คุณอิศรากรณ์ พลธรรม ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดเลย “สร้างผลผลิตพลิกวิกฤตโควิดสู่โอกาส”

คุณอิศรากรณ์ พลธรรม ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์จังหวัดเลย เริ่มทำเกษตรด้วยหลักคิดหัวสมัยใหม่ ซึ่งเมื่อก่อนที่บ้านทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำนา มีรายได้ไม่แน่นอน จึงปรับเปลี่ยนหันมาทำเกษตรแบบผสมผสาน วางแผนการปลูกพืชให้ตรงต่อความต้องการของตลาด ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อการสร้างรายได้ที่ยั่งยืน โดยถือคติว่า “ถ้าอยากทำเกษตรให้ก้าวหน้าและยั่งยืน จะต้องทิ้งตำราแบบเดิมๆ”

ปลูกพืชหมุนเวียน สร้างรายได้ตลอดทั้งปี
“หาตลาดก่อนวางแผนการผลิต”

โดย คุณอิศรากรณ์ บอกว่า ถ้าอยากทำเกษตรให้ก้าวหน้าและยั่งยืน จะต้องทิ้งตำราแบบเดิมๆ “เราจะไม่ปลูกก่อนแล้วหาตลาดทีหลังอย่างแน่นอน เราต้องศึกษาหาตลาดก่อนปลูก และเลือกปลูกพืชให้เหมาะสมกับพื้นที่

เริ่มต้นจากการเปลี่ยนไร่เลื่อนลอยของพ่อแม่มาปลูกมันเทศญี่ปุ่นสีส้มส่งสหกรณ์แก้วเกษตร ปลูกสลับหมุนเวียน แบ่งพื้นที่ปลูกเดือนละ 1 ไร่ และมีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้มีผลผลิตส่งสหกรณ์ให้ได้เดือนละ 2 ครั้ง ต้นทุนการปลูกคิดเป็นครึ่งต่อครึ่งของรายได้ 1 เดือน ขายมันเทศได้เงิน 60,000 บาท

จากนั้นเริ่มมองหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม ด้วยการดูออเดอร์ที่ทางสหกรณ์ต้องการ แต่ผลผลิตยังขาด จะมีกะหล่ำปลี ข้าวโพดหวาน และมองต่อว่าพืชตัวไหนเหมาะสมกับพื้นที่ ก็คือ กะหล่ำปลี

ระยะการปลูก ถึงเก็บเกี่ยว 90 วัน ถ้าปลูกแบบอินทรีย์ 1 ไร่ จะได้ผลผลิต 500-1,000 กิโลกรัม ซึ่งขนาดของหัวจะสามารถทำตลาดได้ทุกไซซ์ แค่เพียงต้องมองการตลาดให้ออกว่า สินค้าไซซ์นี้ ต้องไปส่งตลาดที่ไหน กลุ่มลูกค้าเป็นใคร ยกตัวอย่าง ถ้าเป็นหัวเล็กที่สวนก็จะขายให้กับคนในชุมชนที่ไม่ต้องการลูกใหญ่ ส่วนไซซ์กลาง จะเป็นที่ชื่นชอบ และเหมาะสำหรับพ่อค้าที่นำไปทำเป็นมันเผา ส่วนไซซ์มาตรฐานที่ตลาดหลักๆ ต้องการจะมีน้ำหนัก 2-3 ขีด ต่อ 1 หัว ราคารับซื้อ กิโลกรัมละ 60 บาท ตลอดปี

คุณอิศรากรณ์ พลธรรม ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์นักพัฒนา

พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส

“สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นและยังคงอยู่ คุณอิศรากรณ์ บอกเล่าประสบการณ์ที่ได้พบเจอตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาว่า ที่สวนถือว่าได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์โควิด-19 ที่เกิดน้อยมาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่การปรับตัว เพราะนอกจากการปลูกมันเทศญี่ปุ่น กะหล่ำปลี และข้าวโพดหวานแล้วนั้น ที่สวนของตนยังมีการทำวนเกษตร คือมีการปลูกป่า ปลูกพืชที่กินได้อีกมากมาย และมีจุดพีคสำคัญที่ทำให้รอดพ้นวิกฤตครั้งนี้มาได้คือ การพัฒนาสวนทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เปิดโฮมสเตย์ให้กับคนรักธรรมชาติ หรือคนที่ชอบนอนกางเต๊นท์ดูดาวมาสักพักแล้ว โดยที่สวนตอนนี้สามารถรับนักท่องเที่ยวได้สูงสุดวันละ 20 คน กับบรรยากาศที่มองไปรอบสวนสองข้างทางเต็มไปด้วยต้นไม้ที่เขียวขจี กิจกรรมในสวนจะแล้วแต่ฤดูกาล ถ้ามาพักตรงกับช่วงที่เรากำลังปลูกหรือทำอะไร ท่านก็จะได้เรียนรู้และทำไปพร้อมกับเรา อาจเป็นการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ตามโอกาส เรื่องกับข้าวหลักๆ ลูกค้าต้องเป็นคนหาเอง ถ้าอยากกินปลา ท่านก็เลือกว่าอยากกินปลาอะไร แต่มีข้อแม้ว่าท่านต้องตกเอง ประกอบอาหารเอง เราจะมีผักแถมให้

ซึ่งผลตอบรับจากลูกค้าที่เข้ามาพักค่อนข้างดี ใครที่เคยมาแล้วต้องมาซ้ำอีก ในอนาคตอาจจะมีการขยายสิ่งอำนวยความสะดวกให้รองรับลูกค้าได้ตลอดทั้งปี” คุณอิศรากรณ์ กล่าวทิ้งท้าย