ปลูกทุเรียนพื้นที่ดินทราย ที่อุบลราชธานี แห่งเดียวในอีสาน เริ่มปลูกเพื่อนบ้านหาว่า “บ้า”

เพื่อนบ้านบอกสองผัวเมียปลูกทุเรียนบนดินทรายเป็นบ้า แต่เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ต้องเปลี่ยนความคิด เมื่อทุเรียนออกผลสร้างรายได้ให้ปีละหลายแสนบาท ภาครัฐเข้าหนุนสร้างช่องทางทำกินให้ชาวบ้านในละแวกเดียวกัน

วันนี้ จะพาไปชมสวนทุเรียนที่เดียวในอีสาน หรือในประเทศก็ว่าได้ที่ปลูกต้นทุเรียนราชาแห่งผลไม้ในดินทราย โดยเริ่มแรก คุณสมัย หรือเพื่อนบ้านเรียก พ่อสมัย สายเสน อายุ 63 ปี เกษตรกรชาวนา หมู่บ้านโคกใหม่พัฒนา หมู่ ที่ 10 ตำบลโนนกลาง อำเภอสำโรง จังหวัดอุบลราชธานี เบื่ออาชีพทำนาปลูกข้าว ที่ยึดมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นแม่ เพราะผืนนาเป็นนาโคก และพื้นดินยังเป็นดินทรายปนดินเหนียว ปีหนึ่งๆ ต้องรอฟ้าฝน เพื่อเอาน้ำมาปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้ง และไม่มีความแน่นอนเรื่องผลผลิตข้าวด้วย

พ่อสมัย สายเสน เจ้าของทุเรียนปลูกบนดินทราย

ในช่วงวัยหนุ่ม พ่อสมัย นอกจากทำนาปลูกข้าว ยังตระเวนไปรับจ้างเป็นคนงานตามสวนผลไม้แถวภาคใต้ มีครอบครัวก็กลับมาทำอาชีพขายรองเท้าตามตลาดนัดกับภรรยา และปลูกข้าวปีละครั้ง พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและมีข้าวไว้กินในแต่ละปี

แต่เมื่ออายุสูงขึ้น ก็เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพที่เสื่อมถอย การขับรถตระเวนไปขายรองเท้าตามตลาดนัดก็เริ่มมีอุปสรรค ตาฝ้าฟางกลัววันไหนเกิดพลาดท่ามีอุบัติเหตุขึ้น จะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ครั้นจะกลับไปทำนาปลูกข้าวแบบเดิมที่เก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง ก็กลัวว่าเงินทุนที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตเพียง 2 แสนบาทเศษ ต้องหมดไปกับค่าจ้างไถนา ซื้อปุ๋ยใส่นาข้าวเหมือนที่ผ่านมา

จึงคิดปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยแบ่งที่นาที่รับสืบทอดมากว่า 22 ไร่ ใช้ทำนา 12 ไร่ อีก 10 ไร่ ลุยปลูกพืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว และผลไม้นานาชนิด ทั้งละมุด ลำไย สับปะรด ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง กล้วย รวมทั้งทุเรียน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี

จำหน่ายได้ดี

แต่การปลูกอะไรไม่สำคัญเท่าปลูกทุเรียน เพราะเป็นผลไม้ที่ปลูกยากในพื้นดินที่เป็นดินทราย โดยเริ่มแรกในปี 2553 ได้ซื้อพันธุ์ทุเรียนหมอนทอง จำนวน 20 ต้น มาทดลองปลูกลงในที่นาของตนเอง แต่ก็เอาประสบการณ์ความรู้สมัยหนุ่มๆ ที่ไปเป็นคนงานในสวนผลไม้ทางภาคใต้ ประยุกต์ปรับใช้กับดินทรายในที่นาของตนเอง

โดยขนเอาดินจากใต้สระน้ำที่มีตะกอนดินของดินเหนียวสะสมทับถมเป็นเวลานานและมีจำนวนมากมาผสมกับดินทรายบนที่นา จึงเอาพันธุ์ต้นทุเรียนลงปลูก ซึ่งการปลูกช่วงแรก ก็มีเพื่อนบ้านแวะเวียนเข้ามาดูการปลูกทุเรียนบนดินทรายด้วยความสมเพช บางรายก็เข้าขั้นว่าคุณสมัยเป็น “บ้า” ไปเลยทีเดียว เพราะนอกจากไม่เดินตามรอยทำนาข้าวเหมือนบรรพบุรุษ ยังเอาพันธุ์ผลไม้นานาชนิดมาปลูกแทนข้าว แล้วอย่างนี้ ชีวิตบั้นปลายคุณสมัยจะไปรอดหรือเปล่า

ผลขนาดใหญ่

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปกว่า 3-4 ปี ทุเรียน จำนวน 20 ต้น เริ่มให้ผลผลิต โดยมีผลขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยตั้งแต่ 3-5 กิโลกรัม มีเนื้อหอม หวาน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน สามารถเก็บออกขายผสมกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ด้วย
มาถึงวันนี้ พ่อสมัยก็ได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนบนดินทรายจาก 20 ต้น เป็นเกือบ 300 ต้น และเก็บผลผลิตที่งอกเงยออกขายทุกปี แต่ด้วยพื้นที่ที่แห้งแล้ง แม้มีผลทุเรียนให้เก็บเกี่ยวได้เพียง 1 ใน 3 ในแต่ละปี แต่ก็ทำเงินให้กับพ่อสมัยปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 3 แสนบาท

ผลบนต้น

ซึ่งไม่รวมถึงพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร และผลไม้อีกหลากชนิดที่มีอยู่ในสวน “ตายาย” ของคุณสมัยและคุณราตรี ผู้เป็นภรรยา ทุกวันนี้ สองตายายแค่นั่งๆ นอนๆ อยู่ในสวนของตัวเอง ก็มีคนเข้าไปจับจองขอซื้อผลผลิตที่หมุนเวียนออกตามฤดูกาล ไม่ต้องเหนื่อยยากไปขายรองเท้าตามตลาดนัดอีกแล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีโรคระบาดไวรัส โควิด-19 ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อรายได้ของสองผัวเมียคู่นี้

แต่ก่อนจะไปเที่ยวชมสวน หรือเลือกซื้อผลผลิตหลากชนิด ก็ให้โทรศัพท์สอบถามล่วงหน้า ที่หมายเลข 081-062-6470 จะได้ไม่เสียเที่ยวกลับมามือเปล่า แต่สำหรับทุเรียน ผลหนักขนาด 4-5 กิโลกรัม ขณะนี้ ยังพอมีเหลือจากการจองให้ซื้อกลับไปกินได้ ราคาเพียงกิโลกรัมละ 150 บาท เท่านั้น ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ต้องเข้าไปตามฤดูกาลจะได้ผลไม้ที่สดใหม่จากต้นเลยทีเดียว

ผลผลิต
คุณชินวัต ทองปรีชา นายอำเภอสำโรง (ซ้าย)

ขณะที่ คุณชินวัต ทองปรีชา นายอำเภอสำโรง พร้อมเจ้าหน้าที่เกษตรที่เข้าเยี่ยมชมดูผลผลิตในสวนทุเรียนของพ่อสมัย กล่าวถึงผลสำเร็จของเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจนประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวมีชีวิตดีขึ้นว่า เป็นสวนทุเรียนเพียงแห่งเดียวของอำเภอในขณะนี้ ที่ปลูกบนดินทราย และเป็นทุเรียนที่มีลักษณะพิเศษต่างจากที่อื่นคือ เนื้อมีความหอม ออกรสหวาน แต่กลิ่นไม่ฉุน เนื้อแห้ง ราคาไม่แพง

ส่วนการต่อยอดขณะนี้ มีเกษตรกรรายอื่นที่อยู่ใกล้กับสวนพ่อสมัย และเห็นความสำเร็จได้เริ่มปลูกทุเรียนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่ง คุณสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้เกษตรอำเภอเข้าสนับสนุน เพื่อเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคไวรัส โควิด-19 ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

รสชาติดี
อร่อยครับ