กรมชลฯ เดินเครื่องเจาะอุโมงค์ส่งน้ำ

จาก ‘อ่างแม่งัด’ ช่วยพื้นที่ ‘แม่กวง’

สานต่องานพ่อ-เติมน้ำเติมชีวิต

 นายโสภณ ธรรมรักษา ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านควบคุมการก่อสร้าง) กรมชลประทาน กล่าวระหว่างร่วมกับ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงาน “สานต่องานพ่อ เติมน้ำเติมชีวิต” งานเดินเครื่องเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง สัญญาที่ 2 โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ที่บ้านป่าสักงาม ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่

นายโสภณ กล่าวว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จะก่อสร้าง 2 ช่วง คือ อุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ระยะทางตั้งแต่ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน ซึ่งกั้นลำน้ำแม่แตง ถึงอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล แบ่งออกเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1 มีความยาวอุโมงค์ 12.500 กิโลเมตร เริ่มดำเนินการปี 2558 กำหนดแล้วเสร็จปี 2564 ส่วนสัญญาที่ 2 มีความยาวอุโมงค์ 10.476 กิโลเมตร ได้เริ่มขุดเจาะในวันนี้ กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานอาจล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย เนื่องจากช่วงก่อนเริ่มดำเนินการมีปัญหาการขออนุญาตเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติ ประกอบดับการขุดระเบิดอุโมงค์ผ่านหินไม่ดี (Poor Rock) ส่งผลให้ต้องปรับปรุงเสถียรภาพภายในอุโมงค์

“ลุ่มน้ำแม่กวงมีความต้องการน้ำสูงขึ้น ทั้งด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และจังหวัดลำพูน จนเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อปี และจะเพิ่มเป็น 173 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี ในอีก 20 ปีข้างหน้า จึงต้องเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำจากลำน้ำแม่แตง (ประตูระบายน้ำแม่ตะมาน) จะส่งน้ำส่วนเกินประมาณ 113 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี และน้ำส่วนเกินของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ประมาณ 47 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี” นายโสภณ กล่าว และว่า

นอกจากนี้ กรมชลประทานมีโครงการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลไปยังระบบส่งน้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง เพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรในลุ่มน้ำแม่แตงในฤดูแล้งประมาณ 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ต่อปี การเจาะอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง เป็นการเจาะในชั้นหินครั้งแรกของประเทศไทย ใช้เทคนิคการขุดเจาะระเบิด (Drill & Blast) และเทคนิคการใช้เครื่องเจาะ Tunnel Boring Machine (TBM) เพื่อเจาะอุโมงค์ ซึ่งมีความลึกจากผิวดิน 300-700 เมตร โดยช่วงนี้มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.20 เมตร

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน