การอาชีพวังน้ำเย็น ประดิษฐ์รถดำนาอาชีวะ ลดภาระให้เกษตรกรในขั้นตอนการดำนา

สิ่งประดิษฐ์หนึ่งที่น่าสนใจคือ “รถดำนาอาชีวะ” ของนักศึกษาจากวิทยาการอาชีพวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว โดยมีทีมงานประดิษฐ์ ได้แก่ นายบรรพต วัชรพัฒนกุล นายธนากร ชัยสา นายณัฐพล กัลยา นายเอกราช น้อยมณี นายพิเชฐ จิตรัตน์ และ นายชิน เจิมขุนทด โดยมีคณาจารย์ที่ปรึกษา ได้แก่ นายเอกพล พรมดี นางสาววัลลีย์ สราญชื่น นายศิริพงศ์ ฟองสัยเทียะ และ นางสาวบุตรดี สุนนท์

สำหรับ “รถดำนาอาชีวะ” นั้น ตัวแทนทีมงานนักศึกษาเล่าให้ฟังว่า เหตุผลที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มาเพราะต้องการลดภาระให้เกษตรกรในขั้นตอนการดำนา ซึ่งมองเห็นว่า หนึ่งในขั้นตอนการดำนา ซึ่งเริ่มต้นจากการหว่านข้าวนั้น มีวิธีการใช้การหว่านแบบดั้งเดิม คือการใช้แรงงาน ซึ่งไม่ตอบโจทย์ให้กับชาวนาสมัยใหม่ เพราะการใช้วิธีการเดิม ทำให้อาจมีหญ้าขึ้นแทรกต้นข้าวจำนวนมาก ซึ่งสุดท้ายเกษตรกรต้องหันไปใช้ยาฆ่าหญ้า ขณะที่การดำนาแบบที่ 2 ชาวนาก็ต้องดำนาแบบถอนกล้า ซึ่งต้องใช้คนงานที่มีประสบการณ์ในการดำนาแบบถอนกล้า เพราะฉะนั้นจึงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมาเพื่อลดภาระในขั้นตอนดังกล่าว

“เราตั้งเป้าไว้ว่า จะทำเวลานั้น แต่เกษตรกรต้องการให้คนงานมาทำ และคนงานไม่ว่างก็ต้องเลื่อนคิวทำให้น้ำลดหรือดินแห้งได้ เพราะฉะนั้นจึงเกิดสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา และเริ่มทดลองจากการใช้ข้าวในถาดเพาะกล้า ซึ่งจะเห็นว่าส่วนต้นกล้านี้เป็นต้นกล้าแบบถาดเพาะ เราจะใช้ถาดเพาะกล้าเป็นตัวทดลอง ซึ่งอาจจะดูยุ่งยากแต่เราใช้เวลาทดลองแล้วพบว่า เพียง 20 วัน ได้ผลการทดลองออกมาดี ซึ่งรถดำนาจะใช้แบบถาดเพาะอยู่แล้ว เช่น รถดำนาแบบเรียงแถว รถดำนาแบบเดินตาม เพราะการใช้แบบถาดเพาะทำให้เราไม่ต้องไปถอนกล้าแนวหัวปักลำ มันจะเรียงเป็นแนวเป็นแถว ขณะที่รถดำนาอาชีวะก็จะดัดแปลงมาจากรถดำนาแบบเดินตามที่มีขายอยู่ในท้องตลาด” นายณัฐพล เล่าให้ฟัง

นายณัฐพล กัลยา หนึ่งในตัวแทนทีมงานเล่าให้ฟังอีกว่า “รถดำนาอาชีวะ” มีการดัดแปลงกับรถมอเตอร์ไซค์ทำให้เป็นรถดำนาแบบนั่งขับเหนือกว่า มีประสิทธิภาพดีกว่ารถดำนาแบบเดินตาม หรือรถดำนาแบบนั่งขับ 4 แถว อย่างที่เห็นกัน ซึ่งมีคันใหญ่และราคาแพง

“รถดำนาอาชีวะตัวนี้เริ่มคิดค้นกันประมาณเดือนพฤศจิกายน ปี 2559 โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาคอยดูแล และดัดแปลงชิ้นส่วนที่เราไม่สามารถผลิตได้เอง โดยมีคุณสมบัติดำนาที่ความลึก 20-40 เซนติเมตรได้ แต่ถ้า 60 เซนติเมตร อาจมีปัญหา เพราะใช้น้ำมันเบนซิน แรงสูบอาจไม่พอ ซึ่งทางอาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า พยายามพัฒนาให้เกษตรกรใช้ได้จริง โดยเราอยากพัฒนาให้เป็นนั่งขับ เพราะวัตถุประสงค์คือ พัฒนาการทำนาแบบเดินตามให้เป็นแบบนั่งขับ เพิ่มประสิทธิภาพ และคนที่คิดจะซื้อใช้ต้องมีแปลงนา 10 ไร่ขึ้นไป เพราะต้นทุนทั้งหมดตัวละ 25,000 บาท ซึ่งเป็นราคาย่อมเยา ถูกกว่าเครื่องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะแบ่งเบาภาระเกษตรกร และแบ่งเบาการดำนาของเกษตรกรได้” นายณัฐพล กล่าว

ทั้งหมดเป็นเพียงผลงานจากนักศึกษาอาชีวะบางส่วน ซึ่งตั้งใจคิดและสร้างสรรค์ผลงานออกมาเพื่อให้เกิดการต่อยอดเป็นรูปธรรม มีการใช้งานได้จริง และที่สำคัญได้รับการประคับประคองจากอาจารย์ที่ปรึกษา ซึ่งเปรียบเสมือนพี่เลี้ยงคอยดูแลให้ต้นกล้าอาชีวะเหล่านี้เติบโตอย่างแข็งแรง ทั้งการเรียนในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ที่ต้องมีเวทีการแข่งขันให้พวกเขาหมั่นประลองฝีมือและพัฒนาตัวเอง