กศน.ตำบลบางกล่ำ จ.สงขลา ส่งเสริมเลี้ยงผึ้งชันโรง เพื่อการแปรรูป

“สงขลา” เป็นเมืองที่มีภูมิทัศน์สวยงาม ถูกขนาบข้างด้วยทะเล 2 แห่ง คือทะเลอ่าวไทยและทะเลสาบสงขลา ด้วยทำเลที่เหมาะสมสำหรับเป็นเมืองท่าการค้ามาตั้งแต่สมัยอดีต ทำให้สงขลาเป็นเมืองการค้าที่สำคัญ โดยมีเมืองหาดใหญ่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจของภาคใต้ นอกจากนี้ สงขลายังเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีวิถีชีวิตเฉพาะถิ่นแบบพหุวัฒนธรรม ที่ผสมผสานกลมกลืนระหว่างวัฒนธรรมไทย จีน และมุสลิมได้อย่างลงตัว

น้ำผึ้งชันโรงและผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ กศน. เข้าไปอบรมอาชีพให้ชาวบ้าน

สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา

สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา นับว่ามีบทบาทสำคัญในด้านการพัฒนาการศึกษาให้แก่เยาวชนและประชาชนในจังหวัดสงขลาได้รับการศึกษาตลอดชีวิต และการศึกษาวิชาชีพเพื่อการมีงานทำอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มุ่งสร้างสังคมฐานความรู้ สร้างกลุ่มอาชีพชุมชน จัดการศึกษาให้สอดคล้องกับอัตลักษณ์ในพื้นที่เพื่อสร้างความเข้มแข็งและความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชุมชนโดยการพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของคนในชุมชน รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของภูมิปัญญา องค์กรชุมชน อาสาสมัคร ในการสนับสนุนและมีส่วนร่วมจัดการศึกษา

นางเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา กล่าวว่า จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย 16 อำเภอ แบ่งพื้นที่การเรียนรู้เป็น 4 โซน ได้แก่ โซนวัฒนธรรม ประกอบด้วย อำเภอเมือง อำเภอรัตภูมิ อำเภอบางกล่ำ และอำเภอควนเนียง โซนที่สอง เป็นเขตเศรษฐกิจ ประกอบด้วย อำเภอหาดใหญ่ อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอสะเดา และอำเภอนาหม่อน โซนที่สาม เป็นเขตพื้นที่สองทะเล ประกอบด้วย อำเภอสิงหนคร อำเภอสทิงพระ อำเภอระโนด และอำเภอกระแสสินธุ์ โซนที่สี่ เป็นเขตพื้นที่ชายแดน ประกอบด้วย อำเภอเทพา อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย และอำเภอจะนะ

นางเกษร ธานีรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา

จังหวัดสงขลาเป็นพื้นที่สังคมพหุวัฒนธรรม ที่อยู่ร่วมกันระหว่างคนไทยพุทธ ไทยมุสลิม หรือผู้ที่นับถือศาสนาอื่นๆ ใช้วิถีชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา สามารถทำงานร่วมกับกลุ่มไทยพุทธและไทยมุสลิม โดยจัดการศึกษาแต่ละโซน ตามบริบทพื้นที่ ยกตัวอย่างเช่น อำเภอบางกล่ำ เป็นโซนวัฒนธรรม และพื้นที่การเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำสวนยางพารา และสวนผลไม้แบบเกษตรอินทรีย์ ชาวบ้านสนใจเลี้ยง “ชันโรง หรือผึ้งจิ๋ว” หรือภาษาปักษ์ใต้ เรียกว่า “อุง” เป็นรายได้เสริม กศน. ก็พาชาวบ้านไปศึกษาดูงานในแหล่งเลี้ยงชันโรงในพื้นที่ต่างๆ จนมีความรู้นำไปประกอบอาชีพได้และดำเนินธุรกิจร่วมกันในชื่อ “วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ” และจัดอบรมความรู้เรื่องแปรรูปน้ำผึ้งชันโรงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอีกทางหนึ่ง

นางสิริพร พูลสวัสดิ์ รักษาการ ผอ.กศน.อำเภอบางกล่ำ

กศน.อำเภอบางกล่ำ

นางสิริพร พูลสวัสดิ์ รักษาการผู้อำนวยการ กศน.อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า กศน.อำเภอบางกล่ำ จัดการศึกษาให้กับนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน เน้นการเรียนการสอนให้กับผู้ที่พลาดการศึกษาต่อเนื่อง เน้นให้ความรู้เรื่องทักษะอาชีพ การพัฒนาทักษะชีวิตในยุคปัจจุบัน ด้านการศึกษาตามอัธยาศัย เน้นส่งเสริมการอ่านในกลุ่มนักศึกษาและประชาชนทั่วทุกพื้นที่ในอำเภอบางกล่ำ

ด้านการจัดการศึกษาต่อเนื่อง กศน.อำเภอบางกล่ำ ดำเนินการงานบนพื้นฐานความต้องการของประชาชน และบริบทของพื้นที่เป็นหลัก สำหรับพื้นที่ตำบลบางกล่ำ ชาวบ้านส่วนใหญ่ดำเนินอาชีพด้านเกษตรกรรม ต้องการให้ กศน. ส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรกรรม เช่น วิธีการทำปุ๋ยน้ำหมัก ปุ๋ยชีวภาพประเภทต่างๆ  สำหรับใช้ในไร่นาซึ่งเป็นแปลงเพาะปลูกปลอดสารเคมี 100% ทำให้มีผึ้งชันโรงหรืออุงเข้ามาในสวนไร่นาของเกษตรกร

ผึ้งและชันโรง เก็บน้ำหวานในดอกบัว

ชาวบ้านในชุมชนแห่งนี้ จึงร้องขอให้ กศน. สนับสนุนเรื่ององค์ความรู้เรื่องการเลี้ยงชันโรงอย่างครบวงจร พร้อมสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มเกษตรกรที่เข้มแข็ง ในชื่อ วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ ช่วงแรกมีสมาชิกแค่ 7-8 คน ต่อมามีผู้สนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีสมาชิกจำนวน 48 คน เลี้ยงผึ้งชันโรง จำนวน 1,520 รัง

กศน.ตำบลบางกล่ำ ได้จัดกิจกรรมการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพให้แก่ชาวบ้านในหลักสูตร การทำสบู่เหลวจากน้ำผึ้งชันโรง การทำโลชั่นบำรุงผิวจากน้ำผึ้งชันโรง และการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งชันโรง (ลิปสติก) ณ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงบ้านบางกล่ำกลาง หมู่ที่ 2 ตำบลบางกล่ำ

ชันโรงหรือผึ้งจิ๋ว

เลี้ยงชันโรงได้ประโยชน์มากมาย

ชันโรง คือแมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ จัดอยู่ในจำพวกผึ้งแต่ไม่มีเหล็กไนเหมือนผึ้ง ชันโรงถือเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญในด้านเศรษฐกิจทางการเกษตร เพราะให้น้ำผึ้งและเกสรชันโรงที่ขายได้ราคาแพงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เพราะหายาก มีปริมาณน้อย แถมมีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป

พื้นที่ตำบลบางกล่ำ มีสวนผลไม้หลากหลายชนิดในลักษณะสวนผสมหลังบ้าน เช่น มังคุด ลองกอง สละ เงาะ เป็นแหล่งอาหารสำหรับเลี้ยงชันโรงได้ เกษตรกรในพื้นที่ตำบลบางกล่ำจึงสนใจเลี้ยงชันโรงเพื่อสร้างรายได้จากขายน้ำผึ้งแล้ว ชันโรงทำหน้าที่ผสมเกสร เพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรสวนผลไม้อีกทางหนึ่ง โดยทั่วไปชาวบ้านใช้เวลาเลี้ยงผึ้งชันโรงประมาณ 1 ปี จึงได้น้ำผึ้งคุณภาพดีออกขาย

รังชันโรง

การเลี้ยงชันโรงเป็นการทำเกษตรอินทรีย์ที่ยั่งยืนและปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้น สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา จึงเข้ามาส่งเสริมการเลี้ยงชันโรงในท้องถิ่นแห่งนี้ ปี 2546 ได้เข้ามาสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางกล่ำรวมตัวในรูปแบบแปลงใหญ่ชันโรง ภายใต้การนำของ นายคมคาย เพชรมุณี ประธานแปลงใหญ่ชันโรงบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ จังหวัดสงขลา และเปิดศูนย์เครือข่ายของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอบางกล่ำ เพื่อดำเนินการศูนย์ให้เกิดจากการใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำนักงานเกษตรจังหวัดสงขลา สนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มแปลงใหญ่ชันโรงบางกล่ำ อำเภอบางกล่ำ นำมาพัฒนากลุ่มในการเพิ่มรังผึ้งชันโรงให้มีปริมาณเพิ่มมากยิ่งขึ้น สามารถเก็บผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้งต่อรัง มีการสร้างรังหมุนเวียน เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริมตลอดทั้งปี สามารถสร้างรายได้ถึง 10,000 บาทต่อเดือน และมีการนำผลผลิตน้ำผึ้งชันโรงมาแปรรูปเพื่อเข้าสู่ตลาดออนไลน์

นายคมคาย เพชรมุณี ประธานแปลงใหญ่ชันโรงบางกล่ำ (ขวามือ)

เลี้ยงชันโรงเป็นเรื่องง่าย

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ เลี้ยงชันโรงขนาดใหญ่ (พันธุ์ทูราซิก้า และพันธุ์อีตาม่า) และชันโรงขนาดเล็ก (พันธุ์ขนเงินหลังลาย บางคนเรียก ชันโรงเล็ก หรือ ชันโรงบ้าน) โดยทั่วไป ทางกลุ่มมักแนะนำให้เกษตรกรมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นเลี้ยงชันโรงเล็ก เพราะเลี้ยงง่ายกว่า และมีลักษณะเฉพาะคือ ลำตัวสีดำ ปีกสีเทาเงิน พบได้ในพื้นที่ทั่วไป อาศัยอยู่ในที่โล่งแจ้งหรืออยู่ในรังที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนใหญ่จะสร้างปากทางเข้ารังแบบเรียบไม่มีส่วนยื่นออกมา หากินง่าย และเลือกตอมดอกไม้ทุกชนิดที่มีโครงสร้างเป็นดอกเปิด มองเห็นเกสรได้ชัดเจน มีปริมาณเกสรมาก

โดยทั่วไปชันโรงเล็กจะเก็บเกสร ร้อยละ 80 เพื่อมาเก็บเป็นอาหารใส่ไว้ในรัง และเก็บน้ำหวานเพียงร้อยละ 20 การเก็บเกสรของชันโรงบนดอกไม้ จะลงตอมดอกทุกดอก เพราะต้องการยางจากพืชในการทำรัง และส่วนต่างๆ ภายในรัง เช่น องค์ประกอบของถ้วยตัวอ่อน โดยไม่มีพฤติกรรมการเลือก และจะหากินวงรัศมีไม่ไกลจากรัง ระยะทางประมาณ 300-500 เมตร สามารถปรับตัวเข้าได้กับทุกพื้นที่ ลักษณะไข่เป็นกลุ่มเป็นพวง ลักษณะรังเก็บน้ำหวานจะเป็นรวง ใช้เวลาประมาณ 4-6 เดือน ในการเลี้ยงเพื่อเก็บน้ำผึ้ง น้ำผึ้งจะมีรสชาติหวาน หอม

พี่โอ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ โชว์รังเลี้ยงชันโรง

หากใครสนใจเรื่องการเลี้ยงชันโรง ของวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงอุงและญิงยวนบางกล่ำ สามารถติดตามความเคลื่อนไหวได้ทางเฟซบุ๊ก “กลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงตำบลบางกล่ำ” ได้ตลอดเวลา หรือสนใจสั่งซื้อสินค้าน้ำผึ้งชันโรง หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปจากน้ำผึ้งชันโรงได้ทางเบอร์โทร. 061-253-2874, 065-495-5158

ขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบข่าวจากรายการ “เรียนนอกรั้ว” เรื่องน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งชันโรง กศน.อำเภอบางกล่ำ, สำนักงาน กศน.จังหวัดสงขลา