โรงงาน-ชาวไร่ค้านแก้ พ.ร.บ.อ้อย ผลประโยชน์บนเส้นด้าย WTO

ร้อนระอุขึ้นอีกครั้งสำหรับรัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสมาคมผู้ผลิตอ้อยและน้ำตาลของประเทศบราซิล ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกน้ำตาลไปขายในตลาดโลก ได้เรียกร้องให้รัฐบาลบราซิลยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการอุดหนุนการส่งออก และอุดหนุนอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลภายในประเทศไทย จนส่งผลกระทบต่อการส่งออกน้ำตาลของประเทศบราซิล และกระทบต่ออุตสาหกรรมน้ำตาลภายในประเทศบราซิล จนมีการปิดโรงงานน้ำตาลไปกว่า 50 โรงงาน

เพราะหาก “แพ้คดี” ขึ้นมา นั่นหมายถึงความเสียหายไม่ใช่เพียงระดับหลายหมื่นล้านบาท จากการที่จะต้องจ่ายค่าเสียหาย แต่ผลกระทบจะเกิดขึ้นกับประเทศชาติอย่างประเมินค่ามิได้ หากถูกประเทศที่จ้องเล่นงานไทยอย่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป หาเรื่องกระทบชิ่งไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มิใช่เฉพาะอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย

สอน.ลุยแก้ พ.ร.บ.ตาม “ใบสั่ง”

เรื่อง นี้พลเอกประยุทธ์ถึงกับสั่งการให้ นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ไปดำเนินการแก้ปัญหาข้อขัดแย้งต่าง ๆ ให้เรียบร้อย โดยระบุว่า ไม่ต้องการให้มีปัญหาข้อขัดแย้งกับต่างประเทศ เพราะนายกฯทราบดีว่ามีหลายประเทศที่พร้อมทิ่มแทงไทย

การทำงานให้ บรรลุเป้าหมายในการแก้ข้อกล่าวหาต่าง ๆ ที่รัฐบาลบราซิลแสดงความกังวล จึงเป็นหน้าที่หลักของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมี นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการ เป็นผู้กุมบังเหียน ได้เร่งเครื่องเต็มสูบในการเดินตาม “ใบสั่ง” เพราะตามขั้นตอนแรกของการยื่นฟ้อง WTO มีกำหนดระยะเวลาในการหารือระหว่างคู่กรณีภายใน 60 วัน นับจากวันที่ยื่นคำร้อง

ด้วยการเปิดฉากลุยทำแผนปรับโครงสร้าง อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย รวมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทรายพ.ศ. 2527 ที่ใช้มานานเกือบ 32 ปี เพื่อปลดล็อกปมต่าง ๆ ที่บราซิลกล่าวหาไทยให้ทันเวลาที่ไล่หลังมา ได้แก่

1) ไทยอุดหนุนส่งออกน้ำตาลสูงมาก หากเทียบกับที่ผูกพันไว้กับ WTO คือปีละ 19,000 ล้านเหรียญสหรัฐในสินค้าเกษตรทั้งหมด 2) การจัดระบบการจำหน่ายน้ำตาลทรายออกเป็น โควตา ก. เพื่อบริโภคในประเทศ, โควตา ข. ส่งออกโดยบริษัท อ้อยและน้ำตาลไทย จำกัด (อนท.) และโควตา ค.

น้ำตาล ที่ส่งออกไปต่างประเทศที่หักจากโควตา ก. และโควตา ข. อาจเป็นระบบที่เรียกว่า Cross Subsidy หรือการอุดหนุนที่ให้ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งซื้อน้ำตาลแพง/ถูกกว่าผู้บริโภค อีกกลุ่มหนึ่ง

3) กรณีที่ พ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาล กำหนดให้จ่าย “เงินชดเชย” ให้กับชาวไร่อ้อยในอัตรา 160 บาท/ตันนั้น แม้ว่าจะเป็นเงินกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ให้กู้ตามคณะรัฐมนตรีอนุมัติถือเป็นนโยบายรัฐบาล

นอกจากนี้ การที่ครม.ประกาศราคาอ้อยขั้นต้น และขั้นสุดท้าย บราซิลมองว่า รัฐบาลมีการประกันราคา

“กากอ้อย-ตะกอน” ขัดแย้งหนัก

ปกติ การแก้ปัญหาในระบบอ้อยและน้ำตาลทราย ต้องมีการเปิดฉากเจรจาระหว่างแกนนำชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลให้ได้ข้อยุติ ในหลักการก่อน จึงจะนำไปสู่การแก้ไขกฎกติกา ซึ่งที่ผ่านมามีการตั้งคณะทำงานปรับโครงสร้างมาหลายชุดในหลายรัฐบาล แต่ยังตกลงกันไม่ได้ในหลายเรื่อง โดยเฉพาะการแบ่งปันผลประโยชน์ และการเปิดเสรีอ้อยและน้ำตาล ซึ่งยืดเยื้อมาไม่ต่ำกว่า 20 ปีแล้ว

ดังนั้นเมื่อมีบราซิลเอาดาบมาจี้ข้างหลังเช่นนี้ ทำให้ สอน.ลุยโดยไม่รั้งรอผลการตกลงของคณะทำงานปรับโครงสร้างอีกต่อไป

เริ่มด้วยการเสนอให้ยกเลิกระบบโควตา ก. ข. ค. โดยให้มีการสต๊อกน้ำตาลภายในไว้ในปริมาณเพียงพอต่อการบริโภค ถ้าเพียงพอแล้วจึงอนุญาตให้ส่งออก แต่การส่งออกให้ถือตามข้อตกลงโดยผ่าน อนท.

นอกจากนี้ ให้ยกเลิกการกำหนดราคาน้ำตาลภายในประเทศของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) โดยให้กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายอยู่แล้วเป็นผู้กำหนดราคาหน้าโรงงาน ขายปลีก ขายส่ง ในลักษณะที่ TDRI เคยศึกษาไว้ เป็นราคากึ่งลอยตัว ราคาเป็นไปตามกลไกตลาดโลก ถ้ามีการนำเข้าน้ำตาลจากต่างประเทศเข้ามาขายภายในประเทศต้องราคาสูงกว่า จะมีส่วนต่าง จะทำลักษณะคู่ขนานกึ่งลอยตัว

ส่วนเรื่องเงินชดเชย 160 บาทจะต้องยกเลิกไป และการประกันราคาที่บราซิลกล่าวหาไทยได้มีการปรับแก้มาตรา 56 ให้สอดคล้องไม่ผิดหลักการของ WTO

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขข้อกล่าวหาแต่ละปมได้สร้างความไม่พอใจให้ 3 สมาคม

โรงงานน้ำตาลทราย มีข้อคัดค้านไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น โดยเฉพาะการปรับคำนิยาม “ผลพลอยได้” ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงาน ซึ่งเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่คงไม่ยอมกันง่าย ๆ

ถึงกับที่ นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย (TSMC) กล่าวในเวทีการเปิดประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.อ้อยฯ เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ว่า

“ในอดีตกว่าที่จะตกลงเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่และโรงงานได้ มีการคุยกันค่อนข้างหนัก ′มีการยิงระดับผู้นำตายไปหลายคน′ เป็นประวัติศาสตร์ของอุตสาหกรรมนี้เลยทีเดียว ฉะนั้นจุดของการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมนี้ได้เริ่มจากการเสียเลือดเนื้อของคน ไปหลายคน ถึงได้สงบและเดินมาเรื่อยๆ”

ทั้งนี้ ทางสมาคมได้ยื่นหนังสือข้อคิดเห็นและคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และประเพณีปฏิบัติที่ยึดโยงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงาน น้ำตาล ซึ่งยึดหลักการแบ่งปันรายได้จากระบบมายาวนานกว่า 30 ปี

โดยเฉพาะมาตรา 3 ได้กำหนดให้กากอ้อยและกากตะกอนกรอง เข้าไปรวมในคำนิยามของ “ผลพลอยได้” โดยกำหนดให้นำไปคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนจากการผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทราย ด้วย จากเดิมที่กากอ้อยและกากตะกอนกรองได้ถูกรวมอยู่ในน้ำหนักอ้อยเข้าหีบที่โรง งานซื้อไปแล้ว และยังเป็นของเสียจากกระบวนการผลิต ทำให้โรงงานน้ำตาลมีค่าใช้จ่ายในการกำจัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดังนั้นโรงงานน้ำตาลทุกแห่ง จึงนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายและมีเพียงบางโรงที่มี เพียงพอนำไปจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยลงทุนเองทั้งหมด ที่สำคัญมาตราดังกล่าวยังไม่ได้รับการเห็นพ้องร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย คือชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลก่อน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและไม่สามารถปฏิบัติได้ในอนาคต

การกำหนดนิยามตามร่างแก้ไข พ.ร.บ. ในมาตรา 3 ขัดกับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดปริมาณการผลิตน้ำตาลและเงื่อนไข และราคาการรับซื้ออ้อยที่กำหนดให้แบ่งรายได้สุทธิจากการขายน้ำตาลภายใน ประเทศและต่างประเทศ ในสัดส่วน 70/30 โดยผลพลอยได้ทุกชนิดจากการผลิตอ้อยให้ตกเป็นของโรงงานน้ำตาล ซึ่งเป็นไปตามสัญญาซื้อขายอ้อยระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาล

นอกจากนี้ ในการแก้ไขมาตรา 17 อาจจะขัดแย้งกับข้อตกลง WTO ในหลายประเด็น เช่น คงให้ กอน.กำหนดหรือจัดสรรปริมาณน้ำตาลให้แก่โรงงานน้ำตาลผลิต หรือประเด็นการยังคงให้รัฐมนตรีเห็นชอบตามข้อเสนอการแก้ไข พ.ร.บ.ดังกล่าวในบางมาตรา แทน ครม. ยังถือว่า รัฐบาลเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องหรือไม่ เนื่องจากมีการกำหนดให้ลงราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับในทางกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ทุกเรื่องจะลุกลามบานปลายใหญ่โต อยากให้ทุกฝ่ายนึกถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ และส่วนรวมเป็นที่ตั้ง