ปลูก “ถั่วแระญี่ปุ่น” เพื่อป้อนตลาดส่งออก ที่อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์

“ถั่วแระญี่ปุ่น” หรือ “ถั่วเหลืองฝักสด” (Vegetable Soybean) เป็นพืชที่รู้จักกันแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบัน และเริ่มมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ในแต่ละปีสามารถส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นที่นำเข้าจากประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งเห็นได้จากที่บริษัทส่งออกต้องเข้ามาส่งเสริมหาลูกไร่ หรือเกษตรกรเพื่อปลูกถั่วแระญี่ปุ่นแล้วรับซื้อผลผลิตคืนทั้งหมด โดยบริษัทจะออกค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารเคมีป้องกันกำจัดโรคและแมลงให้ รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้เกษตรกรก่อน หลังการเก็บเกี่ยวเสร็จก็ค่อยมาหักค่าใช้จ่ายส่วนที่เกษตรกรจะต้องได้

ซึ่งจากที่สอบถามแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเกษตรกร พบว่า ในการปลูกถั่วแระญี่ปุ่นนั้น เกษตรกรจะเหลือผลกำไรไร่ละ ประมาณ 10,000-15,000 บาท ซึ่งเกษตรกรก็ค่อนข้างพอใจในรายได้ เนื่องจากถั่วแระญี่ปุ่นนั้นใช้ระยะปลูกจนเก็บเกี่ยวเพียง 65-70 วันเท่านั้น

ถั่วแระญี่ปุ่น เกรดเอ จะมี 3 เมล็ด ต่อฝัก

“ถั่วแระญี่ปุ่น” เป็นถั่วเหลืองที่มีฝักขนาดใหญ่ บริโภคเมล็ดในระยะเมล็ดเต่งเต็มที่ แต่ฝักยังมีสีเขียวอยู่ อายุเก็บเกี่ยวฝักสด ประมาณ 65 วัน หลังจากหยอดเมล็ดฝักที่ได้มาตรฐานส่งตลาดญี่ปุ่น จะต้องมีเมล็ดตั้งแต่ 2 เมล็ด ขึ้นไป ความยาวฝักไม่น้อยกว่า 4.5 เซนติเมตร ฝัก 1 กิโลกรัม มีจำนวนฝักไม่เกิน 350 ฝัก และไม่มีรอยตำหนิใดๆ บนฝัก ลำต้นเป็นพุ่มเตี้ย มี 7-10 ข้อ และแขนง 2-3 แขนง เมล็ดพันธุ์มีขนาดใหญ่ โดยเมล็ด 100 เมล็ด จะมีน้ำหนักประมาณ 25-35 กรัม ส่วนใหญ่บริโภคฝักสดเป็นอาหารว่าง โดยต้มทั้งฝักในน้ำเดือด ใช้ระยะเวลาสั้นเพียง 5 นาที โรยเกลือเล็กน้อย เพื่อเพิ่มรสชาติ หรือแกะเมล็ดออกจากฝักนำมาประกอบอาหารได้หลายชนิด เช่น ผัดกับกุ้ง แกงส้ม ข้าวผัด และใช้แทนถั่วลันเตากระป๋องได้เป็นอย่างดี

คุณเจิด ขุนทด เกษตรกรผู้ปลูกถั่วแระญี่ปุ่น

คุณเจิด ขุนทด บ้านเลขที่ 458/2 หมู่ที่ 5 ตำบลวังโป่ง อำเภอวังโป่ง จังหวัดเพชรบูรณ์ โทร. (085) 054-7991 เป็นเกษตรกรรายหนึ่งที่ปลูกถั่วแระญี่ปุ่นส่งขายให้บริษัทผู้ส่งออก เพื่อนำผลผลิตถั่วแระญี่ปุ่นสดส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น โดยปลูกในปีนี้ได้ปลูกถั่วแระญี่ปุ่นราวๆ 40 ไร่ โดยจะปลูกช่วงหลังการปลูกข้าวโพดเพื่อเป็นพืชหมุนเวียน ซึ่งคุณเจิด เล่าว่า ตนเองสนใจปลูกถั่วแระญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวสั้น คือราวๆ 65 วัน เท่านั้น สามารถขายให้บริษัทที่เข้ามาส่งเสริมแล้วรับซื้อแบบประกันราคา กิโลกรัมละ 17 บาท ซึ่งที่ผ่านมาก็สร้างรายได้เป็นที่น่าพอใจ โดยหักค่าใช้จ่ายแล้วก็จะเหลือเงินต่อไร่ละ ประมาณ 10,000-12,000 บาท ซึ่งเป็นผลตอบแทนที่ตนเองพอใจ เนื่องจากใช้เวลาที่สั้น เพียง 2 เดือนเศษเท่านั้น

ถั่วแระญี่ปุ่น เกี่ยวกองไว้ก่อนจะเด็ดฝัก

ฤดูปลูก และแหล่งปลูก

การปลูกถั่วแระญี่ปุ่น สามารถปลูกได้ดีเกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นฤดูร้อนช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน เป็นช่วงที่ปลูกถั่วเหลืองฝักสดแล้วได้ผลผลิตค่อนข้างต่ำ เพราะดอกจะทยอยบานต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 14 วัน ทำให้การแก่ของฝักไม่พร้อมกัน ยากแก่การกำหนดวันเก็บเกี่ยว และอุณหภูมิที่สูงเกินไปทำให้อัตราการเกิดฝักที่มีเมล็ดลีบทั้งฝัก และฝักที่มีเมล็ดลีบบางเมล็ดสูงขึ้น ฝักมีขนาดเล็กลง ทำให้จำนวนฝักตกเกรดมีมากขึ้น เป็นผลให้ผลผลิตต่ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการปลูกในช่วงที่อากาศร้อนจัด อย่างไรก็ดี แหล่งที่ดีจะต้องมีแหล่งน้ำชลประทานเพียงพอตลอดอายุปลูก

แรงงานรับจ้างที่ต้องใช้คนมากถึง 200-300 คน

การเตรียมแปลง และการปลูก

การเตรียมแปลงปลูกทำเช่นเดียวกับการปลูกผักทั่วๆ ไป โดยไถพรวน 2 ครั้ง เพื่อให้ดินร่วนและเป็นการกำจัดวัชพืช จากนั้นจึงยกร่องซึ่งระยะระหว่างร่องขึ้นกับระบบการให้น้ำ ถ้าปรับพื้นที่สำหรับให้น้ำแบบปล่อยตามร่อง ควรยกร่องห่างกัน ประมาณ 1-1.2 เมตร มีพื้นที่สันแปลง ประมาณ 50-60 เซนติเมตร ปลูกได้ 2 แถว ตามขอบแปลง ถ้าสภาพแปลงปลูกไม่ค่อยสม่ำเสมอหลังจากยกร่องแล้วควรปล่อยน้ำลงในร่องก่อนปลูก จะเห็นรอยระดับน้ำตลอดแนวร่อง เมื่อดินหมาดจึงหยอดเมล็ดเหนือรอยระดับน้ำเล็กน้อย ถ้าดินชื้นดีอาจไม่ต้องให้น้ำอีก แต่ถ้าดินแห้งควรให้น้ำอีกครั้งเท่ากับระดับที่เคยให้น้ำมาก่อน วิธีนี้ทำให้เมล็ดถั่วเหลืองฝักสดได้รับความชื้นพอเหมาะ เป็นผลให้เมล็ดงอกพร้อมกันและเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง

ระยะปลูกระหว่างแถวขึ้นอยู่กับความกว้างของร่อง ส่วนระยะระหว่างต้น ประมาณ 15-20 ต้น/ตารางเมตร หยอดเมล็ด 2-4 เมล็ด ต่อหลุม ซึ่งจำนวนต้นต่อพื้นที่ที่เหมาะสมคือ 20-25 ต้น/ตารางเมตร โดยใช้เมล็ดพันธุ์ ประมาณ 12-15 กิโลกรัม/ไร่ ถ้าระบบให้น้ำเป็นแบบฉีดพ่นฝอย ควรยกแปลงกว้าง 3-4 เมตร หรือตามระยะฉีดของหัวพ่นฝอย หยอดเมล็ดบนแปลงเป็นแถวเช่นกัน แต่ใช้ระยะปลูกแคบลงเป็น 20×25 เซนติเมตร ให้มีจำนวน 1-2 ต้น/หลุม สำหรับการปลูกถั่วแระในนาข้าว หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว สามารถหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกโดยไม่ต้องไถพรวนก็ได้ ถ้าดินแห้งควรปล่อยน้ำท่วมแปลงปลูกก่อน ประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงปลูก และเมื่อต้นถั่วอายุ 15-20 วัน ควรใส่ปุ๋ยพรวนดิน ถากหญ้า พูนโคนพร้อมกันไป จะทำให้ร่องที่เกิดขึ้นระหว่างแถวถั่วกลายเป็นร่องสำหรับให้น้ำต่อไป การใช้ระยะปลูกแคบมีแนวโน้มที่จะได้ผลผลิตมากขึ้น แต่ระยะปลูกที่แคบเกินไปทำให้สิ้นเปลืองเมล็ดพันธุ์มากขึ้น และการปฏิบัติดูแลรักษาทำได้ยากขึ้นด้วย

แปลงปลูกถั่วแระญี่ปุ่น

วิธีการปฏิบัติดูแลรักษา

การคลุกเมล็ดด้วยสารเคมีก่อนปลูก ถั่วแระญี่ปุ่นค่อนข้างอ่อนแอต่อโรคเน่าที่เกิดกับเมล็ดและต้นอ่อนมากกว่าถั่วเหลืองไร่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่ดินปลูกแฉะเกินไป เมล็ดงอกช้า มักจะถูกทำลายโดยเชื้อราที่ติดมากับเมล็ดหรือเชื้อราและแบคทีเรียในดิน

การคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น สารแคปแทน อัตรา 5 กรัม ต่อเมล็ดถั่ว 1 กิโลกรัม จะช่วยลดความเสียหายจากการเน่าของเมล็ดและต้นอ่อนลงได้ การคลุมเมล็ดด้วยเชื้อไรโซเบียม สามารถทำได้ แม้ว่าเมล็ดถั่วแระญี่ปุ่นจะผ่านการคลุกเมล็ดด้วยสารป้องกันเชื้อรามาแล้วก็ตาม อัตราที่ใช้ ประมาณ 10 กรัม ต่อเมล็ด 1 กิโลกรัม เชื้อไรโซเบียมในปมรากถั่วจะช่วยตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาเป็นประโยชน์แก่ต้นถั่ว ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นและสามารถลดปริมาณการใส่ปุ๋ยไนโตรเจนลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแปลงที่ยังไม่เคยปลูกพืชตระกูลถั่วมาก่อน

งานกำจัดวัชพืช

ส่วนใหญ่ทำโดยใช้แรงงานคนอย่างน้อย 2 ครั้ง เมื่อตอนถั่วอายุ 15-20 วัน และ 30-40 วัน หลังจากหยอดเมล็ด การใช้จอบถากหญ้ามักจะทำควบคู่ไปกับการพรวนดิน กลบปุ๋ย และพูนโคน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันรากลอยและต้นถั่วเอนล้มเมื่อลมพัดแรง นอกจากการกำจัดวัชพืชด้วยแรงคน และยังสามารถใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชได้ด้วย แต่ผู้ใช้ต้องระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำ มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายกับต้นถั่ว ปัจจุบัน สารเคมีกำจัดวัชพืชมีหลายชนิดหลายประเภท ทั้งชนิดที่เลือกควบคุมหรือทําลายพืชเฉพาะอย่าง และทั้งประเภทฉีดพ่นก่อนงอก (Pre-emergence) และพ่นหลังงอก (Post-emergence) สารเคมีที่ใช้ฉีดพ่นก่อนงอก เช่น อาลาคลอร์, เมโตลาคลอร์, เมตริบูซิน ซึ่งสารเคมีพวกนี้จำเป็นต้องฉีดพ่นขณะที่ดินมีความชื้นพอเหมาะและเมล็ดถั่วยังไม่งอก สำหรับสารเคมีที่ฉีดพ่นหลังงอก เช่น ฮาโลซีฟอพเมธิล, ฟลูอซิฟอพบูทิล ใช้ควบคุมวัชพืชใบแคบได้ดี แต่ไม่ควบคุมวัชพืชใบกว้างและไม่มีอันตรายต่อต้นถั่ว ส่วนฟอมีซาเฟน ควบคุมวัชพืชใบกว้างและมีผลทำให้ใบถั่วมีรอยไหม้ตามขอบและชะงักการเจริญเติบโตเล็กน้อย แต่ระยะต่อมาต้นถั่วสามารถเจริญเติบโตไปได้ โดยที่ใบใหม่ไม่แสดงอาการผิดปกติ การใช้สารเคมีควบคุมวัชพืชอาจมีความจำเป็นในบางพื้นที่ที่หาแรงงานยาก และจะให้ผลดีควรใช้สารเคมีควบคู่กับการกำจัดวัชพืชด้วยเครื่องจักรกลหรือแรงงานคน

การให้น้ำ

ถั่วเหลืองฝักสดต้องการน้ำมากน้อยตามระยะการเจริญเติบโต ดังนี้ ระยะก่อนเมล็ดงอก หลังจากหยอดลงแปลงปลูก เมล็ดต้องการความชื้นพอสมควร แต่ไม่มากจนแฉะ เพราะขณะที่เมล็ดงอกเมล็ดต้องการออกซิเจนในการหายใจ ดังนั้น ถ้าสภาพแปลงปลูกแฉะเกินไปจะเกิดการสะสมคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นผลให้การงอกไม่สมบูรณ์ เมล็ดมักจะเน่าเสียหาย หรือถ้างอกได้จะเจริญเติบโตช้า ต้นแคระแกร็น ระยะก่อนเมล็ดงอก อายุประมาณ 25-65 วัน เป็นระยะที่ต้นถั่วแระญี่ปุ่นต้องการน้ำอย่างสม่ำเสมอ ช่วยให้สีฝักแก่ เปลี่ยนเป็นสีเหลืองช้าลง เป็นการยืดอายุเก็บเกี่ยวออกไปได้อีก 2-3 วัน ผลผลิตจะสูงขึ้นอีกเล็กน้อย 

พื้นที่ 10 ไร่ ใช้แรงงานราว 300 คน โดยเริ่มการเก็บเกี่ยวช่วงเย็นไปถึงค่ำ

การเก็บเกี่ยวถั่วแระญี่ปุ่น

ทำโดยการตัดต้นถั่วในระยะที่ฝักไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป ถ้าเก็บเกี่ยวเร็วเกินไปเมล็ดในฝักยังไม่เติบโตเต็มที่ มีเปอร์เซ็นต์ฝักลีบมาก ได้ผลผลิตต่ำ แต่ถ้าเก็บเกี่ยวช้าเกินไปฝักจะออกสีเหลือง เมล็ดในฝักแข็ง รสไม่หวาน ตลาดไม่ต้องการ ปกติจะเริ่มเก็บเกี่ยวเมื่อฝักเต่ง ประมาณ 80% ซึ่งเป็นระยะเวลา ประมาณ 30-35 วัน หลังจากดอกบานสะพรั่ง หรือ 60-65 วัน หลังจากหยอดเมล็ด อย่างไรก็ดี ถั่วแระญี่ปุ่นแต่ละพันธุ์มีอายุเก็บเกี่ยวไม่เท่ากัน และอายุการเก็บเกี่ยวยังแปรปรวนตามสภาพแวดล้อมและการปฏิบัติดูแลรักษาด้วย

ถ้าปลูกถั่วแระญี่ปุ่นในสภาพอากาศค่อนข้างเย็น ช่วงการบานของดอกตั้งแต่ดอกแรกถึงดอกสุดท้ายจะสั้นราวๆ 5-7 วัน แต่ถ้าปลูกในฤดูร้อนดอกจะทยอยบานไปเรื่อยๆ ซึ่งบางครั้งยาวนานกว่า 14 วัน ทำให้ฝักแก่ไม่พร้อมกัน เป็นการยากที่จะกำหนดวันเก็บเกี่ยว ในด้านการดูแลรักษา ถ้าต้นถั่วมีอาการแคระแกร็นเนื่องจากการขาดน้ำ ขาดการบำรุงปุ๋ยในระยะที่เหมาะสมก็จะทำให้อายุออกดอกล่าช้าออกไป และคุณภาพฝักลดลงด้วย

ใช้เคียวเกี่ยวต้น

การเก็บเกี่ยว ควรเก็บเกี่ยวในเวลาเช้ามืดหรือช่วงเวลาเย็น ไม่ควรเก็บเกี่ยวในเวลากลางวันที่มีแดดจัด และหลังจากตัดต้นถั่วที่มีแดดจัด และหลังจากตัดต้นถั่วและควรรีบนำเข้าที่ร่มไม่ให้ถูกแสงแดดโดยตรง แสงแดดและความร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเร่งให้คุณภาพฝักทั้งภายนอกและภายในเสื่อมลง เช่น สีฝักเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ปริมาณน้ำตาลในเมล็ดลดลง เป็นต้น การเด็ดฝักออกจากต้นต้องทำด้วยความระมัดระวัง อย่าให้มีรอยฉีกขาดบนฝัก แล้วคัดเลือกฝักที่มีเมล็ดเต่งสมบูรณ์ 2 เมล็ด ต่อฝัก ขึ้นไป ไม่มีรอยตำหนิใดๆ แยกออกจากฝักที่มีเมล็ดเดียว เมล็ดลีบ และมีรอยตำหนิ

แรงงานกำลังเด็ดฝักออกจากต้น

ในการคัดแยกฝักจำเป็นต้องจ้างแรงงานมาช่วย ประมาณ 15-30 คน ต่อพื้นที่เก็บเกี่ยว 1 ไร่ ซึ่งถ้าเก็บเกี่ยวพื้นที่ 10 ไร่ ก็จะต้องใช้คนมากถึง 150-300 คน เลยทีเดียว เพื่อให้เก็บผลผลิตได้ตามกำหนดเวลาที่ต้องการ โดยตอนนี้ค่าเก็บฝักถั่วแระญี่ปุ่น กิโลกรัมละ 2.50 บาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ดีสำหรับแรงงานรับจ้างเก็บฝักถั่วแระญี่ปุ่น ซึ่งเฉลี่ยแต่ละคนจะมีรายได้ 400-800 บาท เลยทีเดียว แต่นั้นก็ขึ้นอยู่กับความขยัน ความชำนาญในการเก็บ และจำนวนแรงงานที่มาเก็บ เป็นต้น

ฝักถั่วแระญี่ปุ่นที่เด็ดออกจากต้น

ขณะที่รอการขนส่งควรเก็บฝักที่คัดแล้วไว้ในที่ร่มเย็น ไม่ถูกแสงแดด โดยการเก็บเกี่ยวถั่วแระญี่ปุ่นเริ่มเก็บเกี่ยวและคัดแยกฝักในตอนกลางคืนราวเที่ยงคืนเป็นต้นไป พอถึงรุ่งเช้าจะส่งผลผลิตที่คัดแยกฝักเรียบร้อยแล้วไปยังโรงงาน ซึ่งทำให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี เนื่องจากขณะเก็บเกี่ยวเป็นช่วงที่อุณหภูมิต่ำ และผู้เก็บเกี่ยวมีความชำนาญในการคัดแยกฝักเป็นอย่างดีจากการทำอยู่เป็นประจำ

บรรยากาศในการเก็บเกี่ยวถั่วแระญี่ปุ่น

 

เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564