เกษตรกรรวมกลุ่มเลี้ยงเป็ดไข่และแปรรูป ภายใต้โครงการ 9101 สู่วิถีที่มั่นคง

เป็ดเป็นสัตว์เศรษฐกิจสำคัญ เป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร จึงส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเลี้ยงเป็ดใน “โครงการเลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูปไข่” ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรมีอาหารบริโภคในครัวเรือนและขายผลผลิต เป็นการยกระดับรายได้ให้นำไปใช้เพื่อพัฒนาการยังชีพที่มั่นคง

คุณจันทิรา บวรรัตนสุภา เกษตรกรุงเทพมหานคร สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า สภาพพื้นที่กรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่การเกษตร 120,450 ไร่ เกษตรกร 7,032 ครัวเรือน เกษตรกรส่วนใหญ่จะทำนาเป็นอาชีพหลักตลอดทั้งปีหรือเฉลี่ย 2 ปี 5 ครั้ง เป็นการใช้พื้นที่ซ้ำด้วยวิธีการทำนาแบบเดิมๆ ทำให้ต้องใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้น ดินเสื่อมคุณภาพ มีความเสี่ยงด้านการตลาด ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

คุณจันทิรา บวรรัตนสุภา เกษตรกรุงเทพมหานคร ส่งเสริมการเลี้ยงเป็ดไข่

สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานครและสำนักงานเกษตรพื้นที่ 1 กรุงเทพมหานคร จึงส่งเสริมเกษตรกรให้ทำอาชีพเสริมด้วยการรวมกลุ่มกันเลี้ยงเป็ดใน “โครงการเลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูปไข่” ภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรได้ร่วมคิดร่วมทำ เป็นศูนย์รวมรองรับด้านวิชาการ จัดหาปัจจัยราคาถูกมาใช้ในการเลี้ยงเป็ด มีอาหารโปรตีนสูงบริโภคในครัวเรือนและขายผลผลิตเพื่อการยกระดับรายได้ให้นำไปใช้เพื่อพัฒนาการยังชีพที่มั่นคง โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก คสช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กรมส่งเสริมการเกษตรและภาคเอกชน

เกษตรกรรวมกลุ่มกันการเลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูปไข่

พันธุ์เป็ดที่ควรเลี้ยงมีหลายพันธุ์ แต่ที่นิยมเลี้ยงและให้ผลตอบแทนคุ้มทุนคือ เป็ดพันธุ์เนื้อ พันธุ์ไข่ (Dual Purposes Breeds) จะให้ทั้งเนื้อและไข่ มีลักษณะขนาดตัวและอกใหญ่กว่าเป็ดพันธุ์กากีแคมเบลล์ ลำตัวสีเทา เพศเมียสีลายกาบอ้อยทั้งตัว เพศผู้ หัวสีเขียวเข้ม รอบคอสีขาว ท้องค่อนข้างขาว ปาก และเท้ามีสีเทา เลี้ยงง่าย โตไว ทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศได้ดีและให้ผลผลิตไข่ 250-260 ฟอง ต่อตัว ต่อปี

คุณโสภา ชูชมชื่น ประธานกลุ่มฯ เลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูป

คุณโสภา ชูชมชื่น ประธานกลุ่มส่งเสริมอาชีพการเกษตรการเลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูป เล่าให้ฟังว่า พื้นที่แขวงทรายกองดินส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม เกษตรกรส่วนใหญ่จึงทำนาเป็นอาชีพหลักเพราะทำได้ทั้งปี และไม่ได้ทำอาชีพอื่นเสริม การทำนาแต่ละปีจึงมีความเสี่ยงสูงทั้งจากสภาพดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ใช้ต้นทุนการผลผลิตสูงหรือราคาซื้อขายในตลาดข้าวไม่แน่นอน จึงส่งผลให้มีรายได้น้อยและมีความเป็นอยู่ที่ไม่มั่นคง

นำอาหารทุกชนิดใส่ภาชนะ คลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อกัน

การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเมื่อ สำนักงานเกษตรพื้นที่ 1 กรุงเทพมหานคร ได้มาส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันเพื่อเลี้ยงเป็ดไข่ใน “โครงการเลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูปไข่” ภายใต้โครงการ 9101 เป็นเส้นทางอาชีพเสริมที่ทำให้เกษตรกรได้ร่วมคิดร่วมทำ เป็นศูนย์รวมรองรับด้านวิชาการ จัดหาปัจจัยราคาถูกมาใช้ในการเลี้ยงเป็ด ได้มีอาหารโปรตีนสูงบริโภคในครัวเรือนและขายผลผลิตเพื่อการยกระดับรายได้ให้นำไปใช้เพื่อพัฒนาการยังชีพที่มั่นคง โครงการนี้มีเกษตรกรสมัครเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม 45 คน แบ่งเป็นกลุ่มย่อย 7 กลุ่ม ในแต่ละกลุ่มย่อยมีสมาชิก 6-7 คน และแต่ละกลุ่มจะเลี้ยงเป็ดไข่ใน 200 ตัว

นำอาหารที่ผสมแล้วให้เป็ดกิน

โรงเรือนเลี้ยงเป็ด ได้เลือกพื้นที่เป็นดินแข็งปนทราย ปรับพื้นที่ให้ราบเสมอกัน ฉีดพ่นสารฆ่าเชื้อโรคแล้วปล่อยทิ้งไว้ 7 วัน โรงเรือนต้องป้องกันแสงแดดและฝนได้ โปร่งอากาศถ่ายเทดี มีพื้นที่กว้างพอให้เป็ดได้เดินวิ่งออกกำลังกาย จัดพื้นที่แบบธรรมชาติใกล้ริมน้ำให้เป็ดได้ออกหาอาหารกิน และนำตาข่ายมาปิดกั้นล้อมรอบพื้นที่เลี้ยง

พันธุ์เป็ดที่เลี้ยง ได้ไปซื้อมาจากฟาร์มเป็ดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นแหล่งพันธุ์ที่เชื่อถือได้ ปลอดภัยจากโรค และสิ่งสำคัญในการเลี้ยงที่ขาดไม่ได้คือ ต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคในเป็ดด้วย

นำตาข่ายมาปิดกั้นล้อมรอบพื้นที่เลี้ยงเป็ด

คุณโสภา เล่าให้ฟังอีกว่า นอกจากสร้างโรงเรือนเพื่อให้เป็ดอยู่อาศัยหลับนอน ออกไข่ มีแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้บ้านเพื่อให้เป็ดออกกำลังและหาอาหารกินที่มีอยู่ในธรรมชาติ และต้องจัดอาหารเป็ดมาเพิ่มให้เป็ดได้กินอย่างพอเพียงเพื่อช่วยให้เป็ดเจริญเติบโตไวและได้น้ำหนักดี

สูตรอาหารเป็ด ได้จัดเตรียมเป็นสูตรที่มีโปรตีนสูง เพื่อช่วยทำให้เป็ดเจริญเติบโตไวและไม่มีกลิ่นรบกวน สูตรอาหารเป็ดมีส่วนผสมดังนี้

ปล่อยเป็ดลงเล่นน้ำในแหล่งน้ำเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง
  1. 1. อาหารเป็ดสำเร็จรูป อัตรา 2 กิโลกรัม
  2. 2. หยวกกล้วยหั่นฝอยหรือสับเป็นชิ้นเล็กๆ อัตรา 1 กิโลกรัม
  3. 3. รำข้าว อัตรา 5 กิโลกรัม
  4. 4. ข้าวเปลือก อัตรา 1 กิโลกรัม และ
  5. 5. อีเอ็ม (EM) อัตรา 3 ช้อนโต๊ะ

วิธีผสมอาหาร นำอาหารทุกชนิดตามอัตราส่วนที่ได้เตรียมไว้ใส่ในภาชนะ ทำการคลุกเคล้าให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน นำไปใส่ในภาชนะอาหารเป็ดเพื่อให้เป็ดมากิน ได้จัดอาหารให้เป็ดกินวันละ 3 ครั้ง คือ เช้า เที่ยง และเย็น เฉลี่ยเป็ดจะกินอาหาร 150 กรัม ต่อตัว ต่อวัน และต้องจัดภาชนะขนาดพอเหมาะใส่น้ำไว้ให้เป็ดได้กินตลอดเวลาด้วย

เป็ดจะออกไข่ในตอนเช้ามืดที่มุมต่างๆ ในคอก

การออกไข่ เมื่อเป็ดไข่ที่เลี้ยงมีอายุ 5-6 เดือน หรือราว 21 สัปดาห์ เป็ดก็เริ่มออกไข่โดยจะออกไข่ในตอนเช้ามืดที่บริเวณริมแอ่งน้ำหรือมุมต่างๆ ในคอก เป็ดมีอายุการออกไข่ 1 ปีครึ่ง ถึง 2 ปี เฉลี่ยเป็ดจะออกไข่ได้ 230-250 ฟอง ต่อตัว ต่อปี และหลังจากเป็ดไข่ที่เลี้ยงถูกปลดระวางแล้วก็จะนำออกขายเป็นเป็ดเนื้อ

ผลตอบแทน การเลี้ยงเป็ดไข่ 200 ตัว ต่อรุ่น จะได้ไข่เป็ด 46,000-50,000 ฟอง ถ้านำออกขายฟองละ 2 บาท จะทำให้มีรายได้ 92,000-100,000 บาท ส่วนแม่เป็ดที่เลี้ยงถูกปลดระวางแล้วก็นำออกขายเป็นเป็ดเนื้อเฉลี่ยราคา 55-70 บาท ก็จะมีรายได้เฉลี่ยที่ 11,000-14,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาวการณ์ด้านตลาดด้วย ส่วนผลกำไรจากการขายผลผลิตได้นำส่วนหนึ่งมาปันผลให้กับสมาชิก และนำอีกส่วนหนึ่งไปใช้เป็นเงินทุนในการผลิตครั้งต่อไป และนอกจากรวมกลุ่มกันเลี้ยงเป็ดไข่แล้วก็ได้นำไข่เป็ดส่วนหนึ่งมาทำเป็นไข่เค็มเพื่อจำหน่ายทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง เป็นการเสริมความเข้มแข็งและมั่นคงให้กับครอบครัว

จัดรวบรวมวางไข่ลงในแผงให้พร้อมก่อนนำไปขาย

การรวมกลุ่มเลี้ยงเป็ดทำให้ได้รับประโยชน์ดังนี้ ด้านเศรษฐกิจคือ การสร้างงานและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกกลุ่มและชุมชน เกิดการหมุนเวียนด้านเศรษฐกิจภายในชุมชน ด้านสังคมคือ เกิดการทำงานในรูปของกลุ่ม สมาชิกได้ร่วมคิด วางแผน และร่วมรับผิดชอบ เกิดความสามัคคีและสร้างความเข้มแข็งภายในกลุ่มและชุมชน

เรื่องราวเกษตรกรรวมกลุ่มเลี้ยงเป็ดไข่และการแปรรูปไข่ ภายใต้โครงการ 9101 สู่วิถีที่มั่นคง เป็นอาชีพเสริมเติมรายได้สู้กับวิกฤตเศรษฐกิจ สอบถามเพิ่มได้ที่ คุณโสภา ชูชมชื่น เลขที่ 384 แขวงทรายกองดิน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โทร. (087) 549-6321 หรือ คุณกัลยา เจริญทรัพย์ สำนักงานเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร โทร. (086) 335-3272 ก็ได้ครับ