มะละกอพันธุ์ ศรีสะเกษ 1 ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ

มะละกอ สามารถบริโภคได้ทั้งดิบและสุด โดยเฉพาะการบริโภคมาะกอดิบมีปริมาณมากถึง 80,000 ตัน ต่อปี มากกว่าการบริโภคแบบสุก ซึ่งมีปริมาณ 50,000 ตัน ต่อปี สำหรับมะละกอสุกมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมแปรรูปหลายชนิด เช่น บรรจุกระป๋องทำฟรุตสลัดแช่อิ่ม อบแห้ง เป็นต้น โดยผลผลิตมะละกอมากกว่าร้อยละ 90 ใช้บริโภคภายในประเทศ

ความต้องการบริโภค

มะละกอเพื่อการบริโภคสุกส่วนใหญ่ผู้บริโภคมีความต้องการมะละกอที่มีรสชาติหวาน เนื้อไม่เละ เนื้อสีแดงได้รับความนิยมกว่าเนื้อสีเหลือง สำหรับขนาดผลนั้น มีตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไป เช่น พันธุ์แขกดำ พันธุ์เรดเลดี้ พันธุ์ฮอลแลนด์ เป็นต้น ส่วนพันธุ์ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 1 กิโลกรัม เช่น พันธุ์ขอนแก่น 80 และพันธุ์ฮาวาย เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรปลูกเพื่อส่งตลาดต่างประเทศและตลาดเฉพาะ

สำหรับมะละกอเพื่ออุตสาหกรรมการแปรรูปเป็นพันธุ์ที่ใช้สำหรับการบริโภคสุก มีความต้องการเนื้อสีแดงและสีเหลือง น้ำหนักผลมากกว่า 0.8 กิโลกรัมขึ้นไป มีความหนาเนื้อ 2 เซนติเมตรขึ้นไป ซึ่งพันธุ์มะละกอบริโภคสุกและจำหน่ายในตลาดมีเพียงไม่กี่พันธุ์ ได้แก่ พันธุ์แขกดำ และพันธุ์ปลักไม้ลาย ดังนั้น การพัฒนามะละกอพันธุ์ใหม่สำหรับการบริโภคผลดิบและผลสุก รวมทั้งการเพิ่มลักษณะอื่นๆ เช่น ความต้านทานโรคจุดวงแหวน จะเป็นทางเลือกให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกมะละกอต่อไป

ในปัจจุบันมีการปรับปรุงพันธุ์มะละกอในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งจากวิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบมาตรฐาน การคัดเลือกพันธุ์โดยเกษตรกรผู้ปลูกมะละกอ และการปรับปรุงพันธุ์ด้วยวิธีการถ่ายยีนให้แก่ต้นพืช พันธุ์มะละกอที่นิยมมากในปัจจุบัน คือ กลุ่มโซโล ได้แก่ พันธุ์ ‘Sunrise’, ‘Kapoho’ และ ‘Waimanalo’ เป็นต้น เนื่องจากผลที่มีขนาดเล็กเหมาะสมบริโภคเพียงคนเดียว มะละกอในกลุ่มนี้จะมีค่า TSS 13-16 เปอร์เซ็นต์ และเป็นมะละกอที่มีความสำคัญต่อการส่งออกมาก

นอกจากมะละกอผลเล็กแล้ว ยังมีมะละกออีกกลุ่มซึ่งมีผลขนาดใหญ่ นิยมบริโภคในตลาดท้องถิ่น เนื่องจากผลมีขนาดใหญ่จึงไม่เหมาะในการส่งออก ซึ่งพบพันธุ์เหล่านี้ในกลุ่มประเทศอาเซียน ได้แก่ ‘Batu Arang’, ‘Subang 6’, ‘ Sitawan’ ของมาเลเซีย ‘แขกดำ’, ‘แขกนวล’, ‘โกโก้’ และ ‘สายน้ำผึ้ง’ ของไทย ‘Cavite Special’ ของฟิลิปปินส์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีพันธุ์มะละกอผลใหญ่ที่เป็นที่นิยมในส่วนต่างๆ ของโลก เช่น ‘Coorg Honey dew’, ‘Maradol’, ‘Red Lady#786’, ‘Tainung’ เป็นต้น โดยพันธุ์เหล่านี้มักจะมีรูปร่างผลทรงกระบอกหรือรูปยาวรี มีน้ำหนักผล 1-6 กิโลกรัม พันธุ์ ‘แขกดำ’ เป็นพันธุ์ที่นิยมมากในประเทศไทย เนื้อผลสุกสีแดง ผลขนาด 1.2 กิโลกรัม และค่า TSS 10.6 เปอร์เซ็นต์ สำหรับพันธุ์ ‘Honey dew’ ปรับปรุงพันธุ์โดย Indian Institute of Horticultural Research รูปร่างผลยาว น้ำหนัก 2-3.5 กิโลกรัม เนื้อสุกสีเหลือง ช่องว่างผลมาก

 

การปรับปรุงพันธุ์

กรมวิชาการเกษตร ได้ปรับปรุงพันธุ์มะละกอที่เหมาะสำหรับบริโภคสดและการแปรรูป คือ พันธุ์แขกดำศรีสะเกษ เนื้อสีแดง พันธุ์แขกดำท่าพระ เนื้อสีเหลือง และพันธุ์ขอนแก่น 80 ซึ่งเป็นมะละกอผลเล็ก เหมาะสำหรับบริโภคสุก ซึ่งปลูกเป็นการค้าอย่างแพร่หลายในหลายพื้นที่ของประเทศ

ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ มีวัตถุประสงค์ที่จะคัดเลือก มะละกอพันธุ์ที่จะคัดเลือกมะละกอพันธุ์แท้มาจากมะละกอลูกผสม ให้ผลผลิตสูงกกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษอย่างน้อยร้อยละ 10 คุณภาพดี เหมาะสำหรับการบริโภคสดและแปรรูป จึงได้มีการรวบรวมสายพันธุ์มะละกอจากแหล่งปลูกสายพันธุ์จากแหล่งปลูกต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตั้งแต่ปี 2530 จำนวน 33 สายพันธุ์ ปลูกคัดเลือกและผสมตัวเองจนกระทั่งเป็นสายพันธุ์แท้ หลังจากนั้นได้ผสมข้ามระหว่างสายพันธุ์แท้เหล่านี้ สร้างลูกผสมลูกที่ 1 (F1) ได้จำนวน 11 คู่ผสม และปลูกคัดเลือกลูกผสมในศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ในระหว่างปี 2543-2548

หลังจากนั้น ได้ปลูกรุ่นที่ 2 (F2) คัดเลือกลูกผสมที่มีลักษณะดี จำนวน20 สายพันธุ์ ผสมตัวเองเพื่อให้ได้มะละกอสายพันธุ์แท้ จนกระทั่งถึงรุ่นที่ 5 (F5) สามารถคัดเลือกได้มะละกอสายพันธุ์ดี จำนวน 8 สายพันธุ์ จึงได้นำมะละกอสายพันธุ์แท้เหล่านี้ปลูกเปรียบเทียบเพื่อทดสอบศักยภาพของสายพันธุ์ในด้านการเติบโต ผลผลิตและคุณภาพใน 3 สายพันธุ์ แหล่งปลูก ได้แก่ ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี

พบว่า มะละกอพันธุ์ VR05 ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ปากช่องกับแขกดำ มีจากเจริญเติบโตดีและผลผลิตสูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 30.8 กิโลกรัม ต่อต้น ในขณะที่พันธุ์แขกดำศรีสะเกษมให้ผลเฉลี่ย 27.5 กิโลกรัม ต่อต้น โดยแต่ละพันธุ์ VR05 มีลักษณะดังนี้ น้ำหนักผล 1.8 กิโลกรัม เนื้อสีส้มแดง ความหนาเนื้อ 3.34 เซนติเมตร ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้ (TSS) 10.4 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมะละกอสายพันธุ์ VR05 นี้ เป็นมะละกอสายพันธุ์ใหม่ที่เหมาะสำหรับบริโภคผลสดและแปรรูป

สถาบันวิจับพืชสวนได้นำข้อมูลการคัดเลือกพันธุ์เสนอคณะกรรมการวิจัยปรับปรุงพันธุ์พืช กรมวิชาการเกษตร และคณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเป็นพันธุ์แนะนำ เมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยให้ชื่อว่า มะละกอพันธุ์ศรีสะเกษ 1

ขั้นตอนการปรับปรุงพันธุ์

การผสมพันธุ์ ดำเนินการในปี พ.ศ. 2543-2548 ที่ศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างมะละกอพันธุ์ต่างๆ ได้มะละกอลูกผสม จำนวน 11 คู่ผสม นำเมล็ดมาเพาะและปลูกคัดเลือกรุ่นที่ 1 (F1) ในศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ เก็บเมล็ดในรุ่นที่ 2 (F2)

คัดเลือกพันธุ์ลูกผสม ดำเนินการในปี พ.ศ. 2550-2555 ปลูกคัดเลือกมะละกอ รุ่นที่ 2 ใช้ระยะ 2×2.5 เมตร โดยปลูกเป็นแถวเดียว บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ได้แก่ ความสูง เส้นผ่านศูนย์กลาง ทรงพุ่ม และเส้นรอบวงโคนต้น บันทึกข้อมูลผลผลิตและคุณภาพของผลมะละกอ ได้แก่ สีเนื้อ น้ำหนักผล จำนวนผลต่อต้น น้ำหนักผลต่อต้น เปอร์เซ็นต์ช่องว่าง ค่า TSS หรือความหวาน ความหนาของเนื้อ และข้อมูลอื่นๆ เช่น การเข้าทำลายของโรคแมลง คัดเลือกต้นที่มีลักษณะดี ผลผลิตสูง จำนวน 20 สายพันธุ์ เก็บเมล็ดพันธุ์แยกต้น และนำมาปลูกแบบต้นต่อแถว จนกระทั่งถึง รุ่นที่ 5 (F5) โดยใช้เกณฑ์ในการคัดเลือกพันธุ์ ดังนี้

1.รูปร่างผลเรียวยาวหรือรูปทรงกระบอก

2.ความหนาเนื้อมากกว่า 2.5 เซนติเมตร

3.ช่องว่างภายในผลแคบน้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ โดยปริมาตร

4.เนื้อสุกสีเข้ม เช่น แดง ส้มแดง

5.รสชาติหวาน มีค่า TSS (ปริมาณของแข็งที่ละลายน้ำได้) มากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์

สามารถคัดเลือกได้มะละกอสายพันธุ์ดี ในปี พ.ศ. 2555 จำนวน 8 สายพันธุ์

ทดสอบปพันธุ์ในแหล่งปลูกต่างๆ ดำเนินการในปี พ.ศ. 2557-2558 ทดสอบพันธุ์ที่คัดเลือกได้ในพื้นที่ต่างๆ 3 แห่ง ได้แก่ แปลงทดลองของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี วางแผนการทดลองแบบ RCB มี 3 ซ้ำ 9 กรรมวิธี กรรมวิธีประกอบด้วยมะละกอที่คัดเลือกไว้ในปี พ.ศ. 2555 จำนวน 8 สายพันธุ์ และพันธุ์เปรียบเทียบ 1 พันธุ์ คือ แขกดำศรีสะเกษ ใช้ระยะปลูก 2×2.5 เมตร บันทึกข้อมูลการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพการผลิต

จากการปลูกทดสอบทั้ง 3 แหล่ง พบว่า มะละกอสายพันธุ์ VR05 ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นสูง โดยมีผลผลิตเฉลี่ย 2 ปี เท่ากับ 30.8 กิโลกรัม ต่อต้น สูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบ ผลผลิต 2 ปี เท่ากับ 27.5 กิโลกรัม ต่อต้น หรือสูงกว่าร้อยละ 12 ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม รสชาติหวาน เหมาะให้เกษตรกรปลูกสำหรับบริโภคสุกและส่งตลาดในประเทศ เนื้อหนาเฉลี่ย 3.34 เซนติเมตร เหมาะจะใช้แปรรูปในโรงงานผลไม้กระป๋อง

 

ลักษณะประจำพันธุ์

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ : การเจริญเติบโตเป็นต้นเดี่ยว ความสูงต้นเมื่อผลแรกสุก 135.5 เซนติเมตร ความกว้างทรงพุ่ม 152 เซนติเมตร ความยาวแผ่นใบ 73.0 เซนติเมตร ความกว้างแผ่นใบ 75.0 เซนติเมตร ดอกสีขาวครีม มีกลีบดอก 5 กลีบ ทรงผลรูปแท่ง ผิวผลเมื่อสุกสีส้มเหลือง เนื้อสุกสีส้มแดง

ลักษณะทางการเกษตร : ดอกแรกบานหลังปลูกเฉลี่ย 122 วัน อายุเก็บเกี่ยวหลังดอกบาน 153 วัน น้ำหนักผลเฉลี่ย 1.8 กิโลกรัม ความยาวผลเฉลี่ย 32.9 เซนติเมตร ความกว้างผลเฉลี่ย 11.4 เซนติเมตร ความหนาเนื้อเฉลี่ย 3.34 เซนติเมตร ความหวาน หรือ TSS 10.4 เปอร์เซ็นต์ จำนวนผลต่อต้น เฉลี่ย 17.3 และผลผลิตเฉลี่ย 30.8 กิโลกรัม ต่อต้น

ลักษณะเด่น : ให้ผลผลิตสูง 30.8 กิโลกรัม ต่อต้น สูงกว่าพันธุ์แขกดำศรีสะเกษ ซึ่งเป็นพันธุ์เปรียบเทียบร้อยละ 12 ผลมีขนาดใหญ่ น้ำหนักผล 1.8 กิโลกรัม เนื้อหนา 3.34 เซนติเมตร เหมาะสำหรับบริโภคสดและแปรรูป

พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม : ปลูกได้ดีในพื้นที่ทั่วไปที่มีการปลูกมะละกอ โดยเฉพาะดินร่วนปนทราย ไม่เหมาะที่จะปลูกในพื้นที่ลุ่มต่ำ ดินระบายน้ำไม่ดี

(คณะศูนย์วิจัยประกอบด้วย : นางสาวรัชนี ศิริยาน, นายธวัชชัย นิ่มกิ่งรัตน์, นางสาวสุภาวดี สมภาค และ นางสาวณัฐนดา โสพิลา ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาญจนบุรี/นายสุพัฒธณกิจ โพธิ์สว่าง ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่/นายเพียงพนธ์ วานิช ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนครราชศรีมา/นายอุดม คำชา, นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ, นายอุทัย นพคุณวงศ์, นางวิไล ปราสาทศรี, นายประเสริฐ อนุพันธ์ และนายสกล พรมพันธ์ ข้าราชการบำนาญ)

 

ที่มา : น.ส.พ. กสิกร