เชียงราย มี “ข้าวญี่ปุ่น” ได้มาตรฐานสำหรับผู้บริโภค

จังหวัดในภาคเหนือของไทย เป็นแหล่งปลูกข้าวพันธุ์ดีอีกแหล่งหนึ่ง ซึ่งนอกเหนือจากสายพันธุ์ที่ปลูกและคิดค้นโดยคนไทยเอง กระจายการทดลองปลูกจนได้ผลผลิตเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศแล้ว เทคโนโลยีการปลูกและคิดค้นสายพันธุ์ข้าวยังคงไม่หยุดนิ่ง ไม่เฉพาะสายพันธุ์ที่เติบโตภายในประเทศเท่านั้น ยังคงรวมถึงสายพันธุ์จากต่างประเทศ

ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย เป็นศูนย์วิจัยข้าวแห่งแรกที่นำ “ข้าวญี่ปุ่น” เข้ามาทดลองปลูกในประเทศไทย

รวงข้าวญี่ปุ่น

สถาบันวิจัยข้าวเริ่มดำเนินงานเพื่อศึกษาหาข้อมูลเบื้องต้น ตลอดจนความเป็นไปได้ในการปลูกข้าวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ ปี  2507 โดยได้ดำเนินที่สถานีทดลองข้าวพาน จังหวัดเชียงราย ต่อมาในปี 2530 สถานีทดลองข้าวพาน  ได้เก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นจากแหล่งต่างๆ มาขยายเมล็ดพันธุ์ จากนั้นนำไปปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นต้น  เมื่อปี 2531-2532 ปลูกศึกษาพันธุ์ขั้นสูงที่สถานีทดลองข้าวพานและสถานีทดลองข้าวสันป่าตอง   เมื่อปี 2532-2533 ปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ระหว่างสถานี เมื่อปี 2533-2534

หลังจากนั้นนำไปปลูกทดสอบผลผลิตในนาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน พิษณุโลก ชัยนาท สกลนคร และจังหวัดหนองคาย พร้อมทั้งบันทึกผลผลิต ลักษณะทางการเกษตรที่สำคัญ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยาในช่วงฤดูปลูกตรวจสอบคุณภาพเมล็ดทางกายภาพและทางเคมีตลอดจนทดสอบปฏิกิริยาต่อโรคและแมลงเมื่อปี 2534-2538 ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการวิจัยและพัฒนากรมวิชาการเกษตรให้เป็นพันธุ์แนะนำ เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2538 และให้ชื่อว่าพันธุ์ ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 และข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2

ลักษณะประจำพันธุ์ ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 เป็นข้าวเจ้านาสวน ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 88 เซนติเมตร ต้นค่อนข้างแข็งแรง กอตั้งตรง ใบแก่ช้าสีเขียวและมีขน กาบใบและปล้องสีเขียว ใบธงค่อนข้างตั้งตรง รวงแน่น ระแง้ถี่คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางมีขนสั้น ยอดเมล็ดสีฟางและมีหางเล็กน้อย รูปร่างเมล็ดข้าวเปลือกสั้นป้อมยาว 7.4 มิลลิเมตร กว้าง 3.5 มิลลิเมตร และหนา 2.2 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว ยาวเฉลี่ย 5.18 มิลลิเมตร มีท้องไข่ปานกลาง การร่วงของเมล็ดยาก มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 120 วัน และให้ผลผลิตประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่

ลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูงในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์  สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ดินนาเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทนทานต่อสภาพอากาศร้อนได้ดีกว่าข้าวญี่ปุ่นพันธุ์อื่นๆ คุณภาพการสีดี ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวประมาณ 48 เปอร์เซ็นต์ คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดีตรงตามมาตรฐานสำหรับผู้บริโภคข้าวญี่ปุ่น ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป

แปลงข้าวญี่ปุ่น

คำแนะนำ ให้ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบน ภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน

การปลูกในฤดูนาปรัง ช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม จะให้ผลผลิตสูงกว่าฤดูนาปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งมีอุณหภูมิเหมาะสมในการเจริญเติบโต อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 7-10 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาดำ และ 15 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาหว่านน้ำตม โดยเมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ อายุกล้าที่เหมาะสมต่อการปักดำในฤดูนาปรังในเขตภาคเหนือตอนบนประมาณ 25-30 วัน และ 15-18 วัน สำหรับภาคเหนือตอนล่าง หรือเมื่อต้นกล้ามีใบ 3-5 ใบ ถอนกล้าอย่าให้ช้ำและนำไปปักดำให้เสร็จภายในวันเดียว เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและตั้งตัวได้เร็ว โดยปักดำจับละ 6-8 ต้น ระยะปักดำ 30×15 หรือ 20×20 เซนติเมตร

การปลูกแบบนาโยน

ข้อควรระวัง ในสภาพที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูง ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 ไม่ต้านทานโรคไหม้ การปลูกข้าวให้ได้ผลดีควรหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมดังกล่าว

ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.1 มีระแง้เหนียวมาก การนวดโดยการฟาดข้าวทำได้ยาก หลังจากเก็บเกี่ยวควรตากข้าว    ในนา 3-4 วัน แล้วนวดด้วยเครื่องนวดทันที เมล็ดข้าวเสื่อมความงอกเร็ว การเก็บเมล็ดพันธุ์ควรลดความชื้นเมล็ดให้เหลือ 8-10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บในปีบหรือภาชนะที่สามารถปิดผนึกได้ ไม่ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้งและโรคใบสีส้ม ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ลักษณะประจำพันธุ์ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2 เป็นข้าวเจ้านาสวน ไม่ไวต่อช่วงแสง ต้นสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ต้นแข็ง ทรงกอตั้งตรง ใบแก่ช้าสีเขียวและมีขน กาบใบและปล้องสีเขียว ใบธงค่อนข้างตั้งตรง รวงแน่น ระแง้ถี่    คอรวงสั้น เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางมีขนสั้น ยอดเมล็ดสีฟางและมีหางบ้างบางเมล็ด รูปร่างเมล็ดข้าวเปลือกสั้นป้อมยาว 7.3 มิลลิเมตร กว้าง 3.3 มิลลิเมตร และหนา 2.2 มิลลิเมตร ข้าวกล้องสีขาว ยาวเฉลี่ย 5.13 มิลลิเมตร มีท้องไข่น้อย การร่วงของเมล็ดยาก มีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 117 วัน และให้ผลผลิตประมาณ 700 กิโลกรัมต่อไร่

ปักดำด้วยคน

ลักษณะเด่น ให้ผลผลิตสูงในสภาพดินที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถปรับตัวได้ดีในพื้นที่ดินนาเขตภาคเหนือตอนบน คุณภาพการสีดีมาก ได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวประมาณ 52 เปอร์เซ็นต์คุณภาพการหุงต้มและรับประทานดี ตรงตามมาตรฐานสำหรับผู้บริโภคข้าวญี่ปุ่น ราคาสูงกว่าข้าวทั่วไป

คำแนะนำ ให้ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบน การปลูกในฤดูนาปรังช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคมจะให้ผลผลิตสูงกว่าฤดูนาปี เพราะเป็นช่วงฤดูหนาวซึ่งมีอุณหภูมิเหมาะสมในการเจริญเติบโต อัตราเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ 7-10 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาดำ และ 15 กิโลกรัมต่อไร่ สำหรับนาหว่านน้ำตม โดยเมล็ดพันธุ์ต้องมีความงอกไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์อายุกล้าที่เหมาะสมต่อการปักดำในฤดูนาปรังในเขตภาคเหนือตอนบนประมาณ 25-30 วัน หรือเมื่อต้นกล้ามีใบ 3-5 ใบ ถอนกล้าอย่าให้กล้าช้ำ ควรถอนกล้าและปักดำให้เสร็จภายในวันเดียว เพื่อให้ได้ต้นกล้าที่แข็งแรงและตั้งตัวได้เร็ว โดยปักดำจับละ 6-8 ต้น ระยะปักดำ 30×15 หรือ 20×20 เซนติเมตร

ปักดำด้วยเครื่อง

ข้อควรระวัง ในสภาพที่มีอากาศร้อนและความชื้นสูงข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2 ไม่ต้านทานโรคไหม้ การปลูกข้าวให้ได้ผลดีหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมดังกล่าว ข้าวญี่ปุ่น ก.วก.2 มีระแง้เหนียวมาก การนวดโดยการฟาดข้าวทำได้ยาก หลังจากเก็บเกี่ยวควรตากข้าวในนา 3-4 วัน แล้วนวดด้วยเครื่องนวดทันที เมล็ดขาวเสื่อมความงอกเร็ว การเก็บเมล็ดควรลดความชื้นเมล็ดให้เหลือ 8-10 เปอร์เซ็นต์ และเก็บในปีบหรือภาชนะที่สามารถปิดผนึกได้ ไม่ต้านทานโรคไหม้ โรคขอบใบแห้งและโรคใบสีส้ม ไม่ต้านทานเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล เพลี้ยจักจั่นสีเขียวและเพลี้ยกระโดดหลังขาว

ในปัจจุบันข้าวญี่ปุ่นได้มีภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย หลายรายทำการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก และรับซื้อคืนในราคาประกันแล้วแต่ฤดูกาล ในหลายอำเภอ เช่น อำเภอแม่จัน เมืองเชียงราย เวียงป่าเป้า พาน แม่ลาว ฯลฯ สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดต่อสอบถามที่ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 0-5372-1578 โทรสาร 0-5372-1916 หรือ [email protected]