กรมปศุสัตว์จับมือกรมส่งเสริมสหกรณ์ แก้สัปปะรดล้นตลาด แปรรูปอาหารสัตว์ นำร่อง 3 จว.

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการเปิดงาน “โครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด” ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยเลขารมว.กษ. นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโตรักษาอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวรายงาน พร้อมด้วยผู้บริหารและข้าราชการในสังกัดกรมปศุสัตว์ให้การต้อนรับ

โครงการฯ นี้ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์และกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด เนื่องจากในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน ของทุกปีเป็นช่วงฤดูที่สับปะรดออกสู่ตลาดมากที่สุด ซึ่งผลผลิตสับปะรดจะออกสู่ตลาด 2.24 ล้านตัน แต่ความต้องการสับปะรดสำหรับบริโภคภายในประเทศ และส่งออกนั้น ไม่เกิน 2 ล้านตัน ดังนั้น จึงมีสับปะรดล้นตลาด 0.24 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีสับปะรดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ขนาดผลเล็ก จึงเป็นสาเหตุทำให้ราคาสับปะรดตกต่ำ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ดำเนิน “โครงการแปรรูปผลสับปะรดสดเป็นอาหารสัตว์เพื่อแก้ปัญหาสับปะรดล้นตลาด” ในพื้นที่นำร่อง 3 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระยอง และลำปาง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลสับปะรดสดมาแปรรูปเป็นอาหารทีเอ็มอาร์ (TMR) มีโปรตีน 16% เลี้ยงโคนม การเลี้ยงโคนมของเกษตรกรด้วยสับปะรดกับฟางข้าวเสริมอาหารข้น (TMR) นั้น จะมีต้นทุนค่าอาหารของโคนมที่ลดลงและได้ผลผลิตปริมาณนำ้นมดิบทีีสูงขึ้น ซึ่งการผลิตอาหารทีเอ็มอาร์สำหรับโคนม โปรตีน 16% จำนวน 1 ตัน นั้น ประกอบด้วยผลสับปะรดสด 710 กิโลกรัม ฟางข้าว 140 กิโลกรัม กากถั่วเหลือง 66.5 กิโลกรัม กากเนื้อในเมล็ดปาล์มน้ำมัน 80 กิโลกรัม และปุ๋ยยูเรีย 3.5 กิโลกรัม ใส่เครื่องผสมอาหาร TMR เพื่อหั่นฟางและคลุกเคล้าวัตถุดิบทั้งหมดให้เข้ากัน บรรจุถุงและปิดปากถุงให้สนิท หมักไว้ 7 วัน สามารถนำไปใช้เลี้ยงโคนมต่อไป

ทั้งนี้ได้เยี่ยมชมนิทรรศการ การผลิตอาหาร TMR และลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและเยี่ยมชมการดำเนินงานของฟาร์มเกษตรกรสมาชิกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก อ่าวน้อย จำกัด และ ฟาร์มเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์โคนมไทย-เดนมาร์ก บ้านเนินดินแดง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

ที่มา : มติชนออนไลน์