รู้แล้วบอกต่อ…ของดีเมืองปัตตานี

โชว์ศิลปะการพับผ้า รูปนกยูงที่งดงาม

เหตุไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ตลอดช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกกลัวไม่กล้าเดินทางไป 3 จังหวัดภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส) แต่ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสลงพื้นที่ไปทำข่าวจังหวัดปัตตานี ก็รู้สึกว่า ที่นี่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แม้จะมีด่านตรวจสอบความปลอดภัยอยู่รายรอบเมือง แต่ชาวปัตตานีสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข

อำเภอเมืองปัตตานีมีคำขวัญประจำท้องถิ่นว่า “ถิ่นศึกษาสงขลานครินทร์ แหล่งทำกินนาเกลือ ท่าเรือเศรษฐกิจ มัสยิดโบราณ ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ท่องเที่ยวสวนสมเด็จ” ผู้เขียนสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวมาเลย์เดินทางสัญจรไปมาเพื่อเที่ยวชมความสวยงามของเมืองปัตตานีกันอย่างสบายใจและปลอดภัย

คุณไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองปัตตานี

ข้อจำกัดเรื่องเวลาการทำงาน ทำให้พวกเราไม่มีเวลาว่างมากนักในการเที่ยวชมเมืองปัตตานีอย่างที่ตั้งใจ แต่พวกเราโชคดีที่ได้รับคำเชิญจาก คุณไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองปัตตานี และ คุณวิรวรรณ มูลจันที ผู้อำนวยการ กศน.อำเภอเมืองปัตตานี พาเที่ยวชมเมืองปัตตานีในยามราตรี จึงขอบคุณทั้งสองท่านมา ณ ที่นี้

มัสยิดกลางปัตตานี

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานีในยามค่ำคืนสวยงามมาก สร้างเป็นตึกคอนกรีตเสริมเหล็กสองชั้น รูปทรงคล้ายกับ “ทัชมาฮาล” ประเทศอินเดีย ตรงกลางเป็นอาคารมียอดโดมขนาดใหญ่และมีโดมบริวาร 4 ทิศ มีหอคอยอยู่สองข้างสูงเด่นเป็นสง่า บริเวณด้านหน้ามัสยิดมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี เป็นศาสนสถานศูนย์รวมจิตใจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่ง

มัสยิดกลางปัตตานี

มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี มีเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ถูกก่อสร้างในปี พ.ศ. 2497 ตั้งอยู่ริมถนนหลวงสายปัตตานี-ยะลา ย่านตำบลอาเนาะรู เรียกว่าตั้งอยู่ใจกลางเมืองปัตตานี มัสยิดแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อมอบเป็นของขวัญแก่ประชาชนชาวมุสลิมในช่วงรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้เวลาก่อสร้างนาน 9 ปี

มัสยิดแห่งนี้เคยใช้รับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อครั้งเสด็จเยือนจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2536

ข้าวยำราชา…หรอยแรง

ข้าวยำราชา

คุณไชยพร นายอำเภอเมืองปัตตานี พาไปชิม “กะมา ข้าวยำราชา” อาหารพื้นเมืองรสอร่อยที่มีชื่อเสียงของปัตตานี ร้านแห่งนี้มีพิกัดตั้งอยู่หน้าปากซอยนาเกลือ 3 อยู่ริมถนน ร้านนี้หาได้ไม่ยาก เพราะมีลูกค้ายืนรอซื้อของอยู่เต็มหน้าร้านทุกวัน เมนูอาหารขึ้นชื่อของที่นี่มีประมาณ 6 รายการ ได้แก่ ข้าวยำราชา ละแซ หมี่ผัดกะทิกุ้ง ข้าวเหนียวดำมะพร้าวขูด โจ๊กไก่ “ข้าวยำ” ทานคู่กับปลาย่างบนเตาถ่าน ปลาย่างเกลือทาด้วยขมิ้น ส่งกลิ่นหอมยั่วน้ำลาย

ของดีเมืองตานี

หลายคนเชื่อว่า “อยากรู้จักพื้นที่ไหน ให้ไปเดินตลาดสด” คำพูดนี้ใช้ได้ผลดีเสมอ ถึงแม้ครั้งนี้พวกเราไม่มีโอกาสเดินตลาดสด แต่ได้รู้จักวิถีชีวิตและสินค้าเด่นของเมืองปัตตานี ผ่าน “งานแสดงสินค้า วัฒนธรรม ของดีเมืองตานี และงานกาชาดจังหวัดปัตตานี ประจำปี 2561 ” ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-29 มิถุนายน 2561 ณ บริเวณสนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานี

จังหวัดปัตตานี ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดปัตตานี และภาคส่วนต่างๆ ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนในท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมสนับสนุนกิจการสาธารณกุศลกับเหล่ากาชาดจังหวัด ส่งเสริมการท่องเที่ยว และนำสินค้าผลิตภัณฑ์ สินค้าภาคเกษตร สอดคล้องตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สินค้าของดีเมืองปัตตานีในงานครั้งนี้มีให้ชม ชิม ช็อปกันอย่างจุใจทีเดียว

“เกลือหวานปัตตานี”

เกลือหวานปัตตานี

คุณไชยพร นายอำเภอเมืองปัตตานี บอกว่า เกลือหวานเป็นของดีขึ้นชื่อของจังหวัดปัตตานี เกลือหวานของที่นี่มีคุณภาพดี มีสีขุ่นกว่าเกลือภาคกลาง รสชาติกลมกล่อม แต่จะไม่เค็มจัด จนเป็นที่มาของชื่อเกลือหวาน ถิ่นเกลือหวานอยู่ในอำเภอเมือง บริเวณบ้านตันหยงลุโละ และตำบลบานา น้ำทะเลบริเวณนี้มีแร่ธาตุแตกต่างจากน้ำทะเลในภาคกลาง ทำให้เกลือของชุมชนแห่งนี้มีรสชาติไม่เค็มจัด กลายเป็นเอกลักษณ์ของ “ เกลือหวานปัตตานี” จนถึงทุกวันนี้

“ส้มโอปูโกยะรัง”

เป็นไม้ผลรสอร่อยของอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ความจริงส้มโอปูโกยะรัง มีกำเนิดมาจากส้มโอพันธุ์ทองดีนครชัยศรี เกษตรกรบ้านต้นมะขาม ตำบลเมาะมาวี อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้ซื้อส้มโอทองดีนครชัยศรีมากินแล้วชอบใจว่ามีรสชาติอร่อย จึงได้นำเมล็ดไปปลูกขยายพันธุ์ ต่อมาเกิดการกลายพันธุ์ ได้ส้มโอพันธุ์ใหม่ ลักษณะผลทรงกลมมีจุก รสชาติหวาน หอม อร่อย เปลือกบาง เนื้อนิ่ม มีขนปกคลุมทั่วทั้งผล เนื้อสีแดงทับทิม ส้มโอพันธุ์นี้ถูกเรียกเป็นภาษามลายู ว่า “ส้มโอปูโก” หมายถึง ส้มโอที่ประทับตรานั่นเอง

ส้มโอปูโกยะรัง

ปัจจุบัน อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ปลูกส้มโอปูโกยะรังมากที่สุด และส้มโอปูโกยะรัง ถือเป็นส้มโอที่มีชื่อเสียงของจังหวัดปัตตานี สำนักงานเกษตรจังหวัดปัตตานีได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ประกาศรับรอง “ส้มโอปูโกยะรัง” ในทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559

“ศิลปะพับผ้าประดับขันหมาก พิธีแต่งงานแบบมลายู”

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดปัตตานีได้นำเสนอ “ศิลปะพับผ้าประดับขันหมาก ในพิธีแต่งงานแบบมลายู” ที่สืบสานจากภูมิปัญญาของชาวไทยมุสลิมในอดีต ขันหมากจัดเป็นของโชว์ที่สร้างความโดดเด่นในพิธีแต่งงานแบบมลายู ด้วยลีลาการจัด และศิลปะการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ เพราะนำศิลปะการพับผ้ามาประดิษฐ์เป็นรูปแบบต่างๆ เช่น ดอกชบา ดอกกุหลาบ และผลไม้นานาชนิด

ศิลปะพับผ้าประดับขันหมาก พิธีแต่งงานแบบมลายู

งานพับผ้า เป็นผลงานศิลปะที่โดดเด่นตระการตาทีเดียว ต้องอาศัยทักษะฝีมือในการนำผ้าปาเต๊ะ ผ้าละหมาด ผ้าขนหนู ฯลฯ มาพับเป็นรูปต่างๆ เช่น นกยูง หงส์ กริช กระเช้าดอกไม้ ฯลฯ ทุกวันนี้ ชาวปัตตานีมีรายได้จากการจำหน่ายผลงานพับผ้า ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักพันต่อชิ้นงาน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ เพราะทุกวันนี้ศิลปะการพับผ้านิยมใช้ประดับขันหมากในงานสู่ขอแล้ว ยังนิยมใช้ในงานมงคลประเภทพิธีเข้าสุนัต งานเมาลิด ขบวนแห่ต่างๆ อีกด้วย

มัสยิดกรือเซะ

หากใครมาเที่ยวจังหวัดปัตตานี อย่าลืมแวะชม “มัสยิดกรือเซะ” ก่อนเดินทางกลับ มิฉะนั้นจะถือได้ว่ามาไม่ถึงจังหวัดปัตตานีอย่างแท้จริง มัสยิดกรือเซะ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัสยิดปิตูกรือบัน ตามรูปทรงของประตูมัสยิด ซึ่งมีลักษณะเป็นวงโค้งแหลมแบบกอทิกของชาวยุโรป มัสยิดกรือเซะ มีอายุกว่า 200 ปี

มัสยิดกรือเซะ

ปัจจุบัน มัสยิดกรือเซะเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดปัตตานี สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 22 ร่วมสมัยกรุงศรีอยุธยา กรณีที่มัสยิดสร้างไม่สำเร็จนั้น เชื่อว่าถูกสาป เพราะมีเรื่องเล่า โยงกับตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวซึ่งมีสุสานอยู่ใกล้กับมัสยิดกรือเซะ จนกลายเป็นปัญหากินแหนงแคลงใจระหว่างชาวไทยเชื้อสายมลายูและชาวไทยเชื้อสายจีนในพื้นที่

แต่จากการสำรวจและบูรณะของกรมศิลปากร พบว่าโครงสร้างโดมนั้นมีลักษณะไม่แข็งแรงและขาดความสมดุลจึงทำให้พังทลาย ที่สำคัญไม่พบร่องรอยถูกเผาหรือถูกฟ้าผ่าตามตำนานที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด  เหตุผลสำคัญประการต่อมาคือ หลังราชวงศ์กลันตันปกครองปัตตานีถัดจากราชวงศ์ศรีวังสา ได้ย้ายศูนย์กลางเมืองไปยังบานา และจะบังติกอ ตามลำดับ มัสยิดกรือเซะจึงถูกทิ้งให้โรยราไปตามกาลเวลา