เกษตรกรพิษณุโลก ปรับตัวทำเกษตรเลี้ยงกระบือ เป็นงานเสริมสร้างรายได้หลักแสนต่อปี

จากปัญหาสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน ทำให้หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องเจอกับฤดูแล้งหลายหนหลายคราว จึงทำให้การทำเกษตรกรรมของเกษตรกรไทยในบางช่วงต้องหยุดชะงัก และยิ่งไปกว่านั้นในบางช่วงของการได้ผลผลิตทางการเกษตรมา เมื่อจะจำหน่ายให้ได้ผลกำไรเป็นผลตอบแทน การรับซื้อในช่วงนั้นกลับมีราคาตกต่ำ ส่งผลให้เกษตรกรไม่ได้ผลกำไรมากเท่ากับแรงเหนื่อยที่ทุ่มเทไป และยิ่งเป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรแบบพืชเชิงเดี่ยวด้วยแล้ว บางรายถึงกับขาดทุนและเกิดภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรในปัจจุบันมีการปรับตัวในเรื่องของการทำเกษตร โดยไม่ยึดการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพียงอย่างเดียว แต่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ของตนเองมาเลี้ยงสัตว์และแบ่งพื้นที่มาปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ก็ทำให้เมื่อไม่มีน้ำทำเกษตรอันเกิดจากภัยแล้ง หรือจำหน่ายสินค้าเกษตรได้ราคาตกต่ำ แต่ยังมีปศุสัตว์ที่ทำรายได้ให้อีกหนึ่งช่องทาง

คุณสมจิตร ทาสุข อยู่บ้านเลขที่ 60/2 หมู่ที่ 10 ตำบลทับยายเชียง อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ได้แบ่งพื้นที่ปลูกพืชมาทำปศุสัตว์ด้วยการเลี้ยงกระบือ โดยแบ่งพื้นที่การเลี้ยงอย่างชัดเจนด้วยการทำแปลงปลูกหญ้าอาหารสัตว์เอง และมีพื้นที่สำหรับเดินเล่นและแช่โคลนให้กับกระบือ จึงทำให้กระบือทุกตัวภายในฟาร์มมีสุขภาพที่ดี มีความแข็งแรง เมื่อผลิตลูกกระบือออกมาจึงทำให้เป็นที่ต้องการของลูกค้า สามารถจำหน่ายเกิดเป็นรายได้อีกหนึ่งช่องทางแทนการปลูกพืชอื่นๆ

คุณสมจิตร ทาสุข

 

 สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

การทำเกษตรจึงต้องปรับตัว

คุณสมจิตร เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวมีอาชีพการทำเกษตรสร้างรายได้เป็นหลัก แต่ไม่กี่ปีมานี้การทำเกษตรค่อนข้างมีอุปสรรคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น เกิดภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน และที่เป็นปัญหาสำคัญอีกอย่างคือ ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ จึงทำให้ไม่สามารถแบกรับปัญหาเหล่านั้นไว้ได้ หากยังทำเกษตรแบบเชิงเดี่ยวอยู่ จึงได้มองหาการกระจายรายได้แบบอื่น ด้วยการนำกระบือมาทดลองเลี้ยงเป็นจำนวน 3 ตัว และขยายพันธุ์มาเรื่อยๆ ตั้งแต่ปี 2558 จึงทำให้กระบือมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสามารถผลิตลูกกระบือออกจำหน่ายสู่ตลาดได้มาจนถึงทุกวันนี้

แปลงปลูกหญ้าแพงโกล่า

“พอเราเจอปัญหาต่างๆ มันทำให้เราได้คิดว่า การทำเกษตรไม่สามารถทำอย่างเดียวได้ ต้องมีการผสมผสาน จึงได้มาเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์ โดยหาซื้อกระบือไทยเข้ามาเลี้ยง ทดลองไปก็ประสบผลสำเร็จขยายพันธุ์ และเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้เรื่อยๆ เมื่อคิดว่าทำรายได้ดีให้กับเราได้ จึงได้ทำการเลี้ยงแบบจริงจัง พัฒนาการเลี้ยงให้ครบวงจรมากขึ้น ด้วยการสร้างคอก พื้นที่เดินเล่นแช่โคลน และสิ่งที่สำคัญเลยคือพื้นที่ปลูกหญ้า เราต้องทำรองรับไว้ ก็จะช่วยให้ต้นทุนการเลี้ยงเราถูกลง และไม่ต้องซื้ออาหารสัตว์เหล่านั้นเข้ามา ช่วยให้มีผลกำไรจากการเลี้ยงได้ดี” คุณสมจิตร เล่าถึงความเป็นมาของการได้มาเลี้ยงกระบือ

โรงเรือนเก็บฟาง

การแช่โคลนช่วยให้กระบือ

มีสภาพอารมณ์ที่ดี

หลักการเลี้ยงกระบือให้ประสบผลสำเร็จและได้สายพันธุ์ที่มีคุณภาพนั้น คุณสมจิตร บอกว่า พื้นที่คอกหรือโรงเรือนพักผ่อนค่อนข้างเป็นสิ่งสำคัญ โดยหลังจากกระบือได้เดินเล่นในช่วงเช้าแล้ว เมื่อแสงแดดแก่ยามเที่ยงวันร้อนมากๆ กระบือจะเข้ามานอนเล่นอยู่ในโรงเรือน จากนั้นเมื่อบ่ายเกือบเย็นก็ปล่อยกระบือออกไปเดินเล่นหรือแช่โคลน เพื่อให้กระบือได้รับการผ่อนคลาย ส่งผลให้มีสภาพอารมณ์ที่ดี และเมื่อกระบือไม่เกิดความเครียดก็จะช่วยให้มีสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บป่วยตามไปด้วย

อาหารที่ใช้เลี้ยงกระบือภายในฟาร์มจะเป็นหญ้าแพงโกล่าที่ปลูกไว้เอง ตัดมาให้กระบือกินเป็นหลัก พร้อมกับสลับให้กินฟางข้าวแห้งที่ซื้อเก็บไว้ และเสริมด้วยอาหารข้นบ้างบางครั้งคราว

ช่วงวันหยุดจะมีเด็กมาช่วยเลี้ยงกระบือ

“การผสมพันธุ์กระบือที่ฟาร์มผมจะใช้แม่พันธุ์ที่มีอายุ 28 เดือนขึ้นไป โดยใช้การผสมพันธุ์แบบธรรมชาติ เรามีพ่อพันธุ์เลี้ยงไว้ในฟาร์มอยู่ 1 ตัว เมื่อผสมพันธุ์ติดรอแม่พันตั้งท้อง 9-11 เดือน ก็จะออกลูกมา จากนั้นเราก็ดูแลลูกกระบือโดยปล่อยให้อยู่กับแม่เป็นหลัก ระยะแรกๆ ให้กินนมแม่ พอโตขึ้นมาได้อายุ 5 เดือน ลูกกระบือก็จะค่อยๆ หัดกินหญ้าเหมือนตัวอื่นๆ อย่างต่ำจะเลี้ยงลูกกระบือไปเรื่อยๆ จนได้อายุ 12 เดือน ถ้ามีลูกค้าเข้ามาติดต่อขอซื้อก็จะขายในระยะอายุนี้” คุณสมจิตร บอก

(ซ้ายมือคนแรก) คุณชูวิทย์ หงษ์สามสิบเจ็ด ปศุสัตว์อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก

ในเรื่องของการทำวัคซีคให้กับกระบือนั้น คุณสมจิตร บอกว่า ทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้ โดยแผนการทำวัคซีนต่างๆ จะทำอย่างมีแบบแผนปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งวัคซีนที่ทำเน้นโรคปากเท้าเปื่อย คอตีบ และมีการให้ยาถ่ายพยาธิและฉีดยาบำรุงอื่นๆ เสริมเข้าไปด้วย

คอกนอน

โซเชียลมีเดีย

ทำให้การตลาดทำได้ง่ายขึ้น

การทำตลาดเพื่อจำหน่ายกระบือภายในฟาร์มนั้น คุณสมจิตร เล่าว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีอย่างอินเตอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญในการใช้ชีวิตของคนในยุคนี้อย่างมาก ซึ่งเขาเองก็มีโทรศัพท์มือถือที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายช่องทาง โดยถ่ายภาพกระบือที่เลี้ยงภายในฟาร์มลงในเฟซบุ๊กตามกลุ่มต่างๆ เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจอยากจะเลี้ยงกระบือได้รู้ว่าในแต่ละวัน เขามีการจัดการดูแลและจัดการฟาร์มอย่างไรบ้าง เมื่อลูกค้าพบเห็นโพสต์ของเขาก็จะเข้ามาติดต่อขอชมกระบือและตกลงซื้อกระบือกันไปในที่สุด

 

“ส่วนใหญ่แล้วที่ฟาร์มผมจะเน้นขายเฉพาะตัวผู้เป็นหลัก ส่วนตัวเมียที่มีรูปทรงสวยๆ ก็จะเก็บไว้เลี้ยงเองบ้าง เพื่อเป็นแม่พันธุ์ทดแทน ซึ่งลูกค้าที่เข้ามาติดต่อขอซื้อจะเป็นเพื่อนๆ เกษตรกรด้วยกัน ที่อยากมีพ่อพันธุ์ดีไว้ใช้ผสมภายในฟาร์ม เขาก็จะมาดูและซื้อกลับไป โดยราคาตัวเมียที่ทรงดี ทรงสวยรูปงามราคาก็จะอยู่ที่หลักแสนบาท ส่วนตัวผู้ก็จะอยู่ที่หลักหมื่นบาท ดังนั้น กระบือไทยถือว่าค่อนข้างจำหน่ายได้ราคา เพราะทำตลาดได้ทั้งกระบือสวยงามและตลาดเนื้อ ซึ่งประเทศจีนค่อนข้างนิยมบริโภค ฉะนั้น ในอนาคตตลาดกระบือยังถือว่าไปได้ดี และสร้างผลกำไร” คุณสมจิตร บอก

 

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากจะเลี้ยงกระบือเพื่อสร้างรายได้ คุณสมจิตร แนะนำว่า การเลี้ยงกระบือไม่จำเป็นต้องทำเป็นอาชีพหลักก็ได้ แต่สามารถเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพสร้างรายได้อีกหนึ่งช่องทาง โดยมีการจัดการบริหารบริเวณของพื้นที่เลี้ยงให้เป็นสัดส่วน เมื่อว่างจากทำงานประจำในช่วงเย็นก็สามารถมาดูแลกระบือที่เลี้ยงอยู่ได้ พร้อมทั้งเรียนรู้การพัฒนาสายพันธุ์อยู่เสมอ ก็จะช่วยให้กระบือเป็นสายพันธุ์ที่ดี รูปทรงไม่เล็ก และเมื่อมีการเลี้ยงแบบดูแลใส่ใจจะช่วยให้กระบือมีคุณภาพ และสร้างผลตอบแทนให้กับผู้เลี้ยงได้อย่างแน่นอน

 

สนใจเข้าศึกษาดูงานหรือปรึกษาเรื่องการเลี้ยงกระบือ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสมจิตร ทาสุข หมายเลขโทรศัพท์ (097) 947-2890

 ขอบพระคุณ คุณชูวิทย์ หงษ์สามสิบเจ็ด ปศุสัตว์อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก ที่พาลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร

———————————————————————————————————

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มติชนสุดสัปดาห์ และศิลปวัฒนธรรม ลดราคาทันที 40% ตั้งแต่วันนี้ – 30 มิถุนายน 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่