น้ำผึ้งชันโรง แบรนด์ “บ้านเกาะแลหนัง” ที่สงขลา สะอาด ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ

คุณอาจเคยเห็นแมลงตัวเล็กๆ ที่มีรูปร่างคล้ายผึ้งมักบินตอมต้นไม้ ดอกไม้ จนหลายคนเกิดความสงสัยแล้วกลัวว่าจะต่อยทำอันตราย แต่ความจริงมันไม่ใช่ผึ้งเพราะมันคือตัว “ชันโรง” ที่เป็นแมลงขนาดเล็กมีหน้าที่เก็บน้ำหวานจากพืชนานาพันธุ์มาใช้เป็นอาหารคล้ายการทำงานของผึ้ง แต่ต่างจากผึ้งพันธุ์เพราะชันโรงไม่มีเหล็กในจึงไม่สามารถต่อยได้ ฉะนั้น กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชันโรงจึงมีความปลอดภัยกว่าผึ้งทั่วไป

ชันโรงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ภาคกลาง เรียกว่า ตัวชันโรง หรือ ชันโรง ภาคเหนือ เรียกว่า แมงตานี หรือ ขี้ตั๋งนี ภาคอีสานเรียกว่า ขี้สูด เรียกกับชันโรงที่ทำรังใต้ดิน ภาคตะวันออก เรียกว่า ตัวชำมะโรง, อีโลม หรือ แมลงอีโลม ภาคตะวันตก เรียกว่า ตัวติ้ง, ตุ้งติ้ง และภาคใต้ เรียก แมลงอุง

การเรียกผึ้งชนิดนี้ว่า ชันโรง เป็นการเรียกตามพฤติกรรมในการเก็บชัน โดยสังเกตว่าถ้าเรือลำที่ยาชันไว้ ตัวชันโรงจะมาตอมที่รอยยาชันแล้วเอาชันกลับไปที่รังของมัน ไม้ที่มียางมาก อย่างไม้สน หรือไม้ยาง ตัวชันโรงจะชอบมาตอม

อย่างไรก็ตาม บทบาทสำคัญของชันโรงต่อมนุษย์คือการผลิตน้ำหวาน ซึ่งว่ากันว่าน้ำหวานที่เป็นน้ำผึ้งชันโรงนี้ได้มีการนำไปทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่ามีสรรพคุณทางยาหลายด้าน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดความสนใจเลี้ยงชันโรงเพื่อผลิตน้ำผึ้งเป็นอาชีพ

คุณสมศักดิ์ หนิหลง เป็นเจ้าของฟาร์มเลี้ยงผึ้งชันโรง อยู่บ้านเลขที่ 63 หมู่ที่ 3 ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีอาชีพเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อผลิตน้ำผึ้งส่งขายตลาดต่างประเทศในแถบอาเซียน ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นจนผลิตไม่ทันจึงต้องชักชวนชาวบ้านมารวมกลุ่มกันเลี้ยงผึ้งชันโรงที่เน้นคุณภาพในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรงบ้านเกาะแลหนัง พร้อมได้รับการรับรองจาก อย. กับเครื่องหมายฮาลาลเป็นรายแรกในภาคใต้

คุณสมศักดิ์ หนิหลง (ที่2จากซ้าย)กับเพื่อนสมาชิกกลุ่ม

คุณสมศักดิ์เผยถึงเหตุผลที่มาเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อผลิตน้ำผึ้งขาย เพราะก่อนหน้านั้นได้ไปอ่านพบในหนังสือพิมพ์มาเลเซียที่ระบุว่าในน้ำผึ้งชันโรงมีสารแอนตี้ออกซิแดนซ์หรือสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมากกว่าน้ำผึ้งพันธุ์ถึง 3 เท่า แล้วยังมีความสำคัญต่อการนำมาใช้ทางการแพทย์

ขณะเดียวกัน เห็นว่าเป็นสิ่งใหม่ที่ยังไม่แพร่หลายในประเทศ จึงเริ่มศึกษาแล้วยึดเป็นอาชีพโดยผลิตส่งไปขายที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นตลาดหลัก เนื่องจากทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวมีมหาวิทยาลัยที่ทำวิจัยเรื่องผึ้งชันโรงเพื่อการรักษาโรค

การเลี้ยงผึ้งชันโรงในภาคใต้ที่มีสภาพความเป็นธรรมชาติเหมาะสมและสมบูรณ์ จนทำให้เกิดพันธุ์ผึ้งชันโรงหลากสายพันธุ์และเป็นพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่ ขณะที่ในภาคอื่นก็มีแต่มีขนาดเล็กกว่า ทั้งนี้ คุณสมศักดิ์ได้นำพันธุ์มาจากมาเลเซียและอินโดนีเซียจำนวน 8 สายพันธุ์เด่น เหตุผลเพราะชันโรงที่มีขนาดใหญ่จะผลิตน้ำผึ้งได้มากกว่า

คุณสมศักดิ์ บอกว่า การเลี้ยงผึ้งชันโรงจะต้องสร้างลังหรือกล่องไม้ขนาด 12 คูณ 12 นิ้ว แล้วตัดรังผึ้งนำมาวางไว้ในกล่องเพื่อให้ตัวชันโรงเข้ามาสร้างรังและน้ำหวาน โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือนก็สามารถเก็บน้ำผึ้งได้ พร้อมกับชี้ว่าการเก็บน้ำผึ้งชันโรงจะต่างจากน้ำผึ้งพันธุ์หรือน้ำผึ้งเดือน 5 ที่มีผลผลิตเฉพาะในฤดู แต่ชันโรงสามารถผลิตน้ำผึ้งได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่ใน 6 เดือนช่วงเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม เป็นช่วงคาบเกี่ยวฤดูฝนจึงทำให้ต้นไม้ ดอกไม้ มีการเจริญเติบโตแล้วมีอาหารสมบูรณ์จึงได้ปริมาณน้ำผึ้งมากกว่าใน 6 เดือนช่วงสิงหาคม-มกราคม อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่มีผลผลิตสูงสามารถเก็บได้เดือนละ 2 ครั้ง

น้ำผึ้งชันโรงจะมีราคาสูงกว่าน้ำผึ้งทั่วไป เนื่องจากต้องใช้ความถี่ในการเก็บถึงคราวละ 3-4 ครั้ง ถึงจะได้ปริมาณ 1 กิโลกรัม ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วยเพราะถ้าเป็นสายพันธุ์ขนาดใหญ่จะได้ปริมาณมากเฉลี่ย 3 รัง ต่อกิโลกรัม ต่อเดือน หรือ 3-5 กิโลกรัม ต่อรัง ต่อปี

ตัวชันโรงขณะเก็บน้ำหวานในรัง

คุณสมศักดิ์ ชี้ว่า อาชีพนี้ถือเป็นงานเกษตรกรรมที่ง่ายและสบายกว่าชนิดอื่น เพราะการเลี้ยงชันโรงไม่ได้มีความยุ่งยาก ไม่ต้องหาอาหาร เพียงแต่ใช้เวลาแล้วให้ความสำคัญกับการเฝ้าดูศัตรูทางธรรมชาติที่จะมาสร้างปัญหา ไม่ว่าจะเป็นคางคกที่มักขึ้นไปกินตัวชันโรงบริเวณปากทางเข้า หรือจิ้งจกที่ปีนป่ายเข้าไปกิน กับแมงมุมที่มักชักใยดักตัวชันโรงเป็นอาหาร

“ฉะนั้น วิธีการแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งกล่องไม้หรือลังเลี้ยงชันโรงให้สูงกว่าระดับพื้นปกติ ไม่ให้ต่ำกว่า 50 เซนติเมตร หรือในช่วงกลางคืนจะต้องหมั่นเดินมาดูจิ้งจก ส่วนแมงมุมจะใช้ไม้กวาดคอยปัดใยไม่ให้แมงมุมสามารถสร้างใย ดังนั้น หากเอาใจใส่สิ่งเหล่านี้ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ได้แล้วงานอย่างอื่นก็ไม่มีอะไรยุ่งยาก แล้วคอยเก็บผลผลิตขายอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นปัญหาและความยุ่งยากที่น้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่รับ”

สำหรับพื้นที่สำหรับใช้เลี้ยงชันโรง คุณสมศักดิ์ บอกว่า ไม่มีข้อจำกัดว่าจะมีเท่าไร ต้องมีมาก-น้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับความพร้อมของผู้เลี้ยง เพียงแต่มีข้อจำกัดสำคัญว่าภายในรัศมี 500 เมตรจากจุดที่เลี้ยงชันโรงจะต้องมีต้นไม้ซึ่งจะเป็นต้นอะไรก็ได้ ยิ่งมีมากยิ่งดีเพราะจะช่วยให้ตัวชันโรงไปหาอาหาร กรณีที่เป็นพื้นที่ในเขตเมืองก็ทำได้ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน โดยพื้นที่ขนาด 1 ไร่ ใช้ระยะห่างระหว่างลังประมาณ 3-5 เมตร สามารถเลี้ยงผึ้งชันโรงได้จำนวน 100 ลัง

ลักษณะตัวชันโรงแตกต่างจากผึ้งและไม่มีเหล็กใน

อย่างในสวนเลี้ยงผึ้งชันโรงของผมจะปลูกต้นพวงชมพูไว้เป็นจำนวนมาก อันนี้ดูตัวอย่างมาจากที่มาเลเซียเพราะเป็นพันธุ์ไม้ที่ออกดอกตลอดปี แล้วเป็นแหล่งอาหารที่ชื่นชอบของชันโรงโดยมักมาเกาะกันเต็มต้นในตอนเช้าตรู่”

น้ำผึ้งชันโรงถือว่ามีคุณภาพและประโยชน์ทางโภชนาการสูงกว่าน้ำผึ้งพันธุ์หลายเท่า ทั้งนี้ ผู้เพาะเลี้ยงไม่จำเป็นต้องเข้าไปควบคุมปัจจัยอะไรเลย ปล่อยให้เป็นไปตามวงจรธรรมชาติ จึงถือว่าเป็นน้ำผึ้งชันโรงที่สะอาด ปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ เพียงแต่รสชาติของแต่ละสายพันธุ์อาจมีความต่างกัน ไม่ว่าสายพันธุ์ใดก็ตามจะมีรสหวานและเปรี้ยวเป็นหลัก แต่อาจเปรี้ยวมากหวานน้อยต่างกันเท่านั้น แต่ความพิเศษของน้ำผึ้งชันโรงคือเมื่อดื่มแล้วจะไม่รู้สึกร้อนเพราะมีสรรพคุณเย็น ดังนั้น จึงมักดื่มพร้อมกับกินยาไปในคราวเดียวกัน

“ชันโรงเป็นตระกูลผึ้งพันธุ์ที่ไม่มีเหล็กในเหมือนอย่างผึ้งพันธุ์ทั่วไป แล้วในไทยมีชันโรงถึงกว่า 22 สายพันธุ์ทั่วประเทศ ฉะนั้น การไม่มีเหล็กในจึงมีส่วนทำให้รสชาติต่างจากผึ้งพันธุ์ที่มีเหล็กใน”

ถึงแม้การเลี้ยงผึ้งชันโรงเพื่อผลิตน้ำหวานดูจะไม่ยุ่งยาก แต่การเก็บน้ำหวานในแต่ละคราวจะต้องใช้เวลานาน ด้วยการใช้ท่อดูดน้ำผึ้งจากรังออกไปพักใส่ไว้ในถังที่มีคุณภาพปลอดภัย จากนั้นจึงนำไปกรองตามระบบขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน ฉะนั้น กว่าจะได้น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ต้องเก็บจำนวนหลายรัง เพราะแต่ละรังเก็บไม่เกินครึ่งกิโลกรัม

ใช้ท่อสายยางดูดน้ำผึ้งจากภายในรัง

ดังนั้น ไม่เพียงเวลาที่ต้องสูญเสียไปจำนวนมากแล้ว ความจำเป็นของใช้แรงงาน รวมถึงต้องมีความอดทนควบคู่ด้วย จึงต่างจากการเก็บน้ำผึ้งพันธุ์ทั่วไปที่ให้ปริมาณน้ำผึ้งต่อรังได้เป็นจำนวนมากและใช้เวลาไม่นาน

อย่างไรก็ตาม จำนวนลังที่เลี้ยงรวมทั้งกลุ่มมี 300 ลัง แต่ถ้ารวมสมาชิกทั้งหมดได้จำนวนกว่า 2,000 ลัง โดยสมาชิกจะเก็บแล้วนำมาขายที่กลุ่มเพื่อบรรจุและจำหน่ายโดยมีกำลังการผลิต 200-300 กิโลกรัม ต่อเดือน

ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งชันโรงแบรนด์ “บ้านเกาะแลหนัง” ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. และฮาลาล เป็นที่เรียบร้อยแล้ว บรรจุใส่ขวดแก้ว 2 ขนาด คือ 180, 360 กรัม โดยกำหนดราคาขายไว้ที่ขวดละ 300, 600 บาท ตามลำดับ

คุณสมศักดิ์ บอกว่า ธุรกิจนี้เริ่มต้นจากต่างประเทศก่อนโดยส่งสินค้าไปขายถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ส่วนตลาดในประเทศเพิ่งมาเริ่มเมื่อปีกว่านี้เอง โดยสินค้ามีวางขายที่กลุ่ม แล้วกระจายไปขายตามร้านต่างๆ รวมถึงร้านขายยา นอกจากนั้น ยังนำออกไปขายตามบู๊ธงานแสดงหลายแห่ง

“สำหรับประเทศมาเลเซียจะส่งน้ำผึ้งชันโรงเข้าที่โรงพยาบาลเพื่อใช้กับคนไข้ที่รักษาโรคมะเร็ง หลังจากทำครีโมแล้วในช่วงฟื้นฟูสภาพร่างกายจะให้คนไข้ดื่มน้ำผึ้งชันโรงทั้งยังได้ผลดีกว่ายาที่ใช้รักษาในโรงพยาบาล”

จากผลการวิจัยทดลองทางวิทยาศาสตร์พบว่า น้ำผึ้งชันโรงมีสรรพคุณที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายโดยเฉพาะวงการแพทย์ ด้วยเหตุนี้คุณสมศักดิ์จึงได้ลองให้ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพดื่มน้ำผึ้งชันโรงก็พบว่าหลายคนอาการดีขึ้น หรือยังเคยให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากน้ำร้อนลวกใบหน้าลองใช้ทาก็ทำให้แผลหายได้อย่างรวดเร็ว ฉะนั้น น้ำผึ้งชันโรงอาจถือเป็นอาหารเสริมเพื่อสุขภาพได้อีกประเภทหนึ่ง

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือต้องการสั่งซื้อหรือเป็นผู้แทนจำหน่ายน้ำผึ้งชันโรงแบรนด์ “บ้านเกาะแลหนัง” ได้ที่ คุณสมศักดิ์ หนิหลง โทรศัพท์ (082) 634-7088, (093) 756-5711 หรือติดตามเฟซบุ๊กได้ที่ “น้ำผึ้งชันโรง ตราบ้านเกาะแลหนัง”