พิกุล…ไม้ในวรรณคดี หอมแบบไทยๆ ให้ร่มเงาอย่างดี

ชื่อทั่วไป : Bullet wood

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mimusops elengi Linn.

Family : SAPOTACEAE

“ลำดวนเอ๋ยพี่จะด่วนไปก่อนแล้ว

ทั้งเกดแก้วพิกุลยี่สุนศรี

จะโรยร้างห่างสิ้นกลิ่นมาลี

จำปีเอ๋ยกี่ปีจะมาพบ

ที่มีกลิ่นก็จะคลายหายหอม

จะพลอยตรอมเหือดสิ้นกลิ่นตลบ

ที่มีดอกก็จะวายระคายครบ

จะเหี่ยวแห้งเซาซบสลบไป

ต้นน้อยน้อยลูกย้อยระย้าดี

ตั้งแต่นี้จะไปชมต้นไม้ใหญ่

จะทิ้งเรือนไปร้างอยู่กลางไพร

ยุงร่านริ้นไรจะตอมกาย

รากไม้จะต่างหมอนนอนอนาถ

ดาวดาษจะต่างไต้น่าใจหาย

ลงบันไดใจเจียนจะขาดตาย

น้ำตาตกกระจายพรั่งพรายลง”

จากบทเสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ตอนขุนแผนกล่อมนางพิมพิลาไลยบนเรือนขุนช้าง

พิกุล เป็นไม้ยืนต้นที่คุ้นเคยกับคนไทยเรามาช้านาน ส่วนมากจะพบปลูกกันตามวัดวาอารามทั่วไป เนื่องจากมีทรงพุ่มสง่างาม ใบหนาทึบให้ร่มเงาอย่างดี ดอกก็หอมอีกต่างหาก เวลาผลสุกก็เป็นอาหารของนก หนู กระรอก ได้ เพราะมีรสหวานปะแล่มๆ เจือฝาดนิดๆ

คนก็กินได้แต่ต้องมีเทคนิคนิดหน่อยคือ ต้องรีบบีบผลหย่อนเข้าปากให้เร็วๆ พยายามอย่าให้โดนลม       มิฉะนั้นจะฝาดและขม

คำว่า “พิกุล” นั้น มาจากภาษาอินเดีย แต่ในบาลี-สันสกฤต กลับออกเสียงว่า “พกุล” ถ้าพิจารณาจากหนังสือมหาชาติคำหลวงสมัยกรุงศรีอยุธยากล่าวถึงตอนอจุตฤๅษีพรรณนาให้ชูชกฟังถึงพรรณไม้ในป่าไว้ว่า “ปงกุรา พกุล เสลา ไม้พกุล สุกรมก็มี” ในกาลต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “พิกุล” ส่วน สุกรม นั้นหมายถึง ดอกพะยอม นั่นเอง ซึ่งเป็นการแปลแบบไทยๆ โดยพระยาศรีสุนทรโวหาร น้อย อาจารยางกูร ท่านได้อธิบายเสริมไว้ว่า “พกุล คำในบาลี ไทยใช้พาที เติมสระอิ เป็น พิกุล ไป”

คนโบราณถือว่าการปลูกต้นพิกุลไว้ในบริเวณบ้านเรือนที่อยู่อาศัย จะทำให้เจ้าของบ้านมีสุขภาพแข็งแรง อายุยืน เป็นสิริมงคล เพราะเชื่อว่าต้นพิกุลมีเทวดาทวยเทพสถิตรักษา มีความขลังและศักดิ์สิทธิ์ในตัว เนื่องจากเดิมในตำนานบอกไว้ว่า พิกุลมีอยู่บนสวนสวรรค์ชั้นมิสกวันของพระอินทร์ จะเห็นได้จากโบราณราชประเพณีก็จะมีการจำลองดอกพิกุล มาประดิษฐ์เป็น ดอกพิกุลเงิน-พิกุลทอง ใช้ในงานมงคลต่างๆ โดยเฉพาะในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แม้กระทั่งงานจิตรกรรมไทยก็ยังมีลายดอกพิกุลเป็นต้นแบบอย่างหนึ่งเช่นกัน

ดอกพิกุล มักจะออกตามซอกกิ่ง เป็นดอกเดี่ยวๆ บางทีก็เป็นกระจุกเล็กๆ คล้ายช่อ ประมาณ 2-6 ดอก แต่ละดอกมี 8 กลีบ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่วบริเวณ แม้กระทั่งแห้งแล้วก็ยังคงไว้ซึ่งความหอม อันนี้เป็นคุณสมบัติของดอกไม้ที่ผู้เขียนชอบมากเป็นการส่วนตัว ดอกพิกุลแห้งยังจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งห้า” อันประกอบไปด้วย ดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี และดอกบัวหลวง ใช้ปรุงเป็นยาหอม สรรพคุณบำรุงหัวใจ ทำให้ชุ่มชื่น แก้วิงเวียนหน้ามืด ตาลาย อ่อนเพลีย บำรุงครรภ์ ต้นพิกุลอายุมากๆ หากมีเชื้อราลงในลำต้นจะเป็นลายจุดประสีขาว เป็นก้อน เรียกว่า “ขอนดอก” ซึ่งขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่าได้จากไม้ชนิดอื่น

ผลพิกุล ลักษณะกลมรียาวคล้ายลูกละมุดสีดาแต่ขนาดเล็กกว่านิดหน่อย ดิบๆ สีเขียว พอสุกจะเปลี่ยนเป็นสีส้มสะดุดตา เป็นอาหารโอชะของนก หนู กระรอก ภายในผลมีเมล็ดแบนๆ 1 เมล็ด ช่วงที่พิกุลออกดอกเยอะๆ เด็กๆสมัยก่อนชอบเก็บมาร้อยเป็นพวงมาลัยคล้องคอ หรือไม่ก็ทำเป็นกำไลข้อมือสวมใส่เล่นสนุกๆ ปัจจุบัน เด็กยุคนี้คงไม่มีใครเล่นแบบนี้อีกแล้ว โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเดินไปเจอดอกพิกุลร่วงๆ ตามริมถนนยังอดหยุดดูไม่ได้ แถมเก็บใส่กระเป๋ากลับบ้านเอามาวางไว้หัวเตียงเสมอ เพื่อเตือนความทรงจำวัยเด็ก ยามดึกๆ ส่งกลิ่นหอมวังเวงจับใจดีพิลึก ชวนให้นึกถึงนางในวรรณคดีห่มสไบมานั่งตีขิมให้ฟัง

ยิ่งเปิดเพลงไทยเดิมคลอๆ ไปด้วยนะ ฟินสุดๆ อันนี้ไม่สงวนลิขสิทธิ์นะ ลองดูได้ครับ

………………..

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560