เกษตรกรรุ่นใหม่ อำเภอย่านตาขาว ควบคุมหนอนเจาะผลทุเรียนได้สำเร็จ ด้วยวิธีการห่อผล

อำเภอย่านตาขาว เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดตรัง ที่มีพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากทิศตะวันออกของอำเภอย่านตาขาว คือตำบลนาชุมเห็ด และตำบลโพรงจระเข้ อยู่ติดเทือกเขาบรรทัด ซึ่งลักษณะภูมิอากาศมีความชื้นสูงเหมาะแก่การปลูกไม้ผล เช่น มังคุด เงาะ ลองกอง ทุเรียน ฯลฯ

“ทุเรียน” ได้รับฉายาว่าเป็นราชาแห่งผลไม้ (King of fruits) เป็นไม้ผลยืนต้นขนาดใหญ่ ความต้องการบริโภคทุเรียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการบริโภคส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปผลสด ในปีการผลิต 2563 มีการบริโภคภายในประเทศ 339,900 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ร้อยละ 3.39 และคาดว่าในปีการผลิต 2564 ปริมาณความต้องการบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้น และมีราคาสูงขึ้น ซึ่งขั้นต่ำของราคาทุเรียนอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 บาท

วิธีการห่อผลทุเรียน ของ นายสุรเชษฐ เส็นฤทธิ์

คุณสุรเชษฐ เส็นฤทธิ์ บ้านเลขที่ 61 หมู่ที่ 5 ตำบลโพรงจระเข้ อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง  (x = 583065 Y = 819617) เกษตรกรรุ่นใหม่ วัย 36 ปี จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะทรัพยากรธรรมการ สาขาวาริชศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2551 จึงเลือกประกอบอาชีพให้ตรงกับที่ได้ศึกษามา โดยเริ่มอาชีพด้วยการรับจ้างเลี้ยงกุ้งที่อำเภอหาดสำราญ จังหวัดตรัง เป็นเวลาประมาณ 3 ปี รายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่าย ประกอบกับทางบ้านไม่มีผู้ดูแลสวนยางพาราและไม้ผล จึงตัดสินใจกลับบ้านประกอบอาชีพกรีดยางพารา จำนวน 7 ไร่ อายุประมาณ 15 ปี และสวนทุเรียนประมาณ 2 ไร่ อายุประมาณ 9 ปี

คุณสุรเชษฐ เส็นฤทธิ์ และอุปกรณ์สำหรับการห่อผลทุเรียน

เมื่อปี 2560 ประสบปัญหาการระบาดของหนอนเจาะผลทุเรียนเป็นอย่างมาก ทำให้ผลผลิตเสียหายร้อยละ 60-70 ซึ่งหนอนเจาะผลทุเรียน มักพบการเข้าทำลายในช่วงที่เก็บผลผลิตทุเรียนรุ่นแรกและผลทุเรียนรุ่นที่ 2 ที่อยู่ในระยะเจริญเติบโต จะพบการเข้าทำลายตั้งแต่ผลทุเรียนยังเล็กอายุประมาณ 2 เดือน จนกระทั่งผลโตเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ทำให้ผลทุเรียนเป็นแผล ผลอาจเน่าและร่วงเนื่องจากเชื้อราเข้าทำลายซ้ำ หากหนอนเจาะกินเข้าไปจนถึงเนื้อผล จะทำให้บริเวณนั้นเน่าเมื่อผลสุก โดยจะสังเกตเห็นมูลและรังของหนอนได้อย่างชัดเจนที่บริเวณเปลือกผลทุเรียน มีน้ำไหลเยิ้มเมื่อผลทุเรียนใกล้แก่ หนอนจะเข้าทำลายผลทุเรียนที่อยู่ชิดติดกันมากกว่าผลที่อยู่เดี่ยวๆ เพราะผีเสื้อตัวเต็มวัยชอบวางไข่ในบริเวณรอยสัมผัสนี้ ถ้าผลทุเรียนที่มีรอยแมลงทำลายจะขายไม่ได้ราคา

ผลการห่อผลทุเรียนด้วยถุงพลาสติกที่มีขนาดใหญ่

วงจรชีวิต
– ระยะไข่ ผีเสื้อเพศเมียจะวางไข่ไว้ภายนอกผลทุเรียนไข่ ใช้เวลาประมาณ 4 วัน จะฟักเป็นตัวหนอน

– ระยะหนอน หนอนฟักจากไข่ใหม่ๆ มีสีขาว หัวสีน้ำตาล จะแทะกินผิวเปลือกผลทุเรียนก่อน เมื่อโตขึ้นจะเจาะกินเข้าไปภายในผล ตัวหนอนสีเทาอมชมพู มีจุดสีดำอยู่ตลอดทั้งลำตัว หนอนโตเต็มที่มีขนาดยาวประมาณ 1.5-1.8 เซนติเมตร เมื่อเลี้ยงด้วยผลละหุ่ง ระยะหนอนกินเวลา 12-13 วัน

– ระยะดักแด้ หลังจากหนอนเจริญเต็มที่แล้วจะเข้าดักแด้อยู่ระหว่างหนามของผลทุเรียน โดยมีใยและมูลของหนอนหุ้มตัว ระยะดักแด้ 7-9 วัน หลังจากนั้นก็ออกเป็นผีเสื้อ

การเข้าทำลายของหนอนเจาะผล เนื่องจากการใช้ถุงพลาสติกขนาดเล็ก

– ระยะตัวเต็มวัย ผีเสื้อเพศผู้มีชีวิตอยู่ได้ 10-18 วัน และเพศเมียมีอายุ 14-18 วัน เมื่อกางปีกกว้าง ประมาณ 2.3 เซนติเมตร ปีกทั้งสองคู่มีสีเหลือง มีจุดสีดำกระจายอยู่ทั่วปีก เพศเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ 100-200 ฟอง

ลักษณะการเข้าทำลายของหนอนเจาะผลทุเรียน โดยผีเสื้อจะวางไข่เป็นฟองเดี่ยวๆ บริเวณหนามทุเรียนใกล้ขั้วผล ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะเจาะไชเข้าไปภายในผล และอาศัยกัดกินอยู่ภายในเมล็ด โดยปราศจากร่องรอยของการทำลายผิวผลภายนอกให้เห็น จนกระทั่งตัวหนอนโตเต็มที่ มีขนาดยาวประมาณ 4 เซนติเมตร ก็จะเจาะผลทุเรียนออกมาเข้าดักแด้ ในดินที่ชื้นนาน 1-9 เดือน จึงฟักออกมาเป็นตัวเต็มวัย ดักแด้อาจมีอายุนานกว่านั้น ในกรณีที่มีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม แต่ถ้ามีฝนตกหนักจะช่วยกระตุ้นให้ออกเป็นตัวเต็มวัยเร็วขึ้น

เกษตรอำเภอย่านตาขาว สาธิตการห่อผลทุเรียนด้วยถุงพลาสติกขนาดเล็ก

ปีการผลิต 2562 คุณสุรเชษฐ เริ่มแก้ปัญหาโดยการห่อผลทุเรียนด้วยถุงพลาสติก ขณะที่ผลทุเรียนอายุประมาณ 2 เดือน เมื่อผลทุเรียนโตขึ้นทำให้ถุงพลาสติกฉีกขาด ส่งผลให้หนอนสามารถเข้าทำลายผลทุเรียนได้อีก ทำให้ผลผลิตเสียหาย ร้อยละ 25-30

ปีการผลิต 2563 สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว ได้แนะนำให้ใช้ถุงพลาสติกที่มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยห่อขณะที่ผลทุเรียนอายุประมาณ 2 เดือน และให้เกษตรกรสำรวจแปลงทุเรียนอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียนได้ถึงร้อยละ 95 จำหน่ายกิโลกรัมละ 120 บาท สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร 24,000 บาท/ต้น

ต่อมาในปีการผลิต 2564 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 5 จังหวัดสงขลา ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง และสำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว ได้มีการสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับห่อผลทุเรียน ดังนี้

เกษตรอำเภอย่านตาขาว ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและติดตามการห่อผลทุเรียน
  1. วัสดุห่อผลแบบกระตุกเชือก ขนาดวงห่อ 6 นิ้ว พร้อมด้าม จำนวน 1 อัน
  2. ถุงห่อผลไม้ไฮเดนขุ่น ขนาด 16×16 นิ้ว จำนวน 3 กิโลกรัม และยางวง 0.5 กิโลกรัม

คุณสุรเชษฐ กล่าวว่า ในช่วงที่ตนอายุยังน้อยตนจะห่อผลทุเรียนต่อไป เนื่องจากการห่อผลทุเรียนด้วยถุงพลาสติก ในขณะที่ผลทุเรียนอายุประมาณ 2 เดือน สามารถควบคุมหนอนเจาะผลได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ และเป็นวิธีการที่สามารถควบคุมหนอนเจาะผลทุเรียนได้ในขั้นตอนเดียว โดยไม่ต้องใช้สารเคมี ผลผลิตทุเรียนจำหน่ายให้แก่เพื่อนบ้านบริเวณใกล้เคียงและต่างจังหวัด ซึ่งยอดการจองทุเรียนในขณะนี้ทะลุ ไปปีการผลิต 2565 ผลจากสำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว ได้ลงพื้นที่และประชาสัมพันธ์ผ่านทางเฟซบุ๊กของสำนักงาน ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าสวนทุเรียนของตนไร้สารเคมีอย่างแน่นอน

เกษตรตำบล ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและติดตามการห่อผลทุเรียน

ล่าสุด คุณอำนาจ เซ่งเซี่ยง เกษตรอำเภอย่านตาขาว พร้อมด้วย คุณแพรวพรรณ ทองพิทักษ์ เกษตรตำบลโพรงจระเข้ ได้ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและให้คำแนะนำ พร้อมทั้งให้กำลังใจในการทำงานด้านการเกษตรของ คุณสุรเชษฐ เส็นฤทธิ์ เพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรบริเวณใกล้เคียง และต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป

ติดต่อสอบถามรายเอียดเพิ่มเติมในด้านของการควบคุมหนอนเจาะผลทุเรียนด้วยวิธีการห่อผลได้ที่ คุณสุรเชษฐ เส็นฤทธิ์ เบอร์โทรศัพท์ 086-045-5116

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันที่ 21 ต.ค. 2021