‘นักวิชาการ’ ชี้ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยด คือหลักฐานมหาสมุทรที่คั่นระหว่างแผ่นเปลือกโลก อินโด-ไชน่าและฉาน-ไทย

ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์สารสนเทศทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณีวิทยา กล่าวถึงการลงพื้นที่สำรวจแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยด “ทุ่งโขดหินกรวดมนฟอสซิล 240 ล้านปี” ยุคปลายเพอร์เมียน ที่บริเวณ หมู่ที่ 12 บ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ ว่า แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยดมีความสำคัญ เป็นหลักฐานทางธรณีวิทยาอีกแห่งที่พบได้ไม่มากในโลกนี้ ซึ่งอาจจะบ่งบอกถึงตำแหน่งภูมิศาสตร์ของโลกในอดีตได้ โดยเฉพาะเป็นหลักฐานของแอ่งสะสมตะกอนในมหาสมุทรหรือทะเลโบราณ ในปลายยุคตอนต้นมีทะเลใหญ่มาก เรียกว่า ทะเลเททิสคั่นกลางระหว่าง 2 แผ่นเปลือกโลก คือ อินโด-ไชน่าและฉาน-ไทย โดยแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยดตรงนี้คือ หลักฐานทะเลเททิสที่ยังหลงเหลืออยู่

ดร.สมบุญ กล่าวอีกว่า สำหรับลักษณะของโขดหินที่พบ ซึ่งเรียกกันว่า หินกรวดมน แสดงถึงการตกตะกอนในช่วงสิ้นสุดของยุคเพอร์เมียนหรือยุคโลกตอนต้น ก่อนโลกจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และบริเวณตรงนี้ลักษณะภูมิประเทศเดิมเป็นแนวหินปะการังใหญ่ที่มีขนาดใหญ่เหมือนที่เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef) ของทวีปออสเตรียเลีย ที่มีชื่อเสียงของโลก หลังจากนั้น เกิดการยกตัวทำให้ในแอ่งหยุดการตกตะกอน และทำให้แนวหินปะการังดังกล่าวโผล่ขึ้นพ้นพื้นน้ำ จึงมีอิทธิพลของแสงแดดและการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจึงเกิดการแตกหัก และมาสะสมตัวที่เป็นไหล่ทวีปก่อนเกิดการแข็งตัวกลายเป็นหินในที่สุด ซึ่งยุคนี้ถือเป็นยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกครั้งใหญ่ และมีการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในช่วงนั้น

“ส่วนลักษณะภูมิประเทศบริเวณตรงนี้มีความเฉพาะตัว แบบที่เรียกว่า ป่าช้าหิน คือมีหินปูนโผล่บนพื้นดินแบบตะปุ่มตะป่ำ และกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างมากเป็นตารางกิโลเมตร ทั้งนี้ ตามรายงานไม่เคยมีการพบแหล่งธรณีวิทยาแบบเดียวกันนี้ในสถานที่อื่นๆ ซึ่งมีหินมากมายหลายขนาดเป็นเนินภูเขาทั้งลูกแบบนี้ โดยหินปูนเหล่านี้ยังมีซากของฟอสซิลปะการังเยอะมากและมีหลายสายพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีซากสิ่งมีชีวิต อาทิ พลับพลึงทะเล สาหร่ายขนาดใหญ่ หอยตะเกียง หอยฝาเดียว หอยสองฝา หอยงวงช้าง และสัตว์เซลล์เดียวอื่นๆ ซึ่งบ่งชี้หรือแสดงให้เห็นว่ามีความหลากหลายในซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์” ดร.สมบุญ กล่าว

ดร.สมบูรณ์ กล่าวอีกว่า ฉะนั้นซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความเก่าแก่และกำหนดอายุได้ ส่วนการพบแหล่งธรณีที่คล้ายคลึงกันก่อนหน้านี้ก็มีบ้าง แต่เป็นขนาดพื้นที่ที่เล็กกว่านี้มาก อย่างเช่น ที่เขาแผงม้า อ.ชัยบาดาล โดยบริเวณตรงเขาแผงม้าจะมีการแสดงอันดับชั้นหิน ที่แสดงถึงการสิ้นสุดของยุคโลกตอนต้นได้ชัดเจน และบริเวณนี้เคยมีการสำรวจไปแล้ว ส่วนแหล่งภูน้ำหยดก็สันนิษฐานว่า คงเป็นแนวเดียวกัน ที่สำคัญจะไปเสริมประวัติศาสตร์ของโลกในยุคนี้ที่มีความต่อเนื่องมาตั้งแต่ถ้ำใหญ่น้ำหนาว ตอนเหนือของเพชรบูรณ์ไล่ลงมาถึงภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี และต่อเนื่องไปถึง อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี ซึ่งเป็นทะเลเดียวกันมาก่อน หลังจากข่าวนี้ออกไปทางนักวิชาการสนใจเข้ามาสอบถามรายละเอียดหลายท่าน คาดว่าจะมีผู้สนใจมาศึกษาค้นคว้ารายละเอียดอีกเป็นจำนวนมาก

นายอรุณ เมฆฉาย นายอำเภอวิเชียรบุรี กล่าวว่า สำหรับแหล่งธรณีบริเวณนี้ไม่ใช่เป็นที่ดิน ส.ป.ก. เพียงอย่างเดียว แต่พื้นที่ยังคาบเกี่ยวกับเขตพื้นที่ป่าอีกด้วย โดยเฉพาะบริเวณที่มีโขดหินค่อนข้างมาก ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ทางป่าไม้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการเร่งทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ให้ช่วยกันอนุรักษ์แหล่งธรณีวิทยาแห่งนี้เอาไว้ ขณะเดียวกันหากจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ยังจะต้องพัฒนาถนน รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ และอาคารจัดแสดง โดยสิ่งเหล่านี้คงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ฝ่าย รวมทั้งการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่อีกด้วย

ที่มา มติชนออนไลน์