่ร่วมกันผลิตปุ๋ยหมักไว้ใช้เอง จะร่วมกันผลิต เมื่อสามารถใช้ได้ก็นำออกจำหน่ายให้กับสมาชิก ราคาอยู่ที่ตันละ 2,760 บาท แต่ถ้าไปซื้อสำเร็จ จะอยู่ที่ 5,000 บาท สรุปแล้วทำเองจะประหยัดได้มาก ซึ่งเงินที่ได้จากการประหยัดนี้ก็คือกำไรจากการผลิตพริกไทยที่เกษตรกรจะได้รับเพิ่มนั้นเอง” นายบุญชัย กล่าว

สำหรับพริกไทยของจังหวัดจันทบุรีนั้นถือว่ามีคุณภาพดีเพราะปลูกในเขตที่เหมาะสมทำให้มีกลิ่นหอมฉุน มีสรรพคุณทางสมุนไพรดี เป็นที่ต้องการของตลาด เมื่ออดีตผู้ที่ทำสวนพริกไทยส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแต้จิ๋ว แหล่งปลูกที่สำคัญจะอยู่ในอำเภอท่าใหม่ ปัจจุบันพริกไทยที่นิยมปลูกมี 2 พันธุ์ คือพันธุ์ซาราวัดหรือมาเลเซีย ซึ่งเหมาะแก่การนำมาผลิตเป็นพริกไทยดำและพริกไทยขาว ส่วนอีกพันธุ์หนึ่งคือพันธุ์ซีลอน เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับเก็บเป็นพริกไทยอ่อนเหมาะใส่อาหารคาวเพื่อการปรุงรสและกลิ่น