แนะเทคนิคเพิ่มราคาลำไยให้สูงขึ้น

“คุณดำรงค์ จินะกาศ” เจ้าของสวนลำไยแปลงใหญ่ ได้เปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ การเพิ่มประสิทธิภาพลำไย หมู่ที่ 1 บ้านท้องฝาย ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ขั้นตอนการผลิตลำไยนอกฤดู ทำได้ไม่ยาก  เริ่มจากการเตรียมต้นหลังการเก็บเกี่ยว

  1. ตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ใช้ใบลำไยที่ตัดแต่งกิ่งคลุมใต้โคนต้นบางๆ
  2. ใส่ปุ๋ยคอก และปุ๋ยเคมี สูตร 25-7-7 หรือ 46-0-0 + ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ในอัตราส่วน 1: 2 (ใส่รอบทรงพุ่ม 1 กิโลกรัม ต่อต้น)
  3. รดน้ำให้ชุ่ม ทุกๆ 5-7 วัน จนเริ่มแทงยอดอ่อนใน 21 วัน
  4. พ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 15-15-15 + ฮอร์โมน+ธาตุอาหารรอง
  5. เมื่อใบแก่จัด 45-60 วัน เริ่มปฏิบัติตาม ข้อ 2-4 ใหม่

การเตรียมต้นก่อนราดสาร 1 เดือนนั้น วันที่ 1 คุณดำรงค์ จะพ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 + ปุ๋ย สูตร 10-52-10 อย่างละ 500 กรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร วันที่ 7-21 พ่นปุ๋ยทางใบ สูตร 0-52-34 + ปุ๋ย สูตร 10-52-10 อย่างละ 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 200 ลิตร (พ่นอย่างน้อย 2 ครั้ง) วันที่ 10 ใส่ปุ๋ยทางดิน สูตร 8-24-24 จำนวน 1 กิโลกรัม ต่อต้น ทำความสะอาดรอบโคนต้นบริเวณที่ต้องการราดสาร กว้าง 1 เมตร

คุณดำรงค์ ใช้เทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดู สูตรราดบนดินโดยใช้โพแทสเซียมคลอเรต จำนวน 6-8 กิโลกรัม โซเดียมคลอเรต จำนวน 1-2 กิโลกรัม ปุ๋ย สูตร 0-52-34 จำนวน 1 กิโลกรัม ปุ๋ยยูเรีย หรือ สูตร 15-15-15 จำนวน 300 กรัม และน้ำ จำนวน 200 ลิตร ฉีดพ่นรอบทรงพุ่มที่เตรียมไว้ 8-10 ต้น (ขนาดทรงพุ่ม 6-8 เมตร)

ส่วนเทคนิคการผลิตลำไยนอกฤดู สูตรพ่นทางใบที่แนะนำคือ โซเดียม จำนวน 500 กรัม ไทโอยูเรีย จำนวน 1 กิโลกรัม น้ำตาลทางด่วน จำนวน 1 กิโลกรัม น้ำ จำนวน 200 ลิตร ฉีดพ่น 2 ครั้ง หลังราดสาร 5 วัน ห่างกัน 7 วัน หลังราดสารต้องดูแลโคนต้นให้มีความชื้นอย่างสม่ำเสมอ หากพบโรคหรือแมลงระบาดให้ฉีดพ่นด้วยยากำจัดศัตรูพืช

“การทำลำไยนอกฤดู ให้ผลตอบแทนที่ดี ช่วยสร้างโอกาสทางการตลาด และขายสินค้าได้ราคาที่ดี เมื่อต้นลำไยให้ผลผลิตก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน หลังจากภาครัฐเข้ามาส่งเสริมนโยบายเกษตรแปลงใหญ่ โดยแนะนำให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตด้วยวิธีต่างๆ เช่น ทำปุ๋ยหมักจากใบลำไย ก็ทำให้สภาพดินดีขึ้น การใช้สารชีวภัณฑ์ สามารถทดแทนการใช้สารเคมีได้ดี นอกจากนี้ การใช้พลังงานสูบน้ำจากไฟฟ้า ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับการใช้น้ำมัน” คุณดำรงค์ กล่าว

เทคนิคการผลิตปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไย

นอกจากนี้ คุณดำรงค์ ยังมีเทคนิคการผลิตปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไยที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง คุณดำรงค์ กล่าวว่า   การผลิตลำไยหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรมักจะตัดแต่งกิ่งลำไยเป็นประจำทุกปี ตนจึงได้นำเศษซากกิ่งลำไยจากการตัดแต่งกิ่งมาทำปุ๋ยหมักใต้ต้นลำไย

วิธีทำ มี 5 ขั้นตอน ได้แก่

  1. นำกิ่งลำไยวางเรียงบนพื้นดินใต้ต้นลำไยตามขนาดความกว้างของทรงพุ่มลำไยแต่ละต้น
  2. แบ่งเศษใบลำไยออกเป็น 2 ส่วน ใช้เททับลงไปในทรงพุ่มเป็นกองชั้นแรก 1 ส่วน
  3. ใช้ปุ๋ยคอกโรยลงไป และใช้ใบลำไยส่วนที่เหลือเททับลงไป
  4. ใช้สารเร่งปุ๋ยหมัก ผสมน้ำราดไปให้ทั่ว
  5. รดน้ำให้ชุ่มอย่างสม่ำเสมอ ประมาณ 3-4 เดือน เศษซากพืชจะสลายตัวเป็นปุ๋ยอินทรีย์

คุณดำรงค์ กล่าวว่า ข้อดีของการใช้เทคนิคนี้ก็คือ ช่วยลดต้นทุนการผลิตลำไยลงได้ 40-50 เปอร์เซ็นต์ โดยทำให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมีจากเดิมที่ใช้ 6 กิโลกรัม ต่อต้น ต่อปี ลดเหลือ 3 กิโลกรัม และเนื่องจากมีวัสดุคลุมดินทำให้ประหยัดการใช้น้ำ จากเดิมในฤดูแล้งต้องให้น้ำ 3 วัน ต่อ 1 ครั้ง ขยายออกเป็น 7 วัน ต่อ 1 ครั้ง โดยสภาพพื้นดินมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ข้อดีประการต่อมาคือ ช่วยทำให้การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นการออกดอกของลำไยดีขึ้น เนื่องจากบริเวณทรงพุ่มลำไยจะเกิดรากฝอยและรากขนอ่อนใกล้ผิวดิน ทำให้ดูดซับสารซึ่งละลายน้ำฉีดพ่นลงผิวดินในทรงพุ่มลำไยได้มากขึ้นแล้ว ยังช่วยลดมลพิษที่เกิดจากการเผาเศษกิ่งและใบลำไย รวมทั้งลดการระบาดของวัชพืชใต้ต้นลำไย ที่สำคัญช่วยเพิ่มอินทรียวัตถุลงในดิน เกิดความอุดมสมบูรณ์ของดินอีกด้วย