ยุวเกษตร ร.ร.หนองโพธิ์ฯ มหาสารคาม ปลูกผัก-เลี้ยงสัตว์แปลก ขายความต่าง

พื้นฐานการเป็นลูกชาวนา ชาวไร่ ของนักเรียนโรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม ตำบลหนองโพธิ์ อำเภอนาเชือก จังหวัดมหาสารคาม ทำให้การดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรของโรงเรียนเป็นไปได้ดี แม้จะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย แต่ปัญหาเด็กวัยรุ่นกับความใส่ใจในวิชาชีพเกษตรกลับเข้ากันได้อย่างลงตัว

อาจารย์ที่ปรึกษาหญิงกลุ่มยุวเกษตร และรองผู้อำนวยการโรงเรียน

โรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม รวมกลุ่มก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 แม้จะเพิ่งเริ่มได้ไม่นานนัก แต่กิจกรรมที่นักเรียนทำมีความหลากหลายและน่าสนใจหลายกิจกรรม

นักเรียนทั้งหมดเกือบ 400 คน เปิดการเรียนการสอนระดับมัธยมต้นและมัธยมปลาย โรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม เป็นโรงเรียนประจำตำบล มีนักเรียนในหลายหมู่บ้านใกล้เคียง เปิดสอนมานานกว่า 20 ปี แต่เพิ่งเริ่มก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรไม่นาน เหตุเพราะในอดีตยังไม่มีอาจารย์เพียงพอ อีกทั้งพื้นที่ของโรงเรียนทั้งหมด 51 ไร่ มีมากเกินกว่าการดูแลของจำนวนอาจารย์ที่มีจะทั่วถึง

อาจารย์จันทร์ฉาย นาพลเทพ อาจารย์ที่ปรึกษาหญิง กลุ่มยุวเกษตรโรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม บอกว่า พื้นที่ของโรงเรียนมีมาก แม้ว่าจะมีอาคารเรียนและพื้นที่จัดกิจกรรมรวมแล้ว ก็ยังเหลือพื้นที่ด้านหลังโรงเรียนอีกมาก และปล่อยให้รกร้างอยู่ ประกอบกับมีพื้นที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่กันพื้นที่ไว้สำหรับจัดสร้างเป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีตั้งอยู่ติดกัน นอกจากนี้ ในเวลาเรียนอาจมีนักเรียนที่เล็ดลอดสายตาอาจารย์ แอบหนีออกไปด้านหลังโรงเรียน ผู้บริหารโรงเรียนจึงประสานกับทางอบต. ขอพื้นที่ของศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีมาใช้สำหรับทำแปลงเกษตร ให้นักเรียนที่เรียนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ได้ลงปฏิบัติจริง โดยปรับพื้นที่ทั้งหมดให้เป็นที่นาปลูกข้าว ทำไร่มันสำปะหลัง และทำไร่อ้อย

 

“ที่เลือกปรับพื้นที่ให้ทำนา ทำไร่อ้อยและมันสำปะหลัง เพราะเด็กละแวกนี้จะมีพื้นฐานการเกษตรจากครอบครัวที่ทำนาและทำไร่อยู่แล้ว ตอนปรับพื้นที่ใหม่ๆ จึงต้องทำให้เป็นการเกษตรที่ไม่ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมมากนัก เพื่อให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติเอง โดยใช้ความรู้ที่มี”

อาจารย์จันทร์ฉาย กล่าวว่า กลุ่มยุวเกษตรของโรงเรียน เริ่มรวมกลุ่มจริงจังในปี พ.ศ. 2554 เพราะได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรตำบล ในเรื่องเมล็ดพันธุ์และการให้ความรู้ในการปลูกพืชชนิดต่างๆ ซึ่งภายหลังปรับพื้นที่และนับรวมกับพื้นที่ด้านหลังของโรงเรียนที่ถูกทิ้งให้รกร้างแล้ว ทำให้ปัจจุบันมีพื้นที่สำหรับเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรทั้งหมด 4 ไร่ โดยจัดแบ่งเป็นแปลงผัก โรงปุ๋ยหมัก โรงเลี้ยงจิ้งหรีด บ่อเลี้ยงกบ บ่อเลี้ยงปลา โรงเรือนไก่-เป็ด โรงเรือนนกกระทา หมูหลุม และกระต่าย ซึ่งปัจจุบันการเลี้ยงจิ้งหรีดหยุดโครงการไว้ชั่วคราว เพราะหมดรุ่นการเลี้ยง และอยู่ระหว่างการปรับปรุงโรงเรือน ส่วนบ่อกบและปลา โรงเรียนยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากพบว่ามีขโมยมากและการดูแลไม่ทั่วถึง

เด็กนักเรียนทุกระดับชั้นมีโอกาสสมัครเข้ากลุ่มยุวเกษตร แต่ทุกคนอาจไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรทั้งหมด เพราะกลุ่มยุวเกษตรที่กำหนดไว้ ต้องการเพียง 30 คน เท่านั้น เพื่อให้ได้ยุวเกษตรที่มีใจรักเกษตรอย่างจริงจัง ไม่ใช่สมัครเข้าร่วมกลุ่ม เพราะต้องการออกมาทำกิจกรรมนอกห้องเรียนเท่านั้น ซึ่งหากยุวเกษตร 30 คน ดังกล่าว ไม่ตั้งใจจริงในการทำการเกษตร อาจารย์อาจพิจารณาคัดเลือกออก และรับสมัครยุวเกษตรใหม่เข้ามาแทนคนเดิมได้

อาจารย์จันทร์ฉาย บอกด้วยว่า ผลิตผลจากผักสวนครัวที่ได้ทั้งหมด จะถูกส่งเข้าโรงอาหาร โดยมีแม่ค้าพ่อค้าที่จำหน่ายอาหารในโรงอาหารเป็นผู้ซื้อ และรอผลผลิตด้วยใจจดจ่อ เพราะราคาซื้อขายของผลผลิตทางการเกษตรจากแปลงผักของนักเรียนราคาไม่แพง ทั้งยังปลอดสารพิษ เมื่อผลผลิตเหลือจำหน่ายกับพ่อค้าแม่ค้าในโรงอาหารของโรงเรียนแล้ว จะมีผู้ปกครองและอาจารย์ต่อคิวจองผลผลิต ทำให้ทุกครั้งแทบไม่เหลือนำไปวางขายยังตลาดชุมชน

ในทุกวันยุวเกษตรทุกคน ซึ่งแบ่งหน้าที่กันดูแลแปลงผักและสัตว์ จะลงแปลงและโรงเรือนในตอนเช้า เพื่อตรวจดูความเรียบร้อยของแปลง รดน้ำ ให้อาหารสัตว์ ตามแต่เวลาที่พอมี และหลังเลิกเรียน จะเป็นเวลาที่ยุวเกษตรให้กับแปลงผักและสัตว์มากที่สุด เพราะจะรดน้ำอีกครั้ง เก็บผลผลิต ให้ปุ๋ยและอื่นๆ ตามแต่พืชและสัตว์จะต้องการ

การดึงความสนใจเยาวชนให้หันมาให้ความสำคัญกับงานเกษตรมากกว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยในปัจจุบัน อาจารย์จันทร์ฉาย ให้ความเห็นว่า เป็นเรื่องยาก แต่ทำได้ ซึ่งอาจารย์ใช้เทคโนโลยีมาดึงความสนใจจากเด็ก โดยตั้งกลุ่มยุวเกษตรทางเฟซบุ๊ก เมื่อมีกิจกรรมใดๆ จะโพสต์ลงเฟซบุ๊ก เพื่อให้นักเรียนได้รับทราบความเคลื่อนไหว เมื่อมีข่าวต้องการกระจายข้อมูลให้ทราบ ก็จะโพสต์ลงเฟซบุ๊ก นักเรียนที่สนใจเทคโนโลยีอยู่แล้ว จะรู้สึกสนุกกับเทคโนโลยีไปพร้อมๆ กับการให้ความสนใจด้านเกษตรด้วย

ความโดดเด่นของแปลงผักที่แตกต่างจากแปลงผักของยุวเกษตรโรงเรียนอื่น คือ การทำแปลงหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งการดูแลค่อนข้างยาก สามารถปลูกได้ระยะยาว แต่ต้องขยายพันธุ์ให้เป็น เพราะพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งราคาค่อนข้างสูง แต่เป็นความโชคดีที่มีนักวิชาการเกษตรของสำนักงานเกษตรตำบลหนองโพธิ์มาให้คำปรึกษาและถ่ายทอดความรู้ในการดูแลขยายพันธุ์หน่อไม้ฝรั่งให้

และหน่อไม้ฝรั่งนี่เอง ที่เป็นผักที่สร้างรายได้และดึงดูดความสนใจของชาวบ้านในชุมชนให้สนใจและรอคอยการซื้อหน่อไม้ฝรั่งจากยุวเกษตรของโรงเรียน

ส่วนการเลี้ยงสัตว์ เป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่ปรึกษาชาย ซึ่งมีความรู้ทางด้านสัตวศาสตร์ ดูแล และให้ความรู้กับกลุ่มยุวเกษตร ในการเลี้ยงสัตว์ปีก หมูหลุม แต่ยังมีนกกระทาและกระต่าย ซึ่งน้อยที่กลุ่มยุวเกษตรจะเลือกเลี้ยงสัตว์ทั้ง 2 ชนิดนี้

“แนวคิดเลี้ยงนกกระทา เป็นแนวคิดของอาจารย์ที่ปรึกษาชายที่มองว่า ควรหาสิ่งแปลกใหม่ให้กับท้องถิ่น เมื่อมีโอกาสไปศึกษาดูงานที่จังหวัดขอนแก่น พบว่า นกกระทา สามารถขายได้ทั้งไข่และตัว เนื้อนกกระทามีรสชาติอร่อย อีกทั้งหาได้ยากในท้องถิ่นมหาสารคาม จึงตัดสินใจซื้อพันธุ์และสร้างโรงเรือน แบ่งนกกระทาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่เลี้ยงเพื่อนำไข่ไปขาย และอีกกลุ่มเลี้ยงไว้เพื่อขายเนื้อ ซึ่งได้รับความนิยมจากชุมชนค่อนข้างมาก ทั้งเนื้อและไข่ไม่พอขาย ถึงแม้ว่าทุกวันจะสามารถเก็บไข่นกกระทาได้ถึงวันละประมาณ 300 ฟองก็ตาม”

นกกระทา เป็นกิจกรรมที่นักเรียนชายให้ความสนใจมาก ทำให้มีนักเรียนหลายรายนำกลับไปต่อยอดที่บ้าน ด้วยการซื้อพันธุ์นกกระทาจากโรงเรียนไปเลี้ยงเองที่บ้าน และกินไข่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อไข่รับประทาน หรือบางรายเลี้ยงขายเนื้อ เมื่อมีกิจกรรมออกร้านของโรงเรียน ก็จะนำนกกระทาขายเนื้อออกไปขายพร้อมๆ กับของโรงเรียน เพื่อเป็นรายได้เสริมระหว่างเรียนด้วย

นอกเหนือจากการทำแปลงผักและเลี้ยงสัตว์แล้ว การส่งเสริมกิจกรรมด้านการเกษตร ไม่เฉพาะกลุ่มยุวเกษตรเท่านั้น แต่นักเรียนที่เรียนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพที่สนใจงานประดิษฐ์ อาจารย์ที่ปรึกษาจะถ่ายทอดความรู้และนำวัสดุที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นมาทำให้เกิดผลงาน เช่น การทอเสื่อกก การเย็บกระเป๋าจากกก เป็นต้น

นางสาวบุษกร สนุกค้า หรือ น้องป๊อป นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ประธานกลุ่มยุวเกษตร เล่าให้ฟังว่า สนใจและสมัครเข้ากลุ่มยุวเกษตรตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และร่วมกิจกรรมเรื่อยมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้น้องป๊อปสนใจในวิชาเกษตร เพราะสนใจการปลูกผัก เพราะสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้การปลูกผักเป็นสิ่งที่นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ทั้งหมด สามารถนำความรู้กลับไปดูแลการปลูกผักที่บ้าน เพื่อลดค่าใช้จ่ายการซื้อผักสวนครัวในการประกอบอาหาร นอกจากนี้ ที่บ้านยังเลี้ยงไก่ไว้กินไข่และขายเนื้อเมื่อไก่โตเต็มที่ อย่างไรก็ตาม การปลูกผักสวนครัวก็ไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งหมด จึงต้องเรียนรู้ด้วยการปลูกผักหลายชนิด เพื่อเรียนรู้ความยากง่ายและการแก้ปัญหาในการปลูก

น้องป๊อป บอกด้วยว่า ในทุกวันตอนเช้าจะลงแปลงผักเพื่อสำรวจดูวัชพืชและแมลงที่มาก่อกวน จากนั้นตอนเที่ยงใช้สารชีวภาพมาไล่แมลงและกำจัดวัชพืช ส่วนตอนเย็นหลังเลิกเรียนจะรดน้ำ หรือหากได้เวลาเก็บผลผลิตจะเก็บในตอนเช้าหรือกลางวัน เพื่อนำไปขายให้กับพ่อค้าแม่ค้าในโรงอาหาร

ด้าน นางสาวอภิญญา โยธะบุรี หรือ น้องแฟนต้า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 เลขานุการกลุ่มยุวเกษตร กล่าวว่า น้องแฟนต้าจับกลุ่มกับเพื่อนๆ รวม 5 คน ดูแลแปลงหน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งถือว่าดูแลไม่ยากนัก เพราะสิ่งจำเป็นมากที่สุดคือต้องไม่ให้มีวัชพืชขึ้นรบกวนหน่อไม้ฝรั่ง จึงต้องกำจัดเรื่อยๆ และให้ปุ๋ยเดือนละครั้งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากอนาคตต้องเป็นเกษตรกรจริงๆ จะเลือกทำไร่มันสำปะหลัง เพราะมีประสบการณ์จากพ่อแม่ที่ปลูกมันสำปะหลังอยู่ และเห็นเม็ดเงินจากการปลูกเป็นกอบเป็นกำ รายได้หลายหมื่นบาทต่อเดือนทีเดียว

ในทุกกิจกรรม นักเรียนในกลุ่มยุวเกษตรจะเป็นตัวหลัก และมีนักเรียนที่ไม่ได้เข้ากลุ่มยุวเกษตร แต่เรียนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพเป็นผู้ดูแลเสริม แต่รายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทุกอย่างจะแบ่งผลกำไรให้กับนักเรียนในอัตรา 15 เปอร์เซ็นต์

ความแปลกแตกต่างในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์บางชนิด โดยสำรวจความต้องการของท้องถิ่นก่อนการปลูก เป็นแนวทางและตัวอย่างที่ดีให้กับนักเรียน เพื่อนำไปต่อยอดเมื่อต้องดำรงชีวิตในอนาคตได้ โรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม ยังเปิดให้ผู้สนใจเยี่ยมชมผลงานของนักเรียนได้ สอบถามอาจารย์จันทร์ฉาย นาพลเทพ อาจารย์ที่ปรึกษาหญิงโรงเรียนหนองโพธิ์วิทยาคม โทรศัพท์ (093) 469-1807

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก 25 พ.ย. 2019