กรมชลประทาน เดินหน้าใช้โครงข่ายน้ำภาคตะวันออก แก้แล้ง อีอีซี

โครงข่ายน้ำเป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ในการบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ โดยในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้มีการวางโครงการต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี เพี่อให้ระบบบริหารน้ำสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากเป็นศูนย์กลางผลิตผลไม้หรือฮับผลไม้และเขตอุตสาหกรรม ซึ่งช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้มีนโยบายโครงการพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นพื้นที่ภาคการผลิตสำคัญของประเทศ ปี 63 เมื่อแล้งติดลำดับ 2 ในรอบ 40 ปี โครงข่ายน้ำที่มีการพัฒนามาต่อเนื่องแม้จะยังไม่สมบูรณ์ 100% จากข้อจำกัดหลายด้าน จึงถูกใช้บริหารจัดการปัญหาขาดแคลนน้ำ ปีนี้จะได้เห็นการเวียนสลับหมุนวนน้ำในแต่ละอ่างเพื่อเติมเต็มกันและกัน ด้วยพันธกิจแล้งนี้ทุกฝ่ายต้องรอด

ดร. ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลฯ ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำภาคตะวันออกอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้มีปัญหาขาดแคลนน้ำหรือแย่งน้ำระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเหมือนในอดีต ในการทำงานจะมีการตกลงร่วมกันของผู้ใช้น้ำทั้งหมด มีการตั้งคณะทำงานใน KEY MAN WARROOM ซึ่งเป็นการบูรณาการทุกภาคส่วนประชุมทุก 15 วัน ดังนั้น การบริหารน้ำภาคตะวันออกจึงเป็นไปตามข้อห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว. เกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะต้องไม่ขาดแคลนน้ำ และประชาชนในภูมิภาคจะต้องมีน้ำอุปโภค บริโภค

“ขอยืนยันว่า กรมชลประทาน จะดูแลและบริหารจัดการน้ำให้ดีที่สุด โดยเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค จะไม่ขาดแคลน และจะไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ อีอีซี เพราะตระหนักดีว่าเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ ในขณะที่ภาคการเกษตร ได้มีการจัดสรรน้ำไว้ให้ตามที่มีการตกลงร่วมกันแล้ว”
นายสุชาติ เจริญศรี รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบริหาร เปิดเผยว่า พื้นที่ อีอีซี 3 จังหวัด คือฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง มีความต้องการใช้น้ำในฤดูแล้งรวม 430 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปีนี้มีปริมาณน้ำประมาณ 410 ล้าน ลบ.ม. ยังขาดอีกประมาณ 20 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากปริมาณฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยจึงต้องจัดหาปริมาณน้ำส่วนที่ขาด อีกทั้งต้องสำรองเพื่อกรณีฝนทิ้งช่วงถึง มิ.ย.2563 กรมได้หารือร่วมกับทุกหน่วยจนที่สุดสามารถลงนามข้อตกลงกับกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำคลองวังโตนดเพื่อขอผันน้ำข้ามลุ่มตามกฎหมายใหม่ โดยจะผันจากอ่างเก็บน้ำคลองประแกด จ.จันทบุรี มาเติมที่อ่างเก็บน้ำประแสร์ จ.ระยอง จำนวน 10 ล้าน ลบ.ม. โดยจะผัน วันที่ 1-25 มี.ค. ซึ่งอ่างประแสร์เป็นอ่างหลักส่งน้ำให้เขต อีอีซี ปัจจุบัน อ่างคลองประแกด มีความจุ 60 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 40-50 ล้าน ลบ.ม. ในพื้นที่จะใช้ประมาณ 15-20 ล้าน ลบ.ม. จึงมีน้ำที่จะนำมาช่วยเหลือ อีอีซี ได้ แต่ระหว่างผันหากปริมาณน้ำกระทบต่ออ่างจะหยุดทันที

ในส่วนน้ำที่ยังขาดอีก 10 ล้าน ลบ.ม. จะมาจาก ที่ประชุมคีย์แมนวอร์รูม ขอความร่วมมือให้ภาคอุตสาหกรรม และการประปาทุกสาขา ลดการใช้น้ำลงกว่า 10% ปัจจุบัน การใช้น้ำเป็นไปตามแผนที่กรมชลฯ วางไว้ และในส่วนของบริษัท อีสวอเตอร์ ซึ่งเป็นเอกชนที่ผลิตน้ำป้อนภาคอุตสาหกรรม ปรับปรุงระบบน้ำดังนี้ ให้หาแหล่งน้ำดิบสำรอง ประมาณ 18 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีแล้ว และให้ปรับปรุงระบบ-สูบกลับ วัดละหารไร่ เพื่อเติมน้ำให้กับอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล วันละ 100,000 – 150,000 ลบ.ม. ให้ปรับปรุงระบบสูบกลับคลองสะพานเพื่อเติมอ่างประแสร์อีก 10 ล้าน ลบ.ม. ให้เสร็จภายในเดือน ม.ค. – ก.พ. นี้ และเร่งเชื่อมท่อ ประแสร์-คลองใหญ่ และเชื่อมท่อประแสร์-หนองปลาไหล ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค. เพื่อลดการสูญเสียน้ำประมาณ 10-20 ล้าน ลบ.ม. สำหรับการประปาส่วนภูมิภาคที่ไม่สามารถนำน้ำจากอ่างคลองหลวงมาใช้แทนน้ำที่ขาดจากอ่างบางพระนั้น อธิบดีกรมชลฯ สั่งการให้มีการขุดลอกคลองและระบายน้ำจากอ่างคลองหลวงมาที่สถานีสูบน้ำพานทอง ระยะทาง 60 กิโลเมตร เพื่อสูบมาเก็บที่อ่างบางพระ ประมาณ 10 ล้าน ลบ.ม.

นายสุชาติ ทิ้งท้ายว่า จากการเชื่อมโยงน้ำโครงข่ายน้ำ ก็คาดว่าจะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อความต้องการใช้ ประกอบกับในช่วงเดือน เม.ย.- มิ.ย. นี้ คาดว่าจะมีฝนในช่วงเปลี่ยนฤดู คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างอีกประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. จึงมั่นใจได้ว่าจะมีปริมาณน้ำเพียงพอจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 ตามที่ฝ่ายนโยบายต้องการ โดยกรมชลประทานจะทำทุกทางเพื่อให้ประชาชนผ่านแล้งนี้ไปให้ได้