“โกโก้” ไม้ผลทางเลือก ของเกษตรกรท่าม่วง

นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านได้รับเกียรติจาก สำนักงานเกษตรอำเภอท่าม่วง โดย นางสาวกวินทรากานต์ มาลัยทองแก้วสุภา เกษตรอำเภอท่าม่วง และ นางสาวสายชล พ่วงคำมี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ พาไปเยี่ยมชมแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอท่าม่วง ได้แก่ สวนไม้ตัดดอกเขตร้อน ของ คุณประเสริฐ ลมพัด ประธานกลุ่มไม้ตัดดอกเขตร้อนกาญจนบุรี และ สวนโกโก้ ของ คุณโอภาส เกษตรสวนเพชร

ต้นโกโก้ติดผลดก

ด้าน นางสาวกวินทรากานต์ มาลัยทองแก้วสุภา เกษตรอำเภอท่าม่วง กล่าวว่า สำนักงานเกษตรอำเภอท่าม่วง ได้รับนโยบายจากกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยตามระบบการจัดการคุณภาพหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) แบบเดียวกับหลักการเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ที่มุ่งใช้ทรัพยากรที่มีของตัวเองให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้ผลผลิตสูง คุ้มค่ากับการลงทุน โดยยึดหลักการตลาดนำการผลิต เช่น สวนไม้ตัดดอกเขตร้อนของ คุณประเสริฐ ลมพัด และ สวนโกโก้ ของ คุณโอภาส เกษตรสวนเพชร ซึ่งเกษตรกรทั้งสองรายกำลังดึงเรื่องการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เข้ามาเป็นรายได้เสริมเลี้ยงตัวเองและยังเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนนำผลผลิตสินค้าเกษตรเข้ามาจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวไปพร้อมๆ กัน

เกษตรอำเภอท่าม่วง เยี่ยมชมผลผลิตโกโก้ของคุณโอภาส

 โกโก้ เกษตรสวนเพชร

คุณโอภาส พาชมการเลี้ยงเป็ดไข่รายได้เสริมในสวนโกโก้

 

คุณโอภาส เกษตรสวนเพชร นับเป็นเกษตรกรมือทองที่เชี่ยวชาญด้านไม้ผล โดยเฉพาะการปลูกชมพู่ จนได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพทำสวน ประจำปี 2550 และรางวัลปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรไทย เป็นเครื่องการันตีผลงานมาแล้ว ทุกวันนี้ คุณโอภาสเป็นประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามัคคีพัฒนาไม้ผล ตำบลท่าตะคร้อ โดยสมาชิกกลุ่มปลูกลำไยนอกฤดู ฝรั่ง และผลไม้อื่นๆ

ปัจจุบัน คุณโอภาส เกษตรสวนเพชร ปลูกโกโก้ ในชื่อ “เกษตรสวนเพชร” เนื้อที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 81 หมู่ที่ 6 ตำบลท่าตะคร้อ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เดิมคุณโอภาสมีสวนชมพู่ที่ดำเนินสะดวก แต่รับภาระต้นทุนไม่ไหวจึงย้ายมาที่ท่าม่วง กาญจนบุรี เมื่อปี 2552 แล้วหันมาปลูกลำไยนอกฤดูแทน ระยะหลังจีนปลูกลำไยได้เองมากขึ้น มียอดสั่งซื้อน้อยลง คุณโอภาสจึงตัดสินใจโค่นต้นลำไยทิ้ง

คุณโอภาส เกษตรสวนเพชร กับผลผลิตโกโก้ที่เขาภาคภูมิใจ

“โกโก้” เป็นพืชทางเลือกตัวใหม่ ที่คุณโอภาสตัดสินใจปลูก เพราะลงทุนครั้งเดียวเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นาน 60-70 ปี  โกโก้ จัดอยู่ในกลุ่มผลไม้เพื่อสุขภาพ สามารถนำไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้หลากหลายรูปแบบ นับเป็นสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพทางการตลาด สามารถเติบโตสดใสในอนาคต หากใครสนใจไม้ผลชนิดนี้ คุณโอภาสยินดีแบ่งปันความรู้ให้แก่ผู้สนใจ ทั้งเรื่องการปลูก การดูแลรักษา และด้านการตลาด

ดอกโกโก้

 

การปลูกดูแล

โกโก้ เป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย ปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยวหรือปลูกแซมในสวนเกษตรผสมผสานก็ได้ ต้นโกโก้ สามารถปลูกแบบพื้นราบได้ โดยให้น้ำในระบบสปริงเกลอร์ สาเหตุที่คุณโอภาสปลูกโกโก้แบบยกร่องเพราะบริเวณโดยรอบเป็นแปลงนาข้าว เวลาทำนามักมีปัญหาน้ำซึมเข้ามาท่วมพื้นที่สวน คุณโอภาสจึงตัดสินใจปรับพื้นที่เป็นการปลูกแบบยกร่องเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม

สวนแห่งนี้ปลูกต้นโกโก้ จำนวน 500 ต้น ในแปลงแบบยกร่องสูงเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน คุณโอภาสดูแลใส่ใจการบริหารจัดการภายในสวนอย่างเต็มที่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเตรียมแปลงปลูก การปรับปรุงดิน วิธีการปลูก ดูแล การป้องกันโรคและแมลงตามหลักการเกษตรอินทรีย์

“ที่ดินผืนนี้เดิมเป็นสวนลำไย หลังจากโค่นต้นลำไยทิ้ง ก็นำกิ่งใบลำไยมาวางคลุมดินเต็มพื้นที่ ทำให้วัชพืชไม่ขึ้นแล้ว เศษใบไม้ที่ผุพังย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์ตามธรรมชาติ เนื้อดินร่วนซุย อุดมไปด้วยธาตุอาหาร สภาพเหมือนดินขี้ค้างคาวเลย เพียงแค่ขุดหลุมก็ปลูกต้นโกโก้ได้เลย ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยรองก้นหลุม” คุณโอภาส กล่าว

สวนแห่งนี้ปลูกโกโก้แบบยกร่องสวน

“โกโก้เกษตรสวนเพชร” ของคุณโอภาส เป็นลูกไร่ของ บริษัท เค.ยู.เอ็น.โกโก้เน็ตเวิร์ก จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร โดยคุณโอภาสซื้อกล้าพันธุ์โกโก้ชุมพร 1 จากบริษัทในราคาต้นละ 50 บาท นำมาปลูกในระยะห่างระหว่างต้น 3×3 เมตร 1 ไร่ ปลูกโกโก้ได้ 100 ต้น เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี รดน้ำในแปลงปลูกให้ดินเปียกชุ่มตลอดเวลา ทุกๆ 2-3 วัน ทั้งนี้ ต้นโกโก้จะเริ่มให้ผลผลิตเมื่ออายุ 2 ปี หากดูแลดีจะเก็บผลผลิตทุกๆ 10-15 วัน ตลอดทั้งปี

“สวนโกโก้แห่งนี้ มีการดูแลจัดการแปลงที่ดี ทำให้ต้นโกโก้เติบโตสมบูรณ์ เริ่มให้ผลผลิตรุ่นแรก ตั้งแต่อายุ 1 ปี 6 เดือน สามารถเก็บผลผลิตได้ทุก 15 วัน โดยทางบริษัทแม่มีประกัน รับซื้อผลผลิตคืน โดยผลสดราคา 10 บาท ต่อกิโลกรัม เมล็ดแห้ง 150-200 บาท ต่อกิโลกรัม โดยปีแรกมีผลผลิตเฉลี่ยต้นละ 200 กิโลกรัม มีรายได้ 30,000-50,000 บาท เมื่อโกโก้มีอายุเพิ่มขึ้น ลำต้นใหญ่ขึ้น ก็จะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี ในอนาคต คาดว่าจะมีรายได้จากการขายโกโก้ผลแห้งไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท ต่อปี” คุณโอภาส กล่าว

ปลูกเผือกและพริกหอม เป็นพืชร่วมแปลงเพื่อเป็นรายได้เสริม

 

ปัญหาโรคและแมลง

คุณโอภาส มีสูตรการทำยาป้องกันแมลงศัตรูพืชแนวเกษตรอินทรีย์ตามธรรมชาติมาใช้ดูแลจัดการปัญหาแมลงศัตรูพืช คือ เพลี้ยไฟและเพลี้ยแป้ง คุณโอภาสผสมสารกำจัดแมลงศัตรูพืช ตามสูตรภูมิปัญญาดั้งเดิม โดยใช้ยาสูบ 1 กิโลกรัม ผสมเหล้าขาว 50 ซีซี นำมาหมักรวมกันสัก 5 วัน ก็ใช้เป็นหัวเชื้อไปผสมน้ำเปล่า 20 ลิตร เติมน้ำยาล้างจาน 1 ช้อนโต๊ะ แล้วนำไปฉีดพ่นทั่วต้น รับรองได้ผลดีเกินร้อย คุณโอภาสบอกว่า ยากำจัดแมลงสูตรนี้ ดูแลป้องกันแมลงแบบครอบจักรวาล สามารถประยุกต์ใช้กับพืชผักผลไม้ได้นานาชนิด

 

ปลูกพืช เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด

เป็นรายได้เสริมในสวนโกโก้

คุณโอภาส ใช้ประโยชน์พื้นที่ว่างในแปลงปลูกต้นโกโก้ได้อย่างคุ้มค่า โดยปลูกเผือกและพริกหอมไว้รอบสวน ซึ่งพืชทั้งสองชนิดไม่ต้องการแดดมาก สามารถเจริญเติบโตในพื้นที่ร่มรำไร สามารถเก็บผลผลิตออกขายเป็นรายได้เสริมได้ตลอดทั้งปี โดยพริกหอม สามารถเก็บผลผลิตออกขายได้หลายรุ่นต่อปี ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนเผือก ปลูก 6 เดือน ก็เก็บผลผลิตออกขายได้ในราคากิโลกรัมละ 30-40 บาท

ใช้เศษใบไม้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ทำให้ดินดีมีสภาพร่วนซุย

นอกจากนี้ คุณโอภาส ยังเลี้ยงเป็ดไข่และเลี้ยงปลาในร่องสวนเพื่อเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือนและเลี้ยงเพื่อจำหน่ายเป็นรายได้เสริม เช่น ปลาคัง ขายได้กิโลกรัมละ 200 บาท นอกจากนี้ ยังเลี้ยงปลากินพืช เช่น ตะเพียนขาว ตะเพียนแดง และปลาสร้อย เพราะต้องการให้ปลากินพืชกลุ่มนี้ กินแหนสาหร่ายในร่องสวนเป็นอาหาร ซึ่งช่วยให้น้ำใสสะอาดสำหรับรดน้ำในแปลงเพาะปลูกแล้ว ยังสามารถนำปลาไปขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

โกโก้ตากแห้ง พร้อมส่งขายโรงงาน
โชว์เนื้อในผลโกโก้

“ผมทำสวนโกโก้แบบเกษตรอินทรีย์ ในลักษณะเกษตรผสมผสาน ตามหลักการธรรมชาติพึ่งธรรมชาติ เน้นใช้วัตถุดิบในพื้นที่ให้มากที่สุด ปลูกทุกอย่างที่เรากิน กินทุกอย่างที่เราปลูกเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ซึ่งเป็นการพึ่งพาตัวเอง ตามหลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ผมมองว่าโกโก้เป็นพืชทางเลือกที่น่าสนใจเพราะมีศักยภาพทางการตลาด โกโก้เป็นวัตถุดิบที่ต้องการใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท แต่ไทยยังผลิตได้น้อย ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นหลัก ที่สำคัญการปลูกดูแลไม่ยากสำหรับเกษตรกรมือใหม่และผู้สนใจทำเกษตรหลังเกษียณ” คุณโอภาส กล่าวในที่สุด


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354