พฤกษา นาข้าวประวัติศาสตร์ พระปรีชาสามารถ เป็น…ช่อทิพย์รวงทอง

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร รัชกาลที่ 8 และสมเด็จพระอนุชา ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทำนา ที่อำเภอบางเขน ทอดพระเนตรกิจการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้ทรงหว่านข้าวในแปลงนาหลังตึกขาว (ปัจจุบันคือตึกพืชพรรณของกรมวิชาการเกษตร) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 อันเป็นพระราชกรณียกิจสุดท้ายในแผ่นดิน…จึงนับเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์สำคัญต่อวงการเกษตร ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ และด้วยความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งให้ความสำคัญต่อการเกษตรและชาวนาไทย สื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการปลูกข้าว และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรม

ประเทศไทย มีภูมิปัญญาอันเนื่องมาจากการปลูกข้าวและมีข้าวเป็นอาหารหลัก สืบมาเป็นเวลาช้านาน…ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2552 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันข้าวและชาวนาแห่งชาติ”

เป็นความนำสรุปตัดตอนมาจาก ความเป็นมาในกำหนดการ “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2489” จัดโดย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในงานวันรำลึก “สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยาตรามาหว่านข้าว” เมื่อวันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน พุทธศักราช 2560 ณ ห้องประชุมสุธรรม อารีกุล ชั้น 1 อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

วันที่ 18 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็น “พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย” และเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และน้อมรำลึกในพระปรีชาสามารถและพระอัจฉริยภาพ รวมทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติทั้งสองพระองค์ ในโอกาสครบรอบ 100 ปี งานวิจัยข้าวไทย ปีพุทธศักราช 2559

สำหรับในงานวันรำลึก สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ ทรงยาตรามาหว่านข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการประชุมคณะกรรมการชมรม มก.อาวุโส ครั้งที่ 5/2546 เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พุทธศักราช 2546 มีมติให้จัดงานทำบุญถวายเป็นพระราชกุศล โดยใช้ชื่องานว่า “รำลึกองค์อานันทมหิดล ล้นเกล้าล้นกระหม่อม รัชกาลที่ 8” และสถาบันวิจัยข้าว (กรมการข้าวปัจจุบัน) ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานครั้งแรก วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2546 และสืบสานต่อเนื่องถึงปัจจุบันเป็นครั้งที่ 15 ในชื่อ “งานวันรำลึกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาอนันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ทรงหว่านข้าว ณ เกษตรกลาง บางเขน เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2489” จึงนับเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นศาสตร์แห่งแผ่นดินเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวของ “ข้าว” มีประวัติความเป็นมา มีหลักฐานสำคัญแสดงให้เห็นได้ว่ามีการปลูกข้าวหลายพันปีมาแล้ว สมัยกรุงศรีอยุธยาก็มีการค้าขายกับต่างประเทศ เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญ มีการเก็บภาษีที่นาไร่ละสลึง เรียกว่า “หางข้าว” ชาวนาต้องส่งข้าวเปลือกให้แก่ฉางหลวงทุกปี ต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ก็มีการเก็บอากรข้าวเป็นข้าวเปลือกเข้ายุ้งฉางของหลวง สำหรับใช้ในยามฉุกเฉิน สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเปลี่ยนจากอากรหางข้าว มาเป็นเงินนา ส่วนข้าวที่เหลือจากการกินในประเทศมีพ่อค้าต่างประเทศมารับซื้อ

สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านการพาณิชย์ สมเด็จพระราชินีวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ได้ส่ง เซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง มาเจริญสัมพันธ์ไมตรีกับไทย และทำสนธิสัญญาขึ้น เรียกว่า สนธิสัญญาเบาว์ริ่ง ทำให้มีการค้าข้าวกับชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ส่ลผลให้ข้าวมีราคาสูงขึ้น และเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศ ทำให้การผลิตข้าวของไทยขยายตัวเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนางานด้านข้าวของไทยอย่างแท้จริง ดังเช่น พ.ศ. 2431 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้สัมปทานงานชลประทานแก่ “บริษัทขุดคลอง และคูนาสยาม” เพื่อให้ขุดระบบคลองในทุ่งหลวงรังสิต และยังมีพระราชกรณียกิจอื่นๆ อันเป็นการพัฒนาปฏิรูปเกี่ยวข้องกับการทำนาปลูกข้าวอีกมากมายทุกช่วงเหตุการณ์

มีการจัดงานฉลอง “30 ปี เทคโนโลยีชาวบ้าน” ภายใต้ชื่องาน “เกษตรมหัศจรรย์ 2560 พืชกินได้ ไม้ขายดี” เมื่อวันที่ 7-10 กันยายน 2560 ณ ชั้น 3 สกายฮอลล์ เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรให้คนรุ่นใหม่ยุค 4.0 สนใจงานการเกษตรยุคปัจจุบัน และเกิดความหวังความมั่นคงในอนาคต มุ่งมั่นกับงานเกษตรอย่างจริงจัง และคนรุ่นเก่าก็มีโอกาสพัฒนาผลิตผลผลิตภัณฑ์ของตนให้ดีขึ้น เนื่องจากกิจกรรมในงานนี้มีทั้งนิทรรศการ มหัศจรรย์พืชยักษ์ ไม้พันธุ์ใหม่ ไม้ขายดี ที่รวมมาเป็นร้อยสายพันธุ์ พร้อมทั้งเป็นครั้งแรกที่ได้รับเกียรติจาก “สวนนงนุช พัทยา” นำพันธุ์ไม้แปลก หายาก ทรงคุณค่ามาให้ชมอย่างใกล้ชิด สมดังการเป็นเจ้าของรางวัล Gold Medal การจัดสวนระดับโลก “Chelsea Flower Show” กรุงลอนดอน อังกฤษ 6 ปีซ้อน รวมทั้งมีเวิร์กชอปเกษตร-ศิลป์ เมนูโภชนาการสำหรับคนมีสไตล์อีกมากมาย และในงานนี้ยังมีการจัดจำลองบรรยากาศผลผลิตจากนาข้าว ราวกับยกผืนนามาให้ชม แต่มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผู้เข้าร่วมชมในงานนี้ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “2 มหาราชา พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย และพระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย”

จากบอร์ดห้องนิทรรศการของกรมการข้าว ในงาน “เกษตรมหัศจรรย์ 2560 พืชกินได้ ไม้ขายดี” ภายใต้กอข้าวสด กองฟอง ผลผลิตจากไร่นา และจำลองกระท่อมชาวนาที่มีพระบรมสาทิศลักษณ์แห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ประดิษฐานอยู่ แล้วยังมีบอร์ดนิทรรศการแสดงตารางพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ “นาข้าว” ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 9 พร้อมช่วงปีพุทธศักราชในเหตุการณ์ประจำพระองค์

จากที่ได้กล่าวมาในตอนต้น ที่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงพัฒนางานด้านการข้าว ในองค์พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 เริ่มพระราชทานพระบรมราชานุญาตขุดคลองทุ่งรังสิต พ.ศ. 2431 จึงขอสรุปลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ในปี พ.ศ. แต่ละรัชกาล ซึ่งบอร์ดจากกรมการข้าวได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องข้าว ดังนี้

รัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2442 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกระทรวงเกษตราธิการ

รัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2450 จัดประกวดพันธุ์ข้าวครั้งแรก ที่เมืองธัญบุรี

รัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2453 จัดการประกวดพันธุ์ข้าวทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 เป็นจุดเริ่มแรกงาน “วันเกษตรแห่งชาติ”

รัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2459 ตั้งสถานีนาทดลองคลองรังสิต ที่อำเภอธัญบุรี เป็นสถานีทดลองข้าวแห่งแรก (ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีในปัจจุบัน)

รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2464 ก่อตั้งกิ่งสถานีทดลองคัดเลือกพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำ ที่บางปะหัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2474 ก่อตั้งกิ่งสถานีทดลองคลองหลวง ขยายพันธุ์ข้าวส่งออก

รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2475 รวมกระทรวงเกษตราธิการ กับกระทรวงพาณิชย์ และคมนาคม เป็นกระทรวงเกษตรพาณิชยการ

รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2476 ข้าวไทยได้รับรางวัลที่ 1, 2, 3 และรางวัลอื่นๆ อีก 8 รางวัล จาก 20 รางวัล ในการประกวดข้าวโลกขึ้นที่เมืองเรจินา ประเทศแคนาดา ข้าวพันธุ์ “ปิ่นแก้ว” จากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2476 ทำให้ข้าวไทยเป็นที่รู้จักทั่วโลก

รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2477 แยกกระทรวงเศรษฐการ ออกเป็น “ทบวงเกษตราธิการ” กับ ทบวงพาณิชย และคมนาคม

รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2478 นำข้าวพันธุ์ดี จากสถานีทดลองข้าวบางเขนขยายพันธุ์

รัชกาลที่ 7 ปี พ.ศ. 2481 “แผนกข้าว” ได้รับการสถาปนา เป็น “กองการข้าว”

รัชกาลที่ 8 ปี พ.ศ. 2489 เสด็จทอดพระเนตรชาวนา ประมาณ 50 คน แสดงการทำนาและทรงหว่านข้าวไว้ในผืนนาริมวัดพระศรีมหาธาตุทิศเหนือ

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2496 แยกกองข้าวออก สถาปนาขึ้นเป็น “กรมการข้าว” ต่อมามีสถานีทดลองข้าวเพิ่มขึ้น เป็น 21 สถานีทดลอง

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2498 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชินี เสด็จเยี่ยมราษฎรและทอดพระเนตรกิจการสถานีทดลองข้าวจังหวัดนครราชสีมา

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชกระแสให้ปรับปรุงพิธีการเสด็จพระราชดำเนินทรงเป็นประธานในพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2506 เสด็จเยี่ยมสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2514 ทรงเปิดโรงสีข้าวตัวอย่าง ในสวนจิตรลดา

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2515 กรมการข้าว กับ กรมกสิกรรม รวมเป็นกรมวิชาการเกษตร และมีชื่อ “กองการข้าว” อีกครั้ง สังกัดกรมวิชาการเกษตร

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2519 มีพระราชประสงค์ให้พิจารณาจัดตั้งธนาคารข้าวของราษฎรขึ้น

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2524 เสด็จเยี่ยมสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง ครั้งที่ 1

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2525 เสด็จเยี่ยมสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวสะเมิง ครั้งที่ 2

มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการ กรมวิชาการเกษตรใหม่ กองการข้าว เปลี่ยนชื่อเป็น “สถาบันวิจัยข้าว”

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2527 มีพระบรมราชานุญาตจัดตั้งสถานีทดลองข้าวไร่และธัญพืชเมืองหนาวปางมะผ้า

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2529 มีสถานีทดลองข้าวได้ยกสถานีเป็นศูนย์วิจัยข้าวอีก 4 แห่ง มีสถานีทดลองข้าวเพิ่มขึ้นใหม่ 2 แห่ง

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2535 ทรงทดลองปลูกข้าวญี่ปุ่น พันธุ์โคชิอิการิ ที่แปลงนาทดลองภายในสวนจิตรลดา

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2539 ทรงเกี่ยวข้าวเป็นปฐมฤกษ์ในแปลงนาสาธิต ณ ทุ่งมะขามหย่อง ตำบลบ้านใหม่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญทองเฉลิมพระเกียรติ

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2541 ทรงเกี่ยวข้าวพันธุ์ข้าวจ้าวหอมสุพรรณ ในแปลงนาโครงการส่วนพระองค์ อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีให้จัดตั้ง “กรมการข้าว” แทนชื่อสำนักงานข้าวแห่งชาติ

รัชกาลที่ 9 ปี พ.ศ. 2552 สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ ทูลเกล้าฯ ถวายต้นข้าวชุบทองคำ เพื่อแสดงความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ เป็นองค์อุปถัมภ์ครบ 10 ปี

ยังมีพระราชกรณียกิจที่ทรงเป็นพระมิ่งขวัญแก่เหล่าพสกนิกรอีกมากมายจนถึงสิ้นรัชกาล ดังที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็น “พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย” และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

เพลง ช่อทิพย์รวงทอง

คำร้อง พยงค์ มุกดา

ทำนอง ทองคำ ปราโมช

ขับร้อง สมยศ ทัศนพันธ์

 

     รุ่งแล้วอรุณอุ่นไอแสงส่องทั่วท้องคันนา อร่ามงามตาช่อทิพย์รวงทอง ชูช่อเหลืองประเทืองงามผ่องดังหนึ่งน้องพธูนารี โพสพเทวีเฉิดฉันท์

     รุ่งทิพย์รวงทองพี่มองเหมือนเช่นใดได้เห็นอนงค์ ยืนอวดเอวองค์อ่อนช้อยลาวัณย์ งามดุจฟ้าเทวามาปั้น ดั่งสวรรค์ประทานนางมา เมื่อฟ้าสีทองอุทัย

รวงทองชูต้นเหมือนคนใจเดียว รอฤดูเก็บเกี่ยว แหงนคอรอเคียวเกี่ยวไป สาวเอย แม่มัวเฉยเมยคอยใคร ให้พี่เก็บเกี่ยวเจ้าไป สู่ยุ้งฉางในหทัยรักพี่

ช่อทิพย์ รวงทองพี่ปองน้องยิ่งกว่าหญิงใดๆ จะเก็บเกี่ยวไปเป็นขวัญชีวี เป็นช่อทิพย์ในดวงใจพี่ รวงทองนี้ปราณีให้เคียว เกี่ยวน้องไว้ครองคู่เอย…

 

บทเพลงอมตะโดยนักร้องระดับตำนาน ก็เปรียบเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เช่นกัน เนื่องจากเพลงบทนี้บันทึกเสียงครั้งแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2498 โดย คุณสมยศ ทัศนพันธ์ เป็นแผ่นครั่ง สปีด 78 นับว่าทันสมัยมากช่วงเวลานั้น แต่หากนับอายุเพลงแล้วสิริอายุก็ 62 ปี เกษียณอายุไปแล้ว แต่สิ่งที่น่าประทับใจที่สุดก็คือ มีนักร้องระดับตำนานเช่นกันนำมาขับร้องมากมาย เช่น คุณชรินทร์ นันทนาคร ไพรวัลย์ ลูกเพชร ยอดรัก สลักใจ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เอกชัย ศรีวิชัย หยาด นภาลัย และรวมทั้งวงวัยรุ่นเมื่อ 30 ปีมาแล้ว คือ วงอินโนเซนท์

ความยอดเยี่ยมของเพลงนี้คือ ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานถึง 3 รางวัล ในการประกวดครั้งที่ 2 ประจำปี 2508 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2509 ได้ทั้งคำร้องยอดเยี่ยม ทำนองยอดเยี่ยม และนักร้องยอดเยี่ยม (สมยศ ทัศนพันธ์)

ด้วยพระบารมีพระปรีชาสามารถจากองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกพระองค์ ที่ได้เอ่ยพระนามทุกรัชกาล พสกนิกรจึงได้รับผืนนาแห่งประวัติศาสตร์สืบทอดให้ได้เห็น “รวงทอง” ในท้องนาทุกฤดูเก็บเกี่ยวตลอดไป