ส.อาหารสำเร็จรูปชี้ “ข้าว” ดันส่งออกปี ’60 โตทะลุ 8%

สมาคมอาหารสำเร็จรูป ปลื้มปิดบัญชีส่งออกอาหารปี 2560 พุ่ง 8% เกินคาดการณ์ อานิสงส์ส่งออกข้าวสารสต๊อกรัฐพุ่ง คาดปี 2561 เศรษฐกิจโลกฟื้นยอดส่งออกโตต่อเนื่อง 3%

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การส่งออกในอุตสาหกรรมอาหารปี 2561 คาดการณ์เฉลี่ยจะขยายตัว 1-3% เป็นการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2560 ที่คาดการณ์ขยายตัวเฉลี่ย 7-8% เนื่องจากปีนี้ยอดส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากการส่งออกข้าว โดยใช้ข้าวสารจากสต๊อกรัฐบาล แต่ในปี 2561 สต๊อกข้าวสารรัฐบาลคาดว่าจะระบายออกหมดแล้ว การส่งออกจึงกลับสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะขยายตัวในระดับ 1-3% จากปัจจัยเรื่องของเศรษฐกิจโลกและประเทศผู้นำเข้ายังขยายตัวไปในทิศทางที่ดี รวมไปถึงปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้ของประเทศผู้นำเข้า อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมจะมีการประชุมหารือเพื่อประเมินภาพการส่งออกในปี 2561 อีกครั้งในเร็วนี้ๆ

“ส่งออกเติบโตอยู่ที่ 7-8% จากช่วงต้นปีที่เคยประเมินว่าจะขยายตัวประมาณ 5% (มูลค่า 2.1 แสนล้านบาท) เนื่องจากหลายสินค้าขยายตัวจากปี 2559 อย่างมาก โดยเฉพาะการส่งออกข้าวที่ขยายตัวอย่างมากจากการระบายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาล และปัญหาภัยแล้งในประเทศคู่ค้า ส่งผลให้มีการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ สินค้าผักและผลไม้ กลุ่มสินค้าอาหารทะเล ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัวต่อเนื่องมา 2 ปี โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดตลาดญี่ปุ่น และการเปิดตลาดนำเข้าของเกาหลีใต้ ที่มีความมั่นใจนำเข้าไก่สดจากไทย และประเทศผู้ส่งออกไก่รายอื่นประสบปัญหาไข้หวัดนก จึงนำเข้าจากไทยไปทดแทนประเทศที่มีปัญหาดังกล่าว”

อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกยังต้องการขยายตลาดไปในกลุ่มอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น ตะวันออกกลาง มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น แต่การขยายการส่งออกเข้าไปในตลาดประเทศมุสลิมกลุ่มนี้ ทางผู้ส่งออกหรือโรงงานผลิตอาจต้องปรับตัวอย่างมาก เพราะมีเงื่อนไขการส่งออกที่แตกต่างไปจากประเทศผู้นำเข้าหลัก

นอกจากนี้ ไทยยังจำเป็นต้องรักษาตลาดส่งออกหลัก ซึ่งเป็นตลาดเดิม เช่น อังกฤษ หลังจากการแยกตัวจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) แล้ว ผลอย่างเป็นทางการที่ชัดเจนจะเป็นอย่างไรผู้ส่งออกต้องมีการพิจารณาและปรับตัว เนื่องจากต้องยอมรับว่าการส่งออกไปในประเทศอังกฤษ มีสัดส่วนพอสมควรสำหรับการส่งออกกลุ่มอาหาร

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า แม้ว่าภาพการส่งออกอาหารจะขยายตัว แต่ยังมีสินค้าบางรายการที่ยังขยายตัวไม่มาก เช่น การส่งออกสับปะรด ปริมาณการส่งออกขยายตัวแต่มูลค่ากลับลดลง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้นมาจากผลผลิตน้อยลง ขณะที่เพิ่มราคาไม่ได้ มูลค่าการส่งออกอาจจะลดลงบ้าง

นอกจากนี้ มีสินค้าอาหารทะเลที่กระทบบ้างเล็กน้อย เนื่องจากปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (IUU) เพราะผลผลิตน้อยลง การจับปลามีกฎระเบียบ ต้องมีใบอนุญาตที่ถูกต้อง หากไม่มีจะไม่สามารถส่งออกได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกส่วนใหญ่สามารถปรับตัวได้

“สิ่งที่ต้องติดตามผลกระทบที่จะมีต่อการส่งออกในกลุ่มอาหารของไทยต่อเนื่องถึงปีหน้า คือ เรื่องกฎระเบียบหรือประกาศใหม่ที่จะมีผลต่อการนำเข้าสินค้า ประเทศที่น่าจับตาคือสหรัฐและสหภาพยุโรป ซึ่งผู้ส่งออกควรติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง”

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อการส่งออกขยายตัวมาก อาจทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ที่นำเข้ามาไม่เพียงพอที่จะใส่สินค้าส่งออกไป ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อต้นทุนการส่งออกสินค้าได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 12 – วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม 2560