ภาวะลิ้นติด

ยุคนี้เป็นยุคที่มีการรณรงค์ให้ทารกดื่มนมแม่แทนการพดื่มนมเสริมจากขวดเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม มีคุณแม่บางคนที่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จากการสำรวจพบว่า ในร้อยคนที่มีปัญหาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ จะมีเด็กประมาณ 13 คน ที่ปัญหาเกิดมาจากมีภาวะลิ้นติด (ankyloglossia หรือ tongue-tie)

ภาวะลิ้นติดเป็นภาวะที่เนื้อเยื่อยึดลิ้น (lingual frenulum) ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อที่ยึดเกาะระหว่างใต้ลิ้นกับพื้นล่างของช่องปากสั้นเกินไป หรือตำแหน่งที่เกาะอายุอยู่ปลายลิ้นเกินไป ทำให้ไปดึงรั้งลิ้น เป็นผลให้การเคลื่อนไหวโดยอิสระของลิ้นถูกจำกัดไม่สามารถกระดกลิ้นขึ้นแตะเพดาน หรือแลบลิ้นมาข้างหน้าได้ เนื้อเยื่อยึดลิ้นอาจดึงปลายลิ้นจนทำให้เห็นปลายลิ้นเป็นรูปตัววี หรือเป็นรูปหัวใจ ภาวะนี้มักเป็นกรรมพันธุ์และไม่สามารถป้องกันได้

ภาวะลิ้นติดมากๆ ในเด็กเล็กอาจทำให้เกิดปัญหาดูดนมแม่ได้ไม่ดี เนื่องจากขณะดูดนม ทารกจะต้องอมหัวนมแม่และลิ้นต้องแนบสนิทกับเต้านมเพื่อสร้างภาวะสุญญากาศ จากนั้นลิ้นต้องเคลื่อนไหวขึ้นลงเป็นลูกคลื่น (peristalsis) เพื่อปั๊มน้ำนม ภาวะลิ้นติดทำให้การเคลื่อนไหวลิ้นถูกจำกัด เมื่ออมหัวนมแล้วมักหลุด ดูดนมได้ไม่เต็มที่ ทำให้น้ำหนักตัวเด็กทารกไม่ค่อยขึ้น เนื่องจากได้รับนมไม่เพียงพอ เด็กกลุ่มนี้ควรได้รับการแก้ไขโดยการผ่าตัดเนื้อยึดลิ้น

การผ่าตัดเนื้อเยื่อยึดลิ้นเป็นการผ่าตัดที่ง่าย และไม่ซับซ้อน ขึ้นกับว่าเนื้อเยื่อยึดลิ้นนั้นหนาและมีองค์ประกอบอย่างไร โดยทั่วไปเนื้อยึดลิ้น จะเป็นแผ่นเยื่อบางๆ โปร่งแสง เส้นเลือดและเส้นประสาทที่มาเลี้ยงมีน้อยมาก ทำให้การผ่าตัดเกือบไม่มีการเสียเลือด ใช้เพียงยาชาเฉพาะที่ป้ายจากภายนอกก็เพียงพอ เมื่อทำการผ่าตัดเสร็จสามารถให้เด็กดูดนมได้เลย โดยเฉพาระเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 4 เดือน ในกรณีส่วนน้อยที่เนื้อเยื่อยึดลิ้นหนา และมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เหนียว หรือกล้ามเนื้อเป็นแกนอยู่ภายใน ทำให้มีเลือดมาเลี้ยงค่อนข้างมาก ควรปรึกษาและส่งให้ผ่าตัดโดยแพทย์ หรือทันตแพทย์

ตามความเห็นของผู้เขียน ภาวะลิ้นติดสามารถผ่าตัดแก้ไขได้ง่าย จึงควรแก้ไขตั้งแต่เป็นทารก นอกจากทำให้ทารกดูดนมได้ดีแล้ว ยังเป็นการป้องกันปัญหาที่จะตามมาเมื่อปล่อยให้ภาวะลิ้นติดคงอยู่จนโต เช่น ปัญหาการพูดไม่ชัด ซึ่งมักตามมาด้วยปัญหาเรื่องบุคลิกภาพและการขาดความมั่นใจในตนเอง หากมาแก้ไขภาวะลิ้นติดตอนโต มักได้ผลไม่ดีนัก เนื่องจากความเคยชินจากรูปแบบการพูดภายใต้ภาวะลิ้นติดมาโดยตลอด

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม 2560