เกษตรกรรุ่นใหม่ หนองบัวลำภู เลี้ยงปลากดเหลืองในบ่อผ้าใบ จัดการง่าย รายได้งาม

ปลากดเหลือง เป็นปลาที่ประกอบอาหารได้หลายชนิด รสชาติอร่อย ตลาดต้องการสูง ทำให้ขายได้ราคาดี ประกอบกับมีการนำมาเลี้ยงโดยใช้บ่อผ้าใบ ทำให้สะดวกต่อการจัดการ สามารถสร้างงานสร้างอาชีพได้เป็นอย่างดี อย่างเช่น คุณกฤษณะ รถหามแห่ เกษตรกรรุ่นใหม่ (Young smart farmer) หนองบัวลำภู นำมาทดลองเลี้ยง และได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

คุณกฤษณะ กับปลากดเหลือง

คุณกฤษณะ รถหามแห่ อายุ 38 ปี อยู่บ้านเลขที่ 42 หมู่ที่ 3 ตำบลนาดี อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู 39270 โทร. 088-277-1292 ให้ข้อมูลว่า จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเทคโนโลยีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สถาบันการอาชีวศึกษาเกษตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด

ปลากดเหลือง สีออกเหลืองนิดๆ พร้อมประกอบอาหาร

ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และในปี 2561 ได้เดินทางไปทำงานที่ จุรีย์ฟาร์ม จังหวัดจันทบุรี (ตำแหน่งนักวิชาการฟาร์มกุ้ง) ต้นปี 2562 ได้ย้ายไปเป็นนักวิชาการส่งเสริมการเลี้ยงกุ้ง ดูแล   2 จังหวัด คือ จันทบุรี และตราด ได้ไปเห็นเกษตรกรเลี้ยงกุ้งในบ่อผ้าใบ เลยเกิดความคิดอยากทดลองเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบ จึงเริ่มศึกษาข้อมูลและทดลองเลี้ยงประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2563

เลี้ยงปลากดเหลือง ราคาดี ตลาดต้องการสูง

นายสุวิทย์ จันทร์หวร (รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู) (ที่ 4 จากซ้าย) พร้อมด้วย นายอำพน ศิริคำ (เกษตรจังหวัดฯ) (ที่ 4 จากขวา) และส่วนราชการ เยี่ยมชม

เริ่มจากการเตรียมบ่อผ้าใบ โดยทำบ่อเลี้ยงอยู่หลายขนาด ได้แก่ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เมตร จุน้ำ 250 คิว จำนวน 2 บ่อ และบ่อขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ขนาด 12 เมตร จุน้ำได้ 110 คิว จำนวน 1 บ่อ อัตราการเลี้ยง 50-70 ตัว/ตารางเมตร บ่อควรมุงด้วยซาแรนอย่างหนา หรือถ้าจะให้ดี ให้มุงหลังคาแบบถาวรเพราะจะสามารถควบคุมการเปลี่ยนแปลงของความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของน้ำได้ดี

สภาพบ่อผ้าใบขนาดต่างๆ บ่อพ่อแม่พันธุ์

สำหรับบ่อที่ตนเลี้ยง เป็นบ่อผ้าใบมือสอง ขนาด 250 คิว ราคา 25,000 บาท/บ่อ และบ่อขนาด 110 คิว ราคา 15,000 บาท/บ่อ และท่อ pvc ขนาด 2 นิ้ว จำนวน 70 ตัว ตัวละ 120 บาท รวม 8,400 บาท เมื่อเตรียมบ่อผ้าใบแล้ว ทำการสูบน้ำจากบ่อบาดาลลงในบ่อผ้าใบ โดยใช้โซล่าเซลล์ ระดับน้ำสูงประมาณ 70 เซนติเมตร

บรรจุถุงพร้อมขนส่ง โดยมีพ่อค้ามารับที่ฟาร์ม

จากนั้นนำปลากดเหลืองใหญ่สายพันธุ์น้ำโขงมาปล่อย บ่อขนาด 250 คิว (เส้นผ่าศูนย์กลาง 18 เมตร) ปล่อยในอัตรา 10,000-15,000 ตัว/บ่อ บ่อขนาด 110 คิว อัตราการปล่อย 4,000-6,000 ตัว/บ่อ โดยซื้อลูกปลามาจากอำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ขนาด 1 นิ้ว หรือ 2-3 เซนติเมตร ราคาตัวละ 2-3 บาท ขนาด 3-5 เซนติเมตร อาหารที่ให้เป็นอาหารกบเล็ก โปรตีน 37% ให้เช้าเย็น ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยง 120-180 วัน  ผลผลิต 9-12 ตัว/กิโลกรัม ขนาดบ่อ 250 คิว ได้น้ำหนักประมาณ 1,000 กิโลกรัม ราคาขายส่งหน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 120 บาท ขายปลีก กิโลกรัมละ 150 บาท โดยมีพ่อค้าจากจังหวัดใกล้เคียงมารับซื้อที่ฟาร์ม ไม่เพียงพอกับความต้องการ และยังมีพ่อค้ารายย่อยในพื้นที่อีกจำนวนมาก

ขนาด 9-12 ตัว/กิโลกรัม

ปัญหาในการเลี้ยงปลากดเหลือง ส่วนมากจะเกิดปรสิตภายนอก เช่น เห็บระฆัง วิธีแก้ไข ให้ลดน้ำลงครึ่งบ่อแล้วสาดฟอร์มาลีน 30 ppm ในการเลี้ยงจะต้องใช้เครื่องเติมอากาศตลอดเวลา (ขนาด 3 แรง 1 ตัว ราคา 12,000 บาท) เพื่อเพิ่มออกซิเจนให้แก่ปลา

ขนาดที่จับ

แนวทางในการพัฒนาฟาร์ม

สภาพบ่อผ้าใบ

คุณกฤษณะ บอกอีกว่า จะพัฒนากิจการฟาร์มหลายอย่าง แบบค่อยเป็นค่อยไป ดังนี้

เตรียมพ่อแม่พันธุ์ พร้อมจะเพาะพันธุ์ในรุ่นต่อๆ ไป
  1. เพาะพันธุ์ลูกปลากดเหลืองเอง เพราะจะทำให้เราสามารถเลี้ยงได้ตามแผน บางครั้งช่วงที่เราต้องการเลี้ยงแต่ไม่มีลูกปลา จะวางแผนให้มีผลผลิตออกทุกเดือน ขณะนี้เตรียมพ่อแม่พันธุ์ไว้แล้ว
  2. เลี้ยงปลาชะโอน (ปลาเซียม) ซึ่งเป็นปลาเนื้ออ่อน คนนิยมบริโภค เตรียมพ่อแม่พันธุ์ไว้แล้วเช่นกัน ราคาปลาเนื้ออ่อน กิโลกรัมละ 280 บาท ปลาอีกชนิดหนึ่งที่ราคาดีมากตลาดต้องการสูง คือปลานาง (ปลาแดง) กิโลกรัมละ 400 บาท กำลังจะทดลองเลี้ยงเช่นกัน
  3. ผลิตอาหารปลาเองภายในฟาร์ม โดยจะใช้โปรตีนสูงกว่าที่จำหน่ายทั่วไป และตั้งเป้าจะใช้เวลาเลี้ยงให้สั้นลง จะเห็นว่าปลากดเหลืองเป็นปลาเนื้ออ่อนที่มีการเพาะเลี้ยงยังไม่มากนัก และเป็นปลาที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาด ราคา 120-150 บาท/กิโลกรัม และการเลี้ยงปลาในบ่อผ้าใบ เป็นการเลี้ยงปลาใช้น้ำน้อย การจัดการง่าย สามารถทำเป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริมได้อย่างสบาย และยังใช้พื้นที่น้อย แต่ผลตอบแทนคุ้มค่ามากกว่าเลี้ยงในบ่อดิน สอบถามเพิ่มเติมได้ โทร. 088-277-1292
จับขาย
ขนาดลูกปลาพร้อมปล่อย
ปล่อยลูกปลา

สำหรับคนหนุ่มสาวที่มีอายุระหว่าง 17-45 ปี ไม่ว่าท่านจะจบการศึกษาด้านใดก็ตาม หากสนใจจะประกอบอาชีพการเกษตร สามารถสมัครเข้าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อพัฒนาให้เป็น Young smart farmer เพื่อเข้ารับการสนับสนุนจากส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการสนับสนุนหลายรูปแบบ เช่น จัดเวทีสัญจรเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุนปัจจัยการผลิต เป็นต้น สมัครได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอตามภูมิลำเนา หรือสอบถามเพิ่มเติมที่สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู โทร. 042-316-788