ประมงจ.เชียงราย หนุนเกษตรกรใช้หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 เลี้ยงปลา ชี้ลดต้นทุนกว่า 80%

ปัจจุบันกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในหลายพื้นที่ของ จ.เชียงราย หันมาใช้หญ้าเลี้ยงปลาแทนการใช้อาหารปลาบรรจุกระสอบที่วางจำหน่ายตามตลาดกันอย่างแพร่หลาย โดยชาวบ้านปลูกและซื้อขายหญ้าด้วยกันเอง ซึ่งจะนำต้นและใบมาปั่น บด รวมถึงปรุงเป็นส่วนผสมพิเศษก่อนนำไปให้ปลา นอกจากนี้ยังนำหญ้าวางซ้อนในบ่อปลาสลับกับมูลวัว ซึ่งพบว่าปลาเข้าไปตอดกินหญ้าดังกล่าว โดยวิธีการนี้ช่วยให้ต้นทุนลดต่ำลงอย่างมาก ปัจจุบันหญ้าจึงกลายอาหารหลักที่ผู้เลี้ยงปลาใน จ.เชียงราย ใช้เลี้ยงปลาในบ่อของตัวเองแล้ว

นายอมร พุทธสัมมา ประมงจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า หญ้าที่ใช้เลี้ยงปลาคือ เนเปียร์ ปากช่อง 1 ซึ่งได้คิดสูตรขึ้นเพื่อให้นำมาเลี้ยงปลาได้ โดยใช้สูตร 6 : 4 : 1 คือ หญ้า 6 ส่วน รำข้าว 4 ส่วน และหัวอาหาร 1 ส่วน เมื่อนำมาผสมและบดแล้วให้ปลา พบว่าปลากินดีมาก ที่สำคัญช่วยลดต้นทุนค่าอาหารปลาได้อย่างมาก เพราะในปัจจุบันอาหารปลามีราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 26 บาท แต่ถ้าใช้หญ้า ต้นทุนจะลดเหลือเพียงกิโลกรัมละ 6 บาท

 นอกจากนี้ผลพลอยได้ยังพบว่าน้ำในบ่อปลาไม่เน่าเสีย ซึ่งแตกต่างจากการให้อาหารปลาทั่วไปที่มักประสบปัญหาน้ำเสียหรือมีกลิ่น โดยน้ำที่เลี้ยงด้วยหญ้าจะมีสีเขียวอ่อนๆ ตามธรรมชาติ ขณะเดียวกันปลาเลี้ยงยังเหมือนปลาธรรมชาติที่ไม่มีกลิ่นเหม็นเมื่อนำมาปรุงอาหารก็ให้รสชาดอร่อยเหมือนปลาธรรมชาติอีกด้วย

“นอกจากการนำปรุงด้วยสูตรดังกล่าวแล้ว ยังสามารถนำหญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 มาวางในบ่อปลาเป็นชั้นๆ เรียกกันจนคุ้นเคยว่าขนมชั้นในบ่อปลา โดยตีหลักไม้ไผ่กว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ต่อเนื้อที่ 1 ไร่ แล้วนำหญ้าไปใส่ในคอก 80 กิโลกรัม สลับกับมูลวัว 40 กิโลกรัม โดยหญ้าจะสูง 3 ชั้น และมูลวัว 2 ชั้น ซึ่งปลาสามารถกินเป็นอาหารได้ตลอดทั้งวัน อีกทั้งทำให้เกิดไรแดงและหนอนแดงที่ช่วยบำบัดน้ำ รวมทั้งยังเกิดหอยและกุ้งในบ่อปลาเป็นจำนวนมาก เจ้าของบ่อปลาสามารถเก็บสัตว์น้ำเหล่านี้มาขายจนทำให้มีรายได้มากขึ้น เหนือจากการขายปลาอย่างเดียวอีกด้วย” นายอมรกล่าว และว่า ปัจจุบันกำลังส่งเสริมเกษตรกรในเรื่องนี้ เพราะคำนวณแล้วลดต้นทุนลงได้กว่า 70-80% รวมทั้งช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติและได้ปลาคุณภาพดีขึ้นอีกด้วย

นายจำเริญ ปันดอน นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) โยนก อ.เชียงแสน และประธานกลุ่มผู้เลี้ยงปลาด้วยหญ้าเนเปียร์ ปลาช่อง 1 กล่าวว่า เชียงแสนถือเป็นแหล่งเลี้ยงปลามากเป็นอันดับ 2 ของ จ.เชียงราย รองจาก อ.พาน ชาวบ้านทั้ง 8 หมู่บ้าน 4,900 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเลี้ยงปลา แต่ที่ผ่านมาประสบปัญหาต้นทุนสูงจากค่าอาหาร ทำให้ชาวบ้านเกือบไม่รอด โดยเฉพาะในปีนี้ราคาปลาลดลง โดยปลานิลมีราคาลดลงเหลือกิโลกรัมละ 40 บาท หากไม่มีการใช้หญ้าเลี้ยงปลาคงแย่แน่นอน เพราะการใช้หญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 เลี้ยงปลาทำให้ต้นทุนลดลงถึง 3 ใน 4 ส่วน

“ปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 และประมงจังหวัดใช้โรงเรือนสาธารณะพื้นที่บ้านทุ่งฟ้าฮ่าม ต.โยนก เป็นสถานที่ผสมและบดหญ้า โดยมีการจัดซื้อเครื่องผสมและบดให้ชาวบ้านได้ใช้ ทุกวันนี้ชาวบ้านจึงขนหญ้าไปทำเป็นอาหารตามสูตรดังกล่าวเป็นประจำ หลายรายก็ประดิษฐ์เครื่องยนต์ของตัวเองได้บ้างแล้ว ส่วนท้องถิ่นก็กำลังส่งเสริมการปลูกพืชชนิดนี้ให้มากขึ้นเพื่อให้เพียงพอต่อความร้องการในพื้นที่ด้วย” นายจำเริญกล่าว

นายจำเริญกล่าวต่อว่า ต้องขอบคุณจากใจจริงที่่มีการให้องค์ความรู้เรื่องนำหญ้ามาเลี้ยงปลา เพราะนอกจากจะทำให้ต้นทุนลดลงวัตถุดิบคือหญ้าเนเปียร์ ปากช่อง 1 ยังปลูกง่ายขึ้นได้เกือบทุกภูมิประเทศ ใช้เวลาแค่ 30-45 วัน ก็สามารถตัดมาใช้ได้ และปลูกครั้งเดียวออกต้นให้ใช้ได้นานถึง 7 ปี

ด้านนางชฎาพร ออนเขียว ชาวบ้านร่องบง ต.โยนก กล่าวว่า เลี้ยงปลานิลบนเนื้อที่ 8 ไร่ ซึ่งพบว่าแต่ละวันใช้อาหารเลี้ยงปลาจำนวนมาก โดยจะซื้อมาครั้งละ 21 กระสอบ กระสอบละ 20 กิโลกรัม ราคาเฉลี่ยกระสอบละ 300-500 บาท ครั้งหนึ่งจึงใช้เงินไม่น้อยกว่า 6,000-10,000 บาท และใช้ได้ไม่กี่วันก็หมดแล้วแต่ช่วงอายุของปลาว่าเติบโตมากน้อยเพียงใด แต่ปัจจุบันปลูกหญ้าเองตามสูตรดังกล่าว ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงเหลือเพียงครั้งละ 1,350 บาท และถ้าหญ้าขาดแคลนก็หาซื้อกิโลกรัมละเพียง 1.50 บาท จึงเป็นทางออกของอาชีพเลี้ยงปลาของชาวบ้านอย่างแท้จริง

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 โดยสำนักงานประมง จ.เชียงราย ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาซึ่งปัจจุบันมีหลายกลุ่มใน จ.เชียงราย ได้ใช้หญ้าเนเปียร์ปากช่อง 1 มาเลี้ยงปลาแทนรูปแบบเดิม โดยมีการเปิดโรงเรียนเลี้ยงปลาแบบลดต้นทุนประชารัฐเชียงรายภายในสำนักงานประมง จ.เชียงราย และส่งเสริมการปลูกเพื่อให้เพียงพอ เพราะจากสถิติพบว่า จ.เชียงราย มีผู้เลี้ยงสัตว์น้ำรวมกันกว่า 14,097 ราย เนื้อที่เลี้ยงรวมกัน 15,092 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นปลานิล 9,503 ราย ปลาดุก 2,106 ราย โดยอยู่ในเขต อ.เชียงแสน อ.พาน โดยเฉพาะ อ.พาน มีผู้เลี้ยง 1,063 ราย เนื้อที่เลี้ยง 2,377.92 ไร่ ส่วน อ.เชียงแสน 745 ราย เนื้อที่ 2,490.76 ไร่

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์