มะเขือเทศองุ่นและเมเล่อนญี่ปุ่นสวนอากง ราชบุรี

มะเขือเทศ เป็นพืชพื้นเมืองของอเมริกา ที่คนพื้นเมืองใช้เป็นอาหารมาแต่ดั้งเดิม แต่ก็เข้ามาอยู่ในสังคมอาหารและผลไม้ของไทยมานานแล้ว บางครั้งนำเข้าครัวไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่ขาดไม่ได้เลย เช่น ผัดเปรี้ยวหวาน ส้มตำ บ้างก็นำมาแปรรูปเป็นซอสก็เป็นที่นิยม น้ำมะเขือมีบรรจุกล่องขายกันทั่วทุกแห่งหน บางคนก็นำมารับประทานสดๆ เป็นผลไม้ บ้างก็ใช้ประดับจานอาหารเพื่อความสวยงาม

คุณต้น หรือ คุณพรศักดิ์ ชัยศักดานุกูล เจ้าของสวน

ข้อมูลจาก คุณต้น หรือ คุณพรศักดิ์ ชัยศักดานุกูล จาก อากงฟาร์ม กล่าวไว้ว่า “เมื่อก่อนนั้น ปี พ.ศ. 2525 อากงฟาร์ม เป็นฟาร์มเลี้ยงหมูที่อากงกับคุณพ่อเริ่มต้นทำ มีทั้งหมูพ่อแม่พันธุ์และหมูขุน รวมกันประมาณ 2,000 กว่าตัว กิจการที่ทำก็ดำเนินก้าวหน้าไปด้วยดี แต่เนื่องจากความเจริญและชุมชนอยู่อาศัยที่ขยายเข้ามาใกล้ฟาร์มเข้าทุกที ทำให้มีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมและกลิ่น จึงต้องลดปริมาณหมูที่เลี้ยงลง จนกระทั่งเลิกเลี้ยงไปในที่สุด ในปี พ.ศ. 2558 หลังจากเลี้ยงหมูมายาวนานถึง 33 ปี”

โรงเรือนที่ปลอดภัยต่อแมลง

เริ่มแรกปลูกเมล่อนในโรงเรือน

ก่อนที่จะเลิกเลี้ยงหมู พอดีคุณต้นได้มีโอกาสไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่น ในช่วงจังหวะที่อยู่ฮอกไกโด ได้มีโอกาสชิมเมล่อนฮอกไกโด รู้สึกติดใจในรสชาติ ซึ่งไม่เคยได้กินที่เมืองไทย ในระหว่างการเที่ยวได้เห็นโรงเรือนเล็กๆ อยู่ข้างทางหลายโรงเรือน ไม่มีโอกาสเข้าไปดู ได้แต่ยืนดูรอบนอก แล้วก็จำเอามาดัดแปลงทำเป็นโรงเรือนของเราเอง

ต่อมาในปี 2559 จึงดัดแปลงเล้าหมูให้กลายเป็นโรงเรือนปิดที่มีหลังคาเป็นพลาสติกเพื่อรับแสงแดดตามปกติและสามารถกันฝนได้ ส่วนด้านข้างเป็นตาข่ายที่สามารถกันแมลงได้ โดยไม่คิดว่าจะทำเป็นธุรกิจ เพียงคิดว่าอยากกินเมล่อนที่อร่อยเหมือนกับกินที่ฮอกไกโด จากนั้นได้เข้ากลุ่มเพื่อนคนที่ชอบเมล่อนด้วยกัน ในเฟซบุ๊ก ชื่อ คนรักเมล่อน ได้ความรู้มามากมาย และได้ปรึกษากับอาจารย์เบส ซึ่งทำเมล่อนจนเชี่ยวชาญที่จังหวัดหนองคาย ได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ นอกจากนี้ คุณต้น ยังเดินสายไปตามฟาร์มเมล่อนต่างๆ ในเมืองไทย เพื่อเรียนรู้และทดลองชิมมาแล้วเกือบทั่วทุกสวน เมื่อมั่นใจว่าสามารถทำได้ จึงสั่งเมล็ดพันธุ์เมล่อนมาจากญี่ปุ่นทดลองปลูกดู ครั้งแรกๆ ไม่ประสบผลสำเร็จ เพราะหลังจากชิมแล้วรสชาติยังไม่ถูกใจเหมือนที่ฮอกไกโด จึงเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ไป 4-5 รอบ จนกระทั่งได้สายพันธุ์ที่ถูกใจ และได้ใช้เมล็ดพันธุ์นี้มาตลอดจนถึงปัจจุบัน

ฮอกไกโดฟูยุ

นอกจากสายพันธุ์ที่ใช่แล้ว การจัดการปริมาณน้ำและแร่ธาตุที่พืชต้องการจะต้องเหมาะสมกับสายพันธุ์นั้นด้วย สายพันธุ์ที่สวนอากงใช้มี 2 สายพันธุ์ คือ ฟุระโนะ เปลือกตาข่ายสีเขียวเนื้อส้ม ฮอกไกโดฟูยุ เปลือกตาข่ายสีทองเนื้อสีเขียว แต่เป็นที่น่าเสียดายเนื่องจากภาวะอากาศของบ้านเราหนาวไม่เพียงพอ จึงปลูกได้เฉพาะในฤดูหนาวเท่านั้น และแต่ละปีจะปลูกได้เพียงครั้งเดียว เพราะจะใช้เวลาถึงสองเดือนครึ่งต่อรอบการผลิต ผลผลิตที่ได้มีรสชาติใกล้เคียงกับของฮอกไกโดมาก แต่ผลผลิตที่ได้ยังมีจำนวนไม่มากเหมือนที่ญี่ปุ่น

คุณต้น บอกว่า เมล่อนที่คนไทยชอบจะมีความกรอบ แต่ของญี่ปุ่นจะไม่กรอบมาก แต่จะละลายในปาก ความหวานหอมจะติดลิ้นอวลอยู่ในปากอยู่หลังจากกลืนไปแล้ว ความหวานที่ดีของเมล่อนจะต้องหวานใกล้เคียงกันทั้งลูก แต่ถ้าความหวานในลูกแตกต่างกัน เช่น หัวท้ายหวานน้อยกว่าช่วงกลางผล ก็จะถือว่าไม่ได้มาตรฐาน ปลูกครั้งแรกเอาไว้กินในบ้าน แจกเพื่อนฝูงบ้าง แต่เมื่อเพื่อนได้ชิมแล้วก็ติดใจในรสชาติ จึงสั่งซื้อไปฝากคนที่เคารพนับถือหรือผู้หลักผู้ใหญ่ จึงได้คิดปลูกเป็นการค้า ปัจจุบัน สวนอากงมีเมล่อนขายเฉพาะในฤดูหนาว ราคาขาย ผลละ 500-1,200 บาททีเดียว

เมล่อนฟุระโนะ

หาพืชปลูกตอนโรงเรือนว่าง

ในเมื่อเมล่อนปลูกได้เฉพาะในฤดูหนาว แล้วโรงเรือนก็ถูกปล่อยว่างไว้ จึงทำให้คุณต้นต้องคิดต่อว่าจะปลูกอะไรได้อีกบ้าง ก็มาจบที่มะเขือเทศ เนื่องจากคุณต้นคิดว่าทั้งโลกบริโภคมะเขือเทศเป็นอันดับหนึ่ง และมะเขือเทศมีหลายร้อยสายพันธุ์ แต่ละพันธุ์ก็ใช้ประโยชน์ต่างกัน บ้างกินเป็นผลไม้ ทำซอส ทำน้ำผลไม้ ประกอบอาหารบ้าง แต่ด้วยความที่ตัวเองไม่ได้พิสมัยกับมะเขือเทศมากนัก เนื่องจากไม่ชอบกลิ่นและความนิ่มของไส้มะเขือเทศที่คนไม่ชอบมะเขือเทศรังเกียจ จึงต้องหามะเขือเทศสายพันธุ์ที่ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ จึงเริ่มศึกษาสายพันธุ์ในกลุ่มที่รู้จักก็ยังไม่ถูกใจ จนกระทั่งได้เมล็ดพันธุ์จากเพื่อนที่อเมริกา แต่เมล็ดพันธุ์ที่ใช้มีราคาถึงเมล็ดละ 50 บาท ซึ่งมีราคาแพงมาก จึงจำเป็นต้องดูแลการปลูกอย่างพิถีพิถันตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว

ลูกเขียวยังไม่สุก

วิธีการปลูกมะเขือเทศองุ่น

สวนอากง จะใช้วิธีการเพาะเมล็ดมะเขือเทศองุ่นด้วยการนำเมล็ดมาวางไว้บนทิชชูที่พรมน้ำ แล้ววางเมล็ดลงบนทิชชูที่วางในกล่องทึบแสง เมื่อเรียงเมล็ดเรียบร้อยแล้ว ก็จะฉีดพ่นฝอยด้วยฟ็อกกี้อีกครั้ง แล้วเทน้ำในกล่องออกให้หมด นำไปไว้ในที่มืด เป็นเวลา 24 ชั่วโมง ก็จะนำมาใส่ถาดเพาะ โดยใช้พีชมอสส์ หลังจากนั้นรดน้ำด้วยฟ็อกกี้เช้าเย็น โดยระวังไม่ให้วัสดุปลูกแฉะ นำมาวางในโรงเรือนที่ไม่โดนฝนและมีแสงแดดรำไร ใช้เวลาประมาณ 14-15 วัน ต้นมะเขือเทศจะมีความสูงประมาณ 4-5 นิ้ว ก็สามารถนำมาปลูกในโรงเรือนได้แล้ว

แดงน่ากิน
รูปทรงหยดน้ำ

โรงเรือนของสวนอากงจะมีหลังคาพลาสติกกันน้ำและตาข่ายกันแมลงรอบข้าง ส่วนในโรงเรือนจะเป็นพื้น 3 ระดับเพื่อให้เหมาะสมกับการระบายน้ำและการจัดการตามภาพที่เห็น (หน้า 34) โดยครั้งแรกจะใช้กระถางพลาสติกแต่ต่อมาเห็นว่าจังหวัดราชบุรีมีกระถางมังกรเป็นผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น จึงเปลี่ยนมาใช้กระถางมังกรแทน เพราะจะลดการใช้พลาสติกได้อีกด้วย

นอกจากนี้ กระถางมังกรยังใช้งานได้นานกว่า เทแกลบดำใส่กระถางเป็นวัสดุปลูก ซึ่งทางสวนอากงใช้เพียงอย่างเดียวเพราะเห็นว่าเป็นวัสดุที่ผ่านความร้อนมาเชื้อโรคที่ติดมาจึงไม่มี ส่วนธาตุอาหารทางสวนฯ ผสมมากับน้ำ ซึ่งรดทุกวันอยู่แล้ว เมื่อเทแกลบใส่กระถางก็จะเปิดน้ำเปล่าใส่น้ำให้เต็มจนล้นออกมา วันละหนึ่งรอบ ทำอย่างนี้อยู่ 3-4 ครั้ง ก็พร้อมที่จะปลูก ในช่วงหน้าร้อนถ้าจะพรางแสงตอนปลูก และเลือกการปลูกต้นกล้าในตอนเย็น เพราะแสงแดดไม่ร้อนมาก

ผลผลิตดกมาก
ผลผลิตกำลังเต็มที่

สำหรับโรงเรือนของสวนอากง จะมี 3 โรงเรือน โรงใหญ่ขนาดความกว้าง 11 เมตร ยาว 40 เมตร 1 โรง และโรงเรือนเล็ก 2 โรง มีขนาดกว้าง 11 เมตร ยาว 24 เมตร โรงใหญ่จะวางกระถางมังกรได้ จำนวน 500 กระถาง ปลูกกระถางละ 2 ต้น ในหนึ่งโรงเรือนจึงจะได้ 1,000 ต้น เมื่อต้นมะเขือเทศตั้งตัวได้ก็จะเริ่มให้ปุ๋ยเคมีผ่านทางน้ำ โดยมากน้อยตามขนาดต้น แต่ให้เพียงเจือจางทุกวัน เช้า กลางวัน เย็น ส่วนหน้าฝนอาจให้เพียงบางเวลา เพราะอากาศชื้นเพียงพอ ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ถึง 2 เดือนครึ่ง ก็จะเริ่มเก็บผลได้ เก็บได้ 6 สัปดาห์ ก็จะหยุดเก็บเนื่องจากผลผลิตมีน้อยลง โดยจะรื้อต้นและวัสดุปลูกออกจากโรงเรือนทั้งหมด ซึ่งถ้าเป็นแปลงปลูกมะเขือเทศอื่นจะบำรุงต้นเพื่อรอผลผลิตรุ่นสอง แต่ทางสวนอากงเลือกที่จะหยุดการปลูก เนื่องจากศัตรูพืชและโรคพืชเริ่มเข้ามารบกวน โดยเลือกปลูกใหม่ดีกว่าการประคบประหงมต้นอีกครั้ง

เมื่อขนกระถางออกหมด ก็จะล้างทำความสะอาดโรงเรือนทั้งหมด ใช้เวลาไม่เกิน 3 วัน ก็จะฉีดยาฆ่าเชื้อโรคและพักโรงเรือนไว้ 7 วัน หลังจากนั้น ก็จะนำกระถางและดินปลูกเข้าในโรงเรือนและนำต้นกล้าที่เพาะไว้มาปลูกใหม่หมุนเวียนแบบนี้เรื่อยๆ

 

ผลผลิตของสวนอากง
ขายในห้างใหญ่

รสชาติของมะเขือเทศสายพันธุ์นี้จะมีกลิ่นน้อย และไม่มีเมล็ด เนื้อไม่เละ หวานติดเปรี้ยว ต่างกับมะเขือเทศทั่วไปที่มีกลิ่นไส้ในเละ มะเขือเทศองุ่นจะขายอยู่หน้าเพจ อากงฟาร์ม และที่กรูเมต์มาร์เก็ต ในสยามพารากอน เอ็มควอเทียร์ และ เอ็มโพเรียม 3 สาขา ราคาขายปลีก แพ็กละ 160 บาท มีน้ำหนัก 400 กรัม หรือกิโลกรัมละ 400 บาท ส่วนในเพจจะมีค่าส่ง กล่องละ 50 บาท 2 กล่องขึ้นไป 100 บาท ผลผลิตมะเขือเทศองุ่นจะเก็บสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ในวันพฤหัสบดี ปัจจุบัน ผลผลิตยังน้อยอยู่ เฉลี่ยประมาณคราวละ 60 กิโลกรัม

สนใจติดต่อ คุณพรศักดิ์ ชัยศักดานุกูล อากงฟาร์ม หมู่ที่ 10 ตำบลดำเนินสะดวก อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ID LINE : @agongfarm FB : อากงฟาร์ม Agong-Farm IG : agongfarm Movile : 094-416-4644