พบ “ทะลอก” ยางโบราณ เกือบสูญพันธุ์ ที่เมืองย่าโม

ชื่อสามัญ ทะลอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Vatica philastreana Pierre

วงศ์ Dipterocapaceae

ในปีนี้ถ้าจะว่าไปแล้ว เป็นปีทองสำหรับผู้เขียน เพราะได้เจอเรื่องมหัศจรรย์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องต้นไม้ที่ออกดอกออกผลกันยกใหญ่ ทั้งการได้พบเจอตะเคียนทองต้นใหญ่ยักษ์งอกเบี้ยใต้ต้นเป็นหมื่นๆ แสนๆ ต้น ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในรอบหลายสิบปี ทั้งต้นกาจะหรือมะเกลือกาที่บ้านเมืองนนท์ ที่เพิ่งลงดินได้ 2 ปี กลับออกดอกเต็มต้น หรือจะเป็นเพราะปีนี้อากาศสุดจะวิปริต หรือเพราะเป็นธรรมดาของต้นไม้ที่จะรับรู้ว่าฝนจะตกเมื่อไร จึงได้ผลิตลูกหลานมาอย่างหนำใจ (ไว้โอกาสหน้าจะเขียนเรื่องต้นไม้ทำนายฝน…)

ชันยางที่เปลือกลำต้น

ที่น่าอัศจรรย์ใจก็คือ ผู้เขียนมีโอกาสได้เจอ ต้นทะลอก ต้นยางใหญ่ยักษ์อายุเกินร้อยปี ทั้งๆ ที่วันที่ได้ต้นกล้าครั้งล่าสุดเมื่อ 2 ปีก่อน จากคุณหมอท่านหนึ่ง ซึ่งท่านนำมาจากมาเลเซีย แค่นั้นไม่พอท่านได้ใส่ข้อมูลไว้ในสมองผู้เขียนว่า ในเมืองไทยหาไม่ได้แล้วนะเจ้าคุณพี่ หรือจะพูดง่ายๆ ก็คือ ที่ไทยน่ะสูญพันธุ์ไปแล้ว และที่น่าอัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นก็คือ ต้นทะลอกต้นนี้ออกลูกมาอย่างทะลักทะเลื่อเหมือนจะอวดโฉมให้เราได้เห็นเขาอย่างเต็มตาหลังจากหลบซ่อนตัวไม่ยอมปรากฏโฉมให้ใครเห็น หรือว่าเขาก็ผลิตลูกหลานเยอะแยะนั่นแหละ แต่ไม่มีใครเคยได้ไปสนใจมอง อีกนัยยะหนึ่งก็เหมือนกับจะประกาศเป็นทำนองกลายๆ ว่า…ฉันจะไม่ยอมสูญหายไปจากสยามประเทศอย่างแน่นอน (ฮา…)

สถานที่พบต้นทะลอกต้นนี้ อยู่ห่างจากลำน้ำมูลราวๆ 200 เมตร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดินของ คุณอุ่นเรือน พลสงคราม หมู่บ้านหนองหัวคน ตำบลกระเบื้องนอก อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งคุณอุ่นเรือนได้เล่าให้ฟังว่า ยามน้ำมูลขึ้นสูงก็จะท่วมบริเวณป่าแห่งนี้ประมาณช่วงเข้าพรรษานับไปอีก 6 เดือน ส่วนพระเอกในเรื่องนี้ที่ไปพบต้นทะลอกต้นนี้เป็นคนแรกก็คือ เด็กหนุ่มเจ้าของฉายา บ้านสวน ตนุสรณ์ หรือ น้องเม่น สมาชิกกลุ่มขุนดงในเฟซบุ๊กที่ชอบหาเมล็ดไม้ไว้แจกจ่ายเพื่อนๆ สมาชิกในกลุ่ม มีอยู่วันหนึ่งไปหาไม้มาทำฟืนแล้วเจอต้นทะลอกออกลูกเต็มต้น แต่ไม่รู้ว่าเป็นต้นอะไร ถามคนในพื้นที่เขาเรียกกันว่า กระเบาปัก ในที่สุดความได้กระจ่างว่าเป็นต้นทะลอก โดยนักวิชาการป่าไม้นาม มานพ ภู่พัฒน์ ผู้เขียนนั้นเมื่อทราบข่าวจากท่าน บ.ก.จักร อจินไตย หัวหน้าชมรมอนุรักษ์ไม้วงศ์ยาง ว่าเจอต้นทะลอกที่เมืองโคราช จึงรู้สึกยินดีปรีดาเป็นพิเศษ (เป็นสะใภ้แม่ย่า…ฮา…) จึงได้นัดแนะกับน้องเม่นว่า จะนั่งรถไฟไปหาจะไปดูให้เห็นกับตาว่าใช่ต้นทะลอกหรือไม่ ความคิดตอนนั้นถึงไม่ได้เห็นคนแรกก็ขอไปเห็นเป็นคนที่สอง ระหว่างที่ไปใจก็เต้นตุ้มๆ ต่อมๆ เหมือนกลอง นอนก็ไม่หลับ เมื่อถึงโคราชแล้วก็ไม่สนใจฟังว่าใครจะคุยอะไรกัน อยากไปให้ถึงเร็วๆ เหมือนมีเสียงเรียกเพื่อรอการไปเยือน

ต้นทะลอกอายุร้อยกว่าปี

ทันใดที่ได้เหยียบผืนดินตรงนั้น ผู้เขียนก็เชื่อมั่นว่าสิ่งที่สงสัยนั้นเป็นจริงแน่นอน (ผู้เขียนรู้สึกพิเศษได้ด้วยการขนหัวลุก…ฮา…) และเมื่อได้เห็นต้นของทะลอกก็ยิ่งมั่นใจมากขึ้นไปอีก เพราะลำต้นมีชันหรือยางสีน้ำตาลใสๆ ติดอยู่ ซึ่งมันเป็นลักษณะสำคัญของไม้วงศ์ยาง ถึงแม้ลักษณะใบและผลจะละม้ายไปทางพวกมะพลับ หรือ ตะโก (Diospyros spp.) ก็ตาม อีกอย่างที่เพิ่มความมั่นใจก็คือ ผลที่ได้เก็บมาเมื่อผ่าดูก็ได้กลิ่นหอมอ่อนๆ ตามลักษณะของผลยางทั่วไป

เอาละ! มาดูความสำคัญของต้นทะลอกกันบ้าง ทะลอก เป็น 1 ใน 14 ของไม้วงศ์ยาง ในประเทศไทย พบ 10-13 ต้น และเป็น 1 ในไม้ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ทั่วโลกจะพบต้นทะลอกเฉพาะไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ทะลอกเป็นไม้วงศ์ยาง ชื่ออาจไม่ค่อยจะคุ้นหูนัก เพราะไม่สูงยักษ์ปักหลั่นแบบไม้ยางอื่นๆ ดร. เต็ม สมิตินันท์ ได้ศึกษาไม้ชนิดนี้เอาไว้เป็นคนแรก โดยเก็บตัวอย่างพรรณไม้มาจากอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เมื่อ พ.ศ. 2523 ต่อมา ดร. ราชันย์ ภู่มา และ อาจารย์มานพ ผู้พัฒน์ ได้สำรวจเพิ่มเติม พบเพียงไม่กี่ต้นในแถบป่าดงฟ้าห่วน จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งสภาพพื้นที่ที่ต้นทะลอกชอบเกิดนั้นคือ ป่าบุ่ง ป่าทาม (ป่าที่น้ำท่วมขังในระยะหนึ่งในช่วงฤดูน้ำหลาก)

ทรงต้น-ผลทะลอก

ทะลอก เป็นไม้ต้นสูงได้ถึง 25 เมตร มีขนละเอียดตามกิ่งอ่อน หูใบ ช่อดอก กลีบเลี้ยงด้านนอก ใบรูปขอบขนาน ยาว 6-13 เซนติเมตร เส้นแขนงใบย่อยแบบขั้นบันได ก้านใบยาว 0.7-1.2 เซนติเมตร ช่อดอกยาว 4-9 เซนติเมตร ตาดอกรูปใบหอก ยาว 1-1.3 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงรูปไข่ ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ขยายในผล กลีบดอกรูปใบหอก ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร เกสรเพศผู้ 15 อัน เรียง 3 วง แกนอับเรณูเป็นติ่ง รังไข่มีขน ก้านเกสรเพศเมียยาวกว่ารังไข่เล็กน้อย ผลรูปรีเกือบกลม ยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ปลายมีติ่งแหลม แตกเป็น 3 ซีก กลีบเลี้ยงหนา พับงอกลับ โคนแนบติดผล ยาว 1-1.2 เซนติเมตร ก้านผลยาวประมาณ 1 เซนติเมตร พบในภูมิภาคอินโดจีน ในไทยพบกระจายห่างๆ ทางภาคตะวันออกที่อุบลราชธานี และภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่สระแก้ว ขึ้นตามป่าดิบแล้ง ความสูง 100-200 เมตร (เต็ม, 2557) ชื่อพ้อง Diospyros addita H. R. Fletcher, Vatica thorelii Pierre

เจ้าของต้นทะลอก (เสื้อม่อฮ่อม)

ไหนๆ ทะลอกต้นนี้มีถิ่นกำเนิดที่อีสาน ผู้เขียนก็ขอยกผญามาให้ฟังเพื่อให้อินไปกับบรรยากาศ ผญา หรือ ผะหยา เป็นคำกลอนหรือคำปรัชญาของคนไทยในภาคอีสานโบราณ ซึ่งภาษาสืบทอดมาจากภาษาของอาณาจักรล้านช้าง ปัจจุบันการเล่นผญายังหลงเหลือในหมอลำกลอนแบบอีสาน คำว่า ผญา มีความหมายในกลุ่มเดียวกับปัญญา และปรัชญา บางครั้งสามารถใช้แทนกัน ผญาป็นคำร้อยกรองที่คล้องจอง มีสัมผัสระหว่างข้อความไม่เข้มงวด และไม่มีฉันทลักษณ์กำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่เวลาพูดจะมีการเน้นคำหนักเบาเพื่อให้ผู้ฟังมีความเพลิดเพลินและสามารถจดจำได้ง่าย เรื่องที่ถูกแต่งเป็นผญามีหลายเรื่อง เช่น คำสอนทางศาสนา เรื่องราวในชีวิตประจำวัน การเกี้ยวพาราสีของหนุ่มสาว ธรรมเนียมประเพณี และการละเล่นของเด็ก เป็นต้น

“ต้นไม้หน่วยนักมักหักกิ่ง คนกำกึ้ดหยิ่งยิ่งหนักใจ ต้นไม้หน่วยหลายตายเพราะลูก คนดูถูกเพราะบ่มีผญาปัญญา…”

ผลทะลอก

ต้นไม้ตายเพราะมีผลดกเกิน คนที่ตระหนักทระนงในความคิดสูง มักกลัดกลุ้มหนักใจ ต้นไม้ตายเพราะออกผลล่อคนและสัตว์มาทำลาย คนถูกเขาปรามาสเพราะขาดปัญญา สรุปคือ อะไรที่เกินความพอดี มักจะแพ้ภัยตนเอง

ฟังผญาบทนี้แล้ว ผู้เขียนสะท้อนใจขออย่าให้มันจะเป็นลางร้ายเลยนะ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะไม่รอคอยให้ต้นไม้ต้นที่เหลือยืนต้นตายโดยไม่ทำอะไร ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้ให้คงอยู่ ช่วยกันปลูกช่วยกันสร้างสิ่งแวดล้อมดีๆ ให้แก่คนรุ่นหลัง ก่อนจบขอทิ้งท้ายไว้สักนิดว่า หากพวกเราเป็นนักกระจายพันธุ์เหมือนนก หนู และสัตว์อื่นๆ ช่วยกันนะช่วยนำเมล็ดพันธุ์ของทะลอกมาเพาะแล้วปลูกต่อไป เพราะมันจะเป็นวิธีที่จะดำรงสายพันธุ์ให้คงอยู่ต่อไปได้

ดูเพิ่มเติมได้ใน FB:กระพี้ พี้จั่น นางไม้แห่งลานสะแบง