“เปลี่ยนวิถีทำนาอินทรีย์แบบผสมผสาน” สุขที่ยั่งยืน ของ ธวัชร กิตติปัญโญชัย

ในขณะที่สภาวะที่ราคาข้าวตกต่ำ “ชาวนา” เดือดร้อนกันทั่วหน้า จนรัฐต้องเร่งหามาตรการเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา อีกทั้งองค์กร ภาคเอกชน ร้านค้า ต่างระดมพลังช่วยกันแก้ปัญหาในรูปแบบต่างๆ เปิดพื้นที่ให้ชาวนาขายข้าวฟรีเพื่อบรรเทาความร้อนเดือนเฉพาะหน้า

แต่ทว่า ปัญหาเหล่านี้ไม่มีกระทบกับครอบครัวของธวัชร กิตติปัญโยชัย ชายหนุ่มในวัย 45 ปี  ชาวนาในพื้นที่ อ.สามพราน จ.นครปฐม สมาชิกกลุ่มข้าวอินทรีย์สุขใจ เครือข่ายสามพรานโมเดล เพราะเขาเลือกที่จะทำเกษตรแบบผสมผสาน และเลือกที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำเกษตรเคมี มาสู่ระบบอินทรีย์ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแสงนำทางในการดำเนินชีวิต จนประสบความสำเร็จ มีตลาดเป็นของตัวเอง สามารถกำหนดราคาขายได้เอง ยืนได้ด้วยตัวเอง และสร้างความสุขที่ยั่งยืนให้กับครอบครัว

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน ธวัชร เองก็เคยตกอยู่ในสภาพเดียวกับชาวนาทั่วไปที่ต้องนำผลผลิต เข้าระบบการจำนำ การประกันราคาข้าว ตามมาตรการของรัฐในยุคต่างๆ แม้จะขายข้าวได้ราคา ในบางช่วงก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า มีเงินให้เหลือเก็บ เพราะเมื่อคำนวณต้นทุนที่ต้องซื้อสารเคมีมันแทบจะไม่เหลือ เขาจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง หันกลับไปสู่การทำเกษตรแบบผสมผสานด้วยระบบอินทรีย์ หวังลดต้นทุนการผลิต ยึดทำนาเป็นหลัก แบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง ปลูกพืชผัก ผลไม้ เพื่อลดความเสี่ยง และพัฒนาระบบการผลิต จนปี 2557 เขาได้รับเครื่องหมายการันตีอาหารปลอดภัย โดยผ่านการรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์นานาชาติ (International Federation of Organic Agriculture Movements – IFOAM)

ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ธวัชร เล่าย้อนให้ฟังว่า ก่อนจะมาเป็นแปลงนาและสวนเกษตรแบบผสมผสานอย่างทุกวันนี้ เดิมทีที่ดิน  30 ไร่ ผืนนี้ เคยปลูกส้มโอทั้งหมด โดยแบ่งให้เช่า 13 ไร่ และใช้ปุ๋ยและยาเคมีในการผลิต มาตั้งแต่รุ่นพ่อแม่ ในปี 2546 เขาสังเกตว่าหน้าดินเสื่อมอย่างหนัก จึงเริ่มสนใจเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์ และระหว่างนั้นเขาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจึงได้มีโอกาสอบรมความรู้เรื่องการทำเกษตรโดยสารชีวภาพต่างๆ

ในปี 2552  เขาได้ผืนดินที่เช่าคืน แต่สภาพเสื่อมโทรมมาก จากการทำสวนส้มโอเคมี เขาเลยแปลงพื้นที่เป็นผืนนา ทดลองเอาปุ๋ยคอกมาแช่ให้ดินปรับสภาพ แต่ก็ยังผลิตด้วยระบบเคมี ขณะเดียวกันก็มานั่งทบทวนบัญชีครัวเรือนกับภรรยา ซึ่งจากตัวเลขที่โชว์พบว่า ถ้าไม่มีโครงการของรัฐช่วยชาวนาอยู่ไม่ได้ เนื่องจากต้นทุนของการทำนาที่ต้องซื้อปุ๋ยยาเคมีสูงถึง 50-60%  หักแล้วเหลือรายได้ 2,000-3,000 บาท ต่อระยะเวลา 3 เดือน ถือว่าไม่คุ้ม แต่ที่ครอบครัวอยู่ได้คือมีผลผลิตจากสวนเข้ามาช่วย หลังจากน้ำท่วมใหญ่ในปี2554 เขาจึงเปลี่ยนมาเป็นเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำนาอยู่ตรงกลางแล้วใช้สวนล้อมรอบ และทำทุกอย่างแบบเกษตรอินทรีย์ โดยเข้าร่วมกับโครงการสามพรานโมเดล เพื่อเรียนรู้วิถีการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มรูปแบบ

“ตอนเริ่มทำใหม่ๆ เราก็ทำตามความรู้ที่มี ทำแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่พอได้เข้าร่วมโครงการกับสามพรานโมเดล ทำให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ เรื่องระบบมาตรฐาน รวมถึงแนวทางในการทำนาอินทรีย์อย่างเป็นระบบทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น”

การทำนาอินทรีย์ หากไม่มีความมานะ อดทน ประสบความสำเร็จยาก ธวัชร เล่าว่า รอบแรกของการทำนาเจอปัญหาเรื่องวัชพืช เพราะการทำนาหว่านจะไม่สามารถคุมหญ้าได้ ข้าวกับหญ้าจะขึ้นและโตไปพร้อมกัน บางครั้งหญ้าเบียดข้าวจนเล็กแกร็นได้ผลผลิตน้อย  จึงทดลองเปลี่ยนมาทำนาโยน ก็ได้ผลดีเพราะต้นกล้าจะมีความแข็งแรงและต้นพันธุ์โตกว่าหญ้า   เมื่อโยนไปแล้วปล่อยน้ำเข้านา แล้วใช้แหนแดงคลุม แหนแดงจะช่วยปิดแสงไม่ให้หญ้าเติบโตได้ ขณะเดียวกันแหนแดงจะเปลี่ยนสภาพกลายเป็นปุ๋ยไนโตรเจนชั้นดีให้กับต้นข้าวอีกด้วย

ส่วนกรรมวิถีการกำจัดแมลง ใช้วิธีหมักสมุนไพร ซึ่งมีส่วนผสมของเหล้าขาว บอระเพ็ด ขมิ้นชัน พริกแห้ง น้ำส้มสายชู นำน้ำไปฉีดพ่นในนาข้าว ซึ่งจะช่วยเรื่องป้องกันเพลี้ย นอกจากนี้ยังใช้เชื้อราใช้เชื้อราไตรโคเดอร์มา ทำได้เองโดยซื้อหัวเชื้อมาเพาะกับข้าวเปลือก  เริ่มจากใช้วิธีหุงข้าวเปลือกแบบดงข้าวแล้วเหยาะเชื้อไตรโคเดอร์มา ลงไปหมักทิ้งไว้  2 วัน  เชื้อจะมีสีเขียว นำข้าวเปลือกมาล้างน้ำ เอาน้ำไปฉีดต้นข้าวทำให้รากข้าวแข็งแรง เมื่อรากแข็งแรงต้นข้าวจะโตและสูง ส่วนข้าวเปลือกก็นำไปใส่โคนต้นอีกที

หัวใจสำคัญการทำเกษตรอินทรีย์ขั้นตอนการเตรียมดิน ถือว่าสำคัญที่สุด ถ้าดินดี ข้าวก็จะเจริญเติบโตดี ผลผลิตที่ได้ก็จะดี จึงต้องหมักดินกับปุ๋ยคอกให้ได้ที่ก่อน การดูแลเรื่องวัชพืช แมลงต่างๆ แต่ทั้งนี้ ต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอนด้วยตัวเอง เพราะไม่ง่ายเหมือนทำนาเคมี

ธวัช บอกว่า “ทำนาอินทรีย์นั้นเหนื่อยมากต้องลงมือลงแรงเอง แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่ได้มาคุ้มค่า มาก ทั้งสภาพแวดล้อม รายได้ สังคม และสุขภาพคนในครอบครัว และการที่ได้ร่วมโครงการสามพรานโมเดลทำให้ได้องค์ความรู้ ได้โอกาสทางการตลาดมากขึ้น ยิ่งทำให้เราเกิดความเชื่อมั่น และศรัทธาในวิถีอินทรีย์มากขึ้น”

ปัจจุบัน พื้นที่ทั้งหมด 30 ไร่ แบ่ง 20 ไร่ ทำนาปลูกข้าวหอมปทุม และข้าวไรเบอร์รี่ โดยผลผลิตข้าวหอมปทุมส่วนหนึ่งส่งขายให้กับ โรงแรมสามพราน ริเวอร์ไซด์ ผ่านโครงการสามพรานโมเดล ในราคาเกวียนละ 18,000 บาท ที่เหลือขายเมล็ดพันธุ์ในราคากิโลกรัมละ 40 บาท ส่วนข้าวไรเบอร์รี่ขายปลีกกิโลกรัมละ 80-100 บาท ภายใต้ชื่อ ผลิตภัณฑ์ข้าวอินทรีย์ “น้ำฟ้า” วางจำหน่าย ที่ตลาดน้ำดอนหวาย ส่วนพื้นที่ที่เหลืออีก 10 ไร่ ล้อมรอบนา ปลูกพืชผสมผสานทั้ง ส้มโอ กล้วยมะนาว  มะพร้าวน้ำหอม ขนุน พืชเหล่านี้ให้ผลผลิตหมุนเวียนตลอดทั้งปี และมีร้านจำหน่ายประจำที่ตลาดดอนหวายเช่นกัน

สำหรับผู้ที่สนใจ อยากเรียนรู้ เคล็ดลับความสำเร็จการทำนาข้าวอินทรีย์ กับ ธวัชร  กิตติปัญโยชัย และร่วมแชร์ประสบการณ์กับชาวนากลุ่มข้าวอินทรีย์สุขใจ เครือข่ายสามพรานโมเดล พร้อมอุดหนุนข้าวและสินค้าเกษตรอินทรีย์ตรงจากเกษตร ขอเชิญได้ใน “งานสังคมสุขใจ”  ระหว่างวันที่ 16-18 ธันวาคม 2559 ที่ สวนสามพราน จ. นครปฐม รายละเอียดติดต่อได้ที่โทร. 084-670-0930 หรือ Facebook/สามพรานโมเดล