ไฟเขียว 1.9 พันล้าน แก้ปัญหาน้ำ-หนุนเอกชนแปรรูปสินค้าเกษตรหวังส่งออกเกาหลี-ญี่ปุ่น

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกรในภาคเหนือ ณ จังหวัดพิษณุโลก ว่า เอกชน ภาคเหนือเสนอของบประมาณดำเนิน 124 โครงการ วงเงิน 9,600 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการน้ำขนาดเล็กเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ จะปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่มขึ้นรวม 12.66 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 12,250 ไร่ มีครัวเรือนได้รับ ประโยชน์ 52,780 ครัวเรือน ลุ่มน้ำ ก่อสร้างฝาย ประตูระบายน้ำ ปรับปรุงเพิ่ม ประสิทธิภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงระบบส่งน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลุ่มน้ำยม ที่ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ปัจจุบันในลุ่มน้ำยมสามารถเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำได้เพียง 10% ของปริมาณน้ำที่ไหลทิ้งลงแม่น้ำน่านในแต่ละปี

กระทรวงเกษตรฯ เห็นว่า โครงการที่เสนอมาเป็นโครงการเดิมที่กรมชลประทานศึกษาไว้แล้ว และมีความพร้อมที่จะดำเนินการ มีทั้งหมด 4 โครงการ วงเงิน 1,900 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อสร้างประตูระบายน้ำในลำน้ำยม ได้แก่ ประตูระบาย น้ำท่านางงาม จังหวัดพิษณุโลก ประตูระบายน้ำท่าแห และประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้าง จังหวัดพิจิตร ทั้งนี้ เพื่อให้ทันสำหรับรองรับการบริหารจัดการน้ำหลาก ในปี 2561 ทั้ง 3 โครงการ วงเงินรวม 1,400 ล้านบาท และ โครงการขุดคลองแก้มลิงทุงหลวง ที่จังหวัดสุโขทัย วงเงิน 500 ล้านบาท

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า เอกชนได้เสนอแผนสนับสนุนภาคเหนือเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก สร้างรายได้ให้เกษตรกร 9,690 ล้านบาท เพิ่มการเติบโตให้จีดีพีภาคเกษตร 3% ในระยะเวลา 5 ปี ครอบคลุมเกษตรกร 4,728 ครัวเรือน ลดพื้นที่เพาะปลูก 30% สร้างงานให้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 20% หาสำเร็จจะขยายผลครอบคลุมเกษตรกร 1 ใน 3 ครัวเรือนเกษตรกรภาคเหนือ

ทั้งนี้ แผนการยกระดับสินเค้าเกษตรเพื่อส่งออก พัฒนาการเกษตร ครอบคลุม การผลิตต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ เป้าหมายการผลิตพืชอุตสาหกรรมภายใน 5 ปี เบื้องต้น 5 ชนิด ได้แก่ กล้วยหอม สับปะรด กระเจี๊ยบเขียว ขิง มะม่วง 258,050 ตัน/5 ปี หรือ 51,610 ตัน/ปี ซึ่งมีตลาดรองรับแล้ว ในพื้นที่ปลูก 55,426 ไร่ เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4,728 ราย โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าในการผลิตพืชอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวันโดยยกระดับศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อการส่งออก จากแต่เดิมที่สามารถผลิตเกรดส่งออกได้เพียง 30% ของผลผลิต ให้สามารถยกระดับเป็น 80-90%

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์