เกษตรกรแม่ใจปลูกงาขี้ม้อน (มน) ตำคลุกข้าวเหนียวกินคลายหนาว ผลผลิตขายลิตรละ 100 บาท

จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดหนึ่งของภาคเหนือที่มีการปลูกงาในช่วงฤดูหนาวขาย เพราะผู้คนนิยมนำไปประกอบอาหารและประกอบการทำขนมต่างๆ กิน เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง โดยเฉพาะหน้าหนาว ชาวบ้านจะทำการปลูกงามน เพื่อนำออกจำหน่ายกันทั้งหมู่บ้าน โดยที่ชาวบ้าน ทุ่งป่าข่า หมู่ที่ 6 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ก็เป็นหมู่บ้านหนึ่ง ที่มีการปลูกงามน (ไม่ใช่งาดำหรืองาขาว) ซึ่งเป็นงาที่ใช้นำมาประกอบผสมทำเป็นขนมและนำมาตำคลุกข้าวเหนียวปั้นเป็นก้อนกิน โดยเฉพาะช่วงหน้าหนาวนี้ เชื่อว่างามนมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้ร่างกายแข็งแรงอีกด้วย

คุณคำแดง โสยะโน เกษตรกรผู้ปลูกงาขี้ม้อนหรืองามน

งาขี้ม้อน ชื่อสามัญ Perilla ชื่อวิทยาศาสตร์ Perilla frutescens (L.) Britton (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Ocimum frutescens L.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)

งาขี้ม้อน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า งามน (แม่ฮ่องสอน), งาขี้ม้อน งาปุก (คนเมือง), แง (กาญจนบุรี), นอ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน, กะเหรี่ยงเชียงใหม่), น่อง (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ง้า (ลัวะ), งาเจียง (ลาว), งาม้อน เป็นต้น

งาที่ตากไว้

ลักษณะของงาขี้ม้อน ต้นงาขี้ม้อน จัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ล้มลุก มีความสูงของต้นประมาณ 1-2 เมตร ลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งก้านสาขา ต้นมีกลิ่นหอม เป็นสันสี่เหลี่ยมมนๆ และระหว่างเหลี่ยมเป็นร่องตามยาว มีขนยาวละเอียดสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น เมื่อโตเต็มที่โคนต้นจะเกลี้ยง โคนต้นและโคนกิ่งจะแข็ง

ใบงาขี้ม้อน ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปไข่ถึงรูปไข่กว้าง หรือรูปกลม ปลายใบเรียวแหลมหรือแหลมเป็นติ่งยาว โคนใบกลม ป้าน หรือตัด ส่วนขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ใบมีความกว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-10 เซนติเมตร ใบเป็นสีเขียวอ่อน ท้องใบมีสีอ่อนกว่าหลังใบ แผ่นใบมีขนนุ่มสีขาวทั้งสองด้าน ตามเส้นใบมีขนอยู่หนาแน่น ท้องใบมีต่อมน้ำมัน ส่วนก้านใบยาวประมาณ 10-45 มิลลิเมตร และมีขนยาวขึ้นหนาแน่น

การนวดงาโดยใช้ไม้ตีเมล็ดก็ร่วงลงภาชนะรองรับ

ดอกงาขี้ม้อน ออกดอกเป็นช่อกระจะตามง่ามใบและที่ปลายกิ่ง แต่ละช่อมีดอกย่อยจำนวนมาก ริ้วประดับดอกย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ มีขนาดกว้างประมาณ 2.5-3.2 มิลลิเมตร และยาวประมาณ 3-4 มิลลิเมตร และไม่มีก้าน โคนริ้วประดับมีลักษณะกลมกว้าง ขอบเรียบ และมีขน ส่วนปลายเรียวแหลม ส่วนดอกย่อยจะมีความยาวประมาณ 1.5 มิลลิเมตร มีขนสีขาวขึ้นปกคลุมอยู่หนาแน่น กลีบดอกเป็นสีขาวเชื่อมติดกันเป็นหลอดทรงกระบอก ที่ปลายแยกเป็นปาก ยาวประมาณ 3.5-4 มิลลิเมตร ด้านนอกกลีบดอกมีขน ส่วนด้านในมีขนเรียงเป็นวงอยู่กึ่งกลางหลอด ปากบนปลายมีลักษณะเว้าเล็กน้อย ส่วนปากล่างมีหยัก 3 หยัก ปลายมนหยักกลางใหญ่กว่าหยักอื่นๆ โดยเฉพาะหยักนี้ด้านในจะมีขน

เมื่อดอกบานกลีบนี้จะกางออก ดอกมีเกสรเพศผู้ 4 อัน เรียงเป็นคู่ๆ โดยคู่บนจะสั้นกว่าคู่ล่างเล็กน้อย ก้านเกสรมีลักษณะเกลี้ยง ส่วนอับเรณูมีพู 2 พู ด้านบนติดกัน ส่วนด้านล่างกางออก จานดอกเห็นได้ชัดเจน มีรังไข่ยาวประมาณ 3 มิลลิเมตร และมีพูกลมๆ 4 พู ส่วนก้านเกสรเพศเมียจะยาวประมาณ 2.6-3 มิลลิเมตร ที่ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉกและไม่มีขน ส่วนกลีบเลี้ยงดอกเชื่อมติดกันเป็นรูประฆัง ยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ปลายแยกเป็นแฉกแหลม 5 แฉก แฉกกลางด้านบนจะสั้นกว่าแฉกอื่นๆ มีเส้นตามยาว 10 เส้น ด้านนอกมีขนและมีต่อมน้ำมัน ส่วนด้านในมีขนยาวเรียงเป็นวงรอบปากหลอด เมื่อดอกเจริญไปเป็นผลแล้ว กลีบเลี้ยงจะมีขนาดใหญ่ขึ้น

ฝัดด้วยกระด้ง

ผลงาขี้ม้อน ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่กลับขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร ผลแข็งเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทาและมีลายเป็นรูปตาข่าย ผลเป็นผลแห้ง ไม่แตก ภายในผลมีเมล็ดขนาดเล็กสีดำหรือสีน้ำตาลเข้ม เมล็ดมีลักษณะกลม

มีรายงานการสำรวจการปลูกงาขี้ม้อนทางภาคเหนือตอนบนพบว่า มีการปลูกกระจายทั่วไปในพื้นที่ดอนเชิงเขา ผลจากการสำรวจแหล่งปลูกทั้งหมด 10 แห่ง พบว่าต้นงาขี้ม้อนมีทั้งหมด 130 สายพันธุ์ ซึ่งมีทั้งเมล็ดขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และมีสีที่ต่างกัน ตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน สีน้ำตาลไหม้ สีเทาเข้ม สีเทาอ่อนไปจนถึงสีขาว โดยการปลูกงาขี้ม้อนทั่วไปจะปลูกกันในพื้นที่ดอนและอาศัยน้ำฝน

งาที่ทำความสะอาดแล้วมาตากแดดอีกครั้งก่อนเก็บหรือจำหน่าย

สรรพคุณของงาขี้ม้อน เมล็ดหรือน้ำมันสกัดจากเมล็ดใช้กินเป็นยาชูกำลัง โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าเย็น เมล็ดช่วยลดไขมันในเลือด โดยใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าเย็น ช่วยทำให้ร่างกายอบอุ่น ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่ม9voเช้า ใบและยอดอ่อนช่วยแก้อาการไอ แก้หวัด ช่วยแก้อาการท้องผูก ด้วยการใช้เมล็ดงาขี้ม้อน 1 ช้อนชา นำมาชงกับน้ำดื่มเช้าเย็น ช่วยในการย่อยอาหาร น้ำมันจากเมล็ดนำมาทอดผสมกับเหง้าไพล ใช้เป็นยาแก้อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบสดช่วยแก้อาการเคล็ดขัดยอกได้ เมล็ดนำมาบีบเอาน้ำมันใช้เป็นยาทานวด แก้อาการปวดขัดข้อกระดูก เมล็ดนำมาตำใช้เป็นยาประคบแก้อาการข้อพลิก

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของงาขี้ม้อน

น้ำมันงาขี้ม้อน มีโอเมก้า 3 สูงถึงร้อยละ 56 และเป็นโอเมก้า 6 อีกร้อยละ 23 โดยมีข้อมูลที่ระบุว่างาขี้ม้อนเป็นพืชเพียงชนิดเดียวที่มีโอเมก้า 3 และยังมีปริมาณของโอเมก้า 3 มากกว่าน้ำมันปลาจากปลาทะเลน้ำลึกหลายเท่าตัว เพราะปลาแซลมอนอบขนาด 85.05 กรัม จะมีโอเมก้า 3 เพียง 2 มิลลิกรัม หรือคิดเป็นร้อยละ 2.35 เท่านั้น โดยจากการสุ่มตัวอย่างงาขี้ม้อนที่กำลังพัฒนาพันธุ์จำนวน 4 สายพันธุ์ ไปที่ห้องปฏิบัติการเพื่อทำการวิเคราะห์ปริมาณน้ำมัน พบว่ามีปริมาณน้ำมันรวม 43-44% และเป็นโอเมก้า 3 11-15% ส่วนเมล็ดงาขี้ม้อนสีขาวขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำมันรวม 43.1% เป็นโอเมก้า 3 15.01%, เมล็ดงาขี้ม้อนสีน้ำตาลเข้มขนาดเล็กมีปริมาณน้ำมันรวม 52.02% เป็นโอเมก้า 3 11.08%, เมล็ดงาขี้ม้อนสีเทาอ่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำมันรวมมากที่สุด 55.83% เป็นโอเมก้า 3 12.73% ซึ่งจะแตกต่างกันไปตามแหล่งที่ปลูกหรือสายพันธุ์ที่ปลูก

ประโยชน์ของงาขี้ม้อน ใบงาขี้ม้อนสามารถใช้กินเป็นผักสดได้ โดยนำมาห่อข้าว เนื้อย่าง หมูย่าง ห่ออาหารประเภทเมี่ยงปลา หรือใช้เป็นผักแนม หรือใช้กินร่วมกับอาหารประเภทยำ ก็จะได้กลิ่นหอม รสซ่าคล้ายรสมินต์ และใช้ใส่ในซุปกระดูกหมู เมล็ดนำไปคั่วแล้วตำ ใช้กินโดยการนำไปคลุกกับข้าวเหนียว หรือจะนำเมล็ดไปคั่วใส่ในน้ำพริก หรือใช้ตำแล้วคลุกกับข้าวเหนียวกิน หรือจะนำไปคั่วแล้วตำผสมกับข้าวเหนียวผสมเกลือ หรือใช้ทำขนมก็ได้ (เรียกว่าข้าวหนุกงา)

บรรจุในถุงพลาสติกพร้อมเก็บหรือจำหน่ายต่อไป

ใบงาขี้ม้อนเป็นอาหารราคาแพงของเกาหลี นอกจากจะสกัดเอาน้ำมันจากเมล็ดแล้วยังสามารถสกัดเอาน้ำมันจากใบสดได้อีกด้วย โดยน้ำมันที่สกัดได้จากใบสดสามารถใช้เป็นน้ำมันหอมระเหย (Volatile Oil) ที่เป็นสารประเภท Aldehyde ที่เรียกว่า Perilla aldehyde ใบและยอดอ่อนใช้แต่งรสอาหารได้ และในญี่ปุ่นจะใช้เป็นสารแต่งรสชาติ Isomoer ของ Perrilla aldehyde ใช้เป็นสารแต่งกลิ่นอาหาร น้ำมันหอมระเหยที่ได้จากใบงาขี้ม้อนสดมีราคาถูกกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำมันกุหลาบ และยังมีประสิทธิภาพที่สามารถนำมาใช้ทดแทนน้ำมันหอมระเหยจากกุหลาบในอุตสาหกรรมเครื่องหอมอีกด้วย

น้ำมันหอมระเหยจากใบสดสามารถใช้ลดริ้วรอยบนใบหน้าและบำรุงผิวหน้าได้ น้ำมันสกัดจากเมล็ดสามารถนำมาใช้เป็นอาหารและใช้ทำยาได้ งาขี้ม้อนอุดมไปด้วยวิตามินบี ธาตุฟอสฟอรัส และธาตุแคลเซียมสูงกว่าพืชผักทั่วไปหลายเท่านัก โดยมีปริมาณแคลเซียมประมาณ 410-485 มิลลิกรัม ต่อ 100 กรัม (คนทั่วไปต้องการแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม) งาขี้ม้อนยังมีสารเซซามอล (Sesamol) ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันโรคมะเร็งและช่วยทำให้ร่างกายแก่ช้าลงอีกด้วย งาขี้ม้อนมีกรดไขมันอิ่มตัวสูง โดยกรดชนิดนี้มีประโยชน์อยู่หลายอย่าง เช่น ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลไม่ให้มีมากจนเกินไป ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว ป้องกันโรคหัวใจและโรคที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดบางชนิด และยังช่วยแก้อาการไม่สบายต่างๆ ที่เกิดจากระบบประสาท เช่น อาการนอนไม่หลับ เบื่ออาหาร เมื่อยสายตา อ่อนเปลี้ยเพลียแรง เป็นเหน็บชา มีอาการปวดเส้นตามตัว แขนหรือขา ปัจจุบันมีสินค้าแปรรูปจากงาขี้ม้อนหลายรูปแบบ เช่น ขนมงา งาคั่ว งาขี้ม้อนแผ่น ข้าวหลามงาขี้ม้อน คุกกี้งาขี้ม้อน ชางาขี้ม้อนป่น รวมไปถึงเครื่องสำอางบำรุงผิว เป็นต้น

คุณคำแดง โสยะโน อายุ 62 ปี บ้านเลขที่ 32 หมู่ที่ 6 บ้านทุ่งป่าข่า ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ในหมู่บ้านทุ่งป่าข่าจะมีการปลูกงาขี้ม้อนหรืองามน เกือบทุกบ้าน เพราะการปลูกและการดูแลประมาณ 4 เดือนก็ได้ผลผลิตนำออกขายได้ราคา โดยจะขายลิตรละ 100 บาท หรือขายเป็นถุงเล็ก 20 บาท ถุงใหญ่ 50 บาท ซึ่งงาขี้ม้อนหรืองามน จะใช้ในการนำมาประกอบอาหารหรือขนม สำหรับเมนูที่คนทางเหนือนิยมชมชอบกันก็จะนำมาตำแล้วคลุกกับข้าวเหนียว และน้ำตาลหรือน้ำอ้อยกิน โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวมีรสชาติอร่อยทำให้ร่างกายอบอุ่นแข็งแรง

วิธีการปลูกงาขี้ม้อนหรืองามน เหมือนปลูกพืชทั่วไป ประมาณ 4 เดือนก็จะออกเมล็ด หลังจากนั้น ก็ทำการเก็บเกี่ยวนำมามัดตากจนแห้งแล้วนำมาเคาะตีเอาเมล็ดออกแล้วนำมาฟัดด้วยกระด้งเอาเศษใบออกทิ้ง จนเหลือเมล็ดงา แล้วมานำล้างน้ำสะอาด และตากแดดจนแห้งสนิท บรรจุถุงพลาสติก พร้อมนำไปกินได้หรือเก็บไว้ขายตามท้องตลาด รวมทั้งมีคนมารับซื้อถึงที่บ้าน หากมีผู้ใดต้องการ สอบถามหรือสั่งซื้อสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทร. (086) 124-9693