กรมชลฯ รับลูกใช้ยางพาราสร้างถนน หวังช่วยระบายสต๊อก-หัวหินทำเส้นทางจักรยาน

รมว.เกษตรฯ สั่งทุกหน่วยนำร่องใช้ยางพาราทำถนนดินซีเมนต์ กรมชลฯ รับลูกคาดใช้ยางตก 18 ตัน/กิโลเมตร โดยจะเทอยู่ชั้นล่าง รวมทั้งนำยางพารามาซ่อมถนนลาดยางที่ชำรุด ด้านกรมทางหลวงชนบทผุดถนนพร้อมทางจักรยาน 10 กิโลเมตร ผ่านแหล่งท่องเที่ยวหัวหิน

นายธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้นำเรื่องถนนยางพาราดินซีเมนต์ไปศึกษาต่อในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำถนน เพราะในส่วนของถนนดินซีเมนต์ที่จะนำมาใช้จะเป็นส่วนซัพเบตด้านล่างของชั้นถนนไม่ใช่ชั้นผิวถนน เพราะฉะนั้นทุกผิวถนนสามารถใช้ยางนี้ไปทำเป็นซัพเบตได้

คาดว่าจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางมากขึ้นจากเดิมที่เป็นถนนแอสฟัลต์ ใช้ยางพาราเพียง 5-8% แต่ถ้าทำเป็นถนนยางพาราดินซีเมนต์สามารถเพิ่มได้ถึง 12 ตัน/กิโลเมตร (ก.ม.) กรมชลประทานดำเนินการทดสอบแล้ว 6 เดือน สามารถใช้ยางพาราถึง 18 ตัน/กิโลเมตร

ด้าน นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชล ประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานมีถนนอยู่ในความดูแลประมาณ 7,000 กิโลเมตร เป็นถนนลาดยาง 3,074 กิโลเมตร ถ่ายโอนให้กรมทางหลวงชนบทท้องถิ่นไว้ประมาณ 4,000 กิโลเมตร ในส่วนของถนนลาดยางหากชำรุดจะซ่อม แซมโดยนำยางพาราในโครงการที่ กยท.ดำเนินการรวบรวมไว้ไปใช้

ส่วนถนนทางลูกรัง ประมาณ 1,800 กิโลเมตร กำลังศึกษาวิจัยอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีจะทราบผลเดือนตุลาคมนี้ โดยนำดินลูกรังที่ผสมปูนซีเมนต์และน้ำยางข้นบดอัด ลงไป ซึ่งใช้น้ำยางพาราประมาณ 18 ตัน/กิโลเมตร ช่วย พี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางได้ เบื้องต้นจะรับมอบยางจาก กยท.ประมาณ 100 ตัน

นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ทช.ดำเนินการปรับปรุงถนนทางหลวงชนบทสาย ปข.2052 แยกทางหลวงหมายเลข 37 โครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทางจักรยาน ระยะทาง 10.497 กิโลเมตร เป็นทางผ่านแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง เช่น ตลาดน้ำสามพันนาม วัดห้วยมงคล ตลาดน้ำห้วยมงคล และโครงการพระราชดำริอ่างเก็บน้ำห้วยมงคล

ก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลติกคอนกรีต ขนาด 2 ช่องจราจร พร้อมทางจักรยานสำหรับนักปั่นกว้าง 3 เมตร (ด้านซ้ายทาง) จุดพักรถ 3 แห่ง ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 168 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนมีนาคม 2561

 

ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด