วว. ผนึกกำลัง การยางแห่งประเทศไทย ส่งเสริมใช้ทรัพยากร อบรม วิจัย นวัตกรรม เพื่อการพัฒนายั่งยืน

ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ  ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในโครงการ “การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรร่วมกันด้านการอบรม วิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการศึกษาหาแนวทางการใช้ทรัพยากรหรือทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจร่วมกันในการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดต้นทุนที่ซ้ำซ้อนของหน่วยงานด้วยวิธีบริหารจัดการที่ดี รวมทั้งการประสานงานความร่วมมือด้านการอบรม วิจัยวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานทั้งสอง โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต รองผู้ว่าการบริหาร วว. นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท รองผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยด้านอุตสาหกรรมยางและการผลิตยาง รวมทั้งผู้บริหารและบุคลากรของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติ ในวันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 5 อาคารถ่ายทอดเทคโนโลยี เทคโนธานี อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

ผู้ว่าการฯ กล่าวถึงภารกิจ ของ วว. และความเกี่ยวเนื่องกับ กยท. ว่า วว. เป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นกลไกหลักของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงานขององค์กรคือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม นวัตกรรม และขีดความสามารถในการแข่งขัน นำไปใช้ในการสนับสนุนส่งเสริมและร่วมดำเนินการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเชิงบูรณาการ ตลอดจนมีการพัฒนาเครือข่ายในการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ เพื่อแก้ไขปัญหาของภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งในการสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการและหน่วยงานทั้งเดิมและใหม่ให้เข้าถึง วทน. ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของการยางแห่งประเทศไทย ในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกิดความคุ้มค่า เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และตอบสนองสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ

“…ความร่วมมือ ของ วว. และการยางแห่งประเทศไทยครั้งนี้ มีระยะเวลา 3 ปี เป็นไปตามทิศทางและการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการพัฒนาประเทศไทยด้วยนวัตกรรมและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกระบวนการด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา เพื่อให้สามารถแข่งขันด้านราคาและลดต้นทุน รวมทั้งเติบโตได้ โดยใช้องค์ความรู้ ด้าน วทน. เป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งมีแนวทางการพัฒนาคือ เร่งส่งเสริมให้เกิดสังคมนวัตกรรม โดยเสริมสร้างนวัตกรรมภาคธุรกิจ พัฒนานวัตกรรมภาครัฐและภาคสังคม ตลอดจนผลักดันงานวิจัย เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า…” ดร. ลักษมี ปลั่งแสงมาศ กล่าว

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการ กยท. กล่าวว่า ตามนโยบายการขับเคลื่อนโครงการสนับสนุนรัฐวิสาหกิจด้านการบริหารจัดการองค์กร เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐวิสาหกิจ ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ ซึ่งจะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยให้ วว. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในการดำเนินงานดังกล่าวเข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ให้กับ กยท. ในการร่วมกันจัดทำแผนการพัฒนา รวมถึงการกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์จากการพัฒนาร่วมกัน เพื่อแนะนำแนวทางให้ กยท. ในการยกระดับการบริหารจัดการองค์กรไปสู่มาตรฐานสากล โดย กยท. ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจาก วว. ในการจัดทำแผนการพัฒนา ความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการส่งเสริมและสนับสนุนการบูรณาการทำงานร่วมกัน รวมทั้งเป็นแรงผลักดันให้ทั้งสองหน่วยงานรักษามาตรฐานและมุ่งมั่นพัฒนาระบบการบริหารจัดการองค์กรที่ดีนี้ให้คงอยู่อย่างต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งการขยายผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติที่ดีสู่ส่วนอื่นๆ ของทั้งสองหน่วยงาน

สำหรับขอบเขตความร่วมมือ ระหว่าง วว. และ กยท. มีดังนี้ 1.ใช้ทรัพยากรหรือสินทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจร่วมกันทั้งทรัพยากรจากการลงทุนโครงการต่างๆ หรือทรัพยากรที่เป็นสินทรัพย์ เช่น อาคาร เครื่องจักร ที่ดิน ห้องปฏิบัติการ เป็นต้น  2. ด้านการวิจัยและพัฒนา อาทิ ให้มีการดำเนินการศึกษาวิจัยและพัฒนาของทั้งสองหน่วยงานทางด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพของผลผลิตยางพารา รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาง การสร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยางหรือผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับยาง และให้มีการสนับสนุนโครงการวิจัยร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน โดยสนับสนุนด้านบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์และผู้เชี่ยวชาญ