โรงเรียน ตชด. บ้านแพรกตะคร้อ หัวหิน สร้างความสุข ผ่านห้องเรียนธรรมชาติ

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ตั้งอยู่ที่ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แม้จะเป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ท่องเที่ยว แต่ไม่ได้มีความเจริญในวัตถุไปตามสถานที่ท่องเที่ยว เพราะเด็กนักเรียนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นกะหร่าง จำนวนหนึ่งไร้สัญชาติ และที่ตั้งของโรงเรียนอยู่ห่างจากอำเภอหัวหินเกือบ 100 กิโลเมตร

ร.ต.ท. ประดิษฐ์ อะละมาลา ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ

โครงการตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน มีทั้งหมด 216 แห่ง และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

ร.ต.ท. ประดิษฐ์ อะละมาลา ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ กล่าวว่า นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวกะหร่าง มีสัญชาติไทยเป็นส่วนน้อย เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สีชมพู ไม่มีแม้แต่โรงเรียนจะให้เด็กศึกษาเล่าเรียน กระทั่งปี พ.ศ. 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยม โรงเรียน ตชด. นเรศวร บ้านห้วยผึ้ง ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยราษฎรบ้านแพรกตะคร้อได้ยื่นถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และด้านสุขภาพอนามัยแก่เด็กและราษฎร

“พระองค์มีพระราชกระแสให้ครูใหญ่ โรงเรียน ตชด. นเรศวร บ้านห้วยผึ้ง ดูแลและให้การช่วยเหลือ โดยมีกองกำกับการ ตชด. ที่ 14 รับสนองพระราชกระแส และได้อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียน เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2542 ตอนนั้นมีการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 2-ประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 265 คน ครู ตชด. 9 นาย ผู้ดูแลเด็ก 2 คน ครูคู่พัฒนา 1 คน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการสุขศาลาพระราชทาน 1 คน”

โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีวิชาความรู้ ต่อมาจึงมีการฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นในด้านอาชีพ, เกษตรกรรม และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง โดยดำเนินการผ่านโครงการพระราชดำริ ซึ่งครูจะต้องเป็นแกนกลางในการถ่ายทอดความรู้ ที่สำคัญครู ตชด. จะต้องเป็นมากกว่าครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว เพราะจะต้องมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา และผ่านการอบรมความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง

ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ กล่าวด้วยว่า ที่นี่เด็กนักเรียนจะได้เรียนรู้ ลงมือปฏิบัติจริง เป็นการเรียนรู้เพื่อนำกลับไปใช้ที่บ้าน เมื่อเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็สามารถนำไปใช้ได้ ทั้งนี้กิจกรรมหลักๆ ที่เกี่ยวกับการทำการเกษตร ได้แก่ การปลูกพืชผักสวนครัวระยะสั้น การปลูกไม้ผล เช่น มะละกอ กล้วยน้ำว้า แก้วมังกร รวมถึงพืชตระกูลถั่ว การเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ซึ่งทั้งหมดเมื่อได้ผลผลิตแล้วจะนำไปสนับสนุนการประกอบอาหารกลางวันของนักเรียน ซึ่งจะให้ได้ตามจำนวนเมนูของเด็กนักเรียนต่อคนต่อมื้อ ส่วนที่เหลือจากการประกอบอาหารจะให้เด็กนักเรียนนำกลับไปประกอบอาหารรับประทานที่บ้าน เป็นการสร้างนิสัยที่ดี ขยัน และรับผิดชอบให้เด็ก

ด.ต. มานิตย์ นาน้อย ผู้ช่วยครูใหญ่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ กล่าวว่า เราจะเริ่มฝึกและให้ความรู้กับเด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยพาเด็กๆ ลงแปลงเกษตร แปลงไม้ผล เป็นประจำทุกวัน เป็นการย้ำคิด ย้ำทำ เพื่อให้เด็กเกิดความเคยชิน โดยที่เด็กไม่รู้ตัว

“ก่อนพาเด็กลงแปลง ต้องดูหน้างานในตอนนั้นก่อน ว่าเป็นฤดูอะไร ถ้าฝนตก น้ำเยอะ ตอนนั้นก็จะพาลงแปลงเกษตร เพราะเราจะปลูกพืชที่ใช้น้ำเยอะ ปลูกผักได้มาก แต่ถ้าเป็นฤดูแล้ง จะปลูกพืชน้ำน้อยและพืชตระกูลถั่ว พืชไม้เลื้อย เช่น ถั่วอีโต้แดง ฟักข้าว ซึ่งซุ้มร้านจะใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ทำเอง เราเป็นครู ต้องทำให้เด็กดูก่อน จากนั้นให้เด็กลงมือทำไปพร้อมๆ กับเรา เด็กจะรู้เองว่าในวันข้างหน้าเขาจะได้รับอะไรไปบ้าง สิ่งเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปตลอด

ด.ต. มานิตย์ บอกด้วยว่า การปลูกพืชไว้เป็นวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันในโรงเรียน เป็นความปลอดภัยจากสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย จะเลี่ยงการซื้อผักจากตลาด เพราะไม่รู้ที่มาที่ไปของผักนั้นๆ เราใช้ผักที่เด็กปลูกเอง เพราะใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ ที่เด็กทำขึ้นเอง มั่นใจได้ว่าไม่มีสารปนเปื้อน ทั้งนี้ การสอนเด็กให้ทำเกษตรในโรงเรียนจะเน้นการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน แรกๆ เด็กอาจไม่รู้ว่าปลูกแบบนี้เพื่ออะไร เพราะไม่มีการสอนทฤษฎีในห้องเรียน แต่จะให้เด็กเรียนรู้จากการลงแปลงด้วยตนเอง ผมเรียกที่นี่ว่า ห้องเรียนธรรมชาติ

ผู้ช่วยครูใหญ่ท่านนี้ ผู้เป็นหลักในการประกอบกิจกรรมการเกษตรกับเด็กนักเรียนทุกระดับชั้น ผู้ช่วยครูใหญ่ เล่าด้วยความชื่นใจว่า กิจกรรมเกษตรภายในโรงเรียน เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ทำให้ชาวบ้านใกล้เคียงให้ความสำคัญ ยกให้โรงเรียนเป็นศูนย์เรียนรู้ชั้นดี ผู้ปกครองหรือประชาชนในชุมชนที่เข้ามาในโรงเรียน ก็จะเดินดูและศึกษากิจกรรมแต่ละกิจกรรม หรือผู้ปกครองบางรายอ่านหนังสือไม่ออก โรงเรียนก็ทำภาพหรือแผนผังไว้ให้ดู ผู้ปกครองก็จะสอบถามกับบุตรหลานได้

ปัจจุบัน เด็กนักเรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากโรงเรียนกลับไปถ่ายทอดให้กับครอบครัวและชุมชนได้เป็นอย่างดี