บริโภคลำไยนอกฤดู ที่บังคับด้วยสารโพแทสเซียมคลอเรต ปลอดภัย

โพแทสเซียมคลอเรต (KCLO3) เป็นผลึกโปร่งแสง ลักษณะเป็นผลสีขาว ไม่มีกลิ่น มีรสเค็มเช่นเดียวกับเกลือแกง ละลายได้ไม่ดี มีจุดหลอมเหลวที่ 368 องศาเซลเซียส ติดไฟง่าย อันตรายของโพแทสเซียมคลอเรต เมื่อสัมผัสจะทำให้ระคายเคืองผิวหนัง ดวงตา หากบริโภคเข้าไปจะทำลายระบบทางเดินอาหารและไต ดังนั้น จึงจัดให้โพแทสเซียมคลอเรตเป็นวัตถุอันตราย ตามพระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 โดยกระทรวงกลาโหม การต้องการนำเข้าหรือมีไว้เพื่อจำหน่าย ต้องได้รับอนุญาตจากปลัดกระทรวงกลาโหม

จากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไม่พบอันตรายจากการบริโภคลำไยนอกฤดูที่ได้จากการราดสารโพแทสเซียมคลอเรตแต่อย่างใด ผู้บริโภคสบายใจได้ ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตลำไยของไทย ปี 2559 ลดลงจากปีก่อน เนื่องจากภาวะแห้งแล้งง ผลิตได้ 7.5 แสนตัน ลดลงจากปี 2558 ที่ผลิตได้ 8.7 แสนตัน

ปัจจุบัน มีผู้รวบรวมผลผลิตหรือล้ง เป็นชาวจีนและเวียดนาม เป็นผู้เข้ามารวบรวมผลผลิตส่งออกไปยังจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และประเทศอื่นอีกหลายประเทศ โดยจีนกำหนดให้มีสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไย ไม่เกิน 50 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักลำไย 1 กิโลกรัม ส่วนสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ อนุญาตให้นำเข้าลำไยที่ผ่านการฉายรังสีแกมม่า ที่ระดับบ 400 เกรย์ ดังนั้น ผู้ส่งออกลำไยต้องตระหนักถึงข้อกำหนดของแต่ละประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุปสรรคในการส่งออกต่อไปในอนาคต