โรงเรียนวัดเขาน้อย โรงเรียนกินผัก

แนวความคิดเรื่องการบริโภคผักปลอดภัยจากสารพิษ เป็นเรื่องที่ควรปลูกฝังและเริ่มต้นการบริโภคตั้งแต่เด็กเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ซึ่งส่งผลให้เด็กคุ้นเคยกับการบริโภคผักเพราะมีประโยชน์แก่ร่างกายมากนอกจากนี้ ทำให้ต่อไปในอนาคตเราจะมีพลเมืองที่มีสุขภาพดีถ้วนหน้า เนื่องจากปลูกฝังให้เด็กเลือกบริโภคผักที่ปลอดภัยจากสารพิษ

แต่น่าเสียดาย ยังไม่เลิกนำเข้ายาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลงและยาปราบศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้กันเกลื่อนกลาดทั่วไป  ยาฆ่าหญ้าที่มีเรื่องราวกันเมื่อไม่นานมานี้ก็เป็นสารเคมีที่มีผลต่อดินมหาศาลและยังเป็นยาชนิดดูดซึมที่เข้าไปอยู่ในลำต้นพืชอาหาร ไม่สามารถล้างออกได้อีกด้วย เป็นที่น่าตกใจว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องภาคเอกชนได้สุ่มตรวจสารเคมีที่ตกค้างในพืชผักปีนี้ พบว่าพริกขี้หนูพบเป็นอันดับ 1 แซงหน้าผักคะน้าและถั่วฝักยาวไป

แต่ที่น่าตกใจกว่านั้นเรามักเข้าใจกันว่าผักพื้นบ้านหลายชนิดไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ ปรากฏว่าปีนี้พบสารเคมีตกค้างในชะอม ทั้งๆ ที่ชะอมค่อนข้างทนต่อโรคพืชและแมลงรบกวน เมื่อนำไปตรวจในเชิงลึกกลับพบว่าสารพิษที่ตกค้างในชะอมคือ สารพิษที่อยู่ในยาฆ่าหญ้า ซึ่งเกษตรกรนำมาฉีดฆ่าหญ้าบริเวณโคนต้น แต่สารดังกล่าวใช้เวลามากในการสลายตัว ต้นชะอมจึงดูดซึมสารพิษเข้าไป

โรงเรียนวัดเขาน้อย
เพาะเมล็ดผัก

โรงเรียนวัดเขาน้อย (ศิลาทองวิทยาคาร) ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 2 ตำบลพรหมมณี อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เป็นโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษานครนายก เป็นโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 มีนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนประมาณ 103 คน มีครูและบุคลากรด้านการศึกษารวม 7 คน

คุณครูละอองแก้ว สุวรรณวงศ์ เป็นคุณครูสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และรับผิดชอบสอนวิชางานเกษตรของชั้นประถมศึกษาทั้งหมดตั้งแต่ ป.1 ถึง ป.6 ซึ่งจะมีการเรียนการสอนวิชางานเกษตร สัปดาห์ละ 1 ชั่วโมงของทุกชั้นเรียน แต่การเรียนวิชานี้จะไม่นับเป็นหน่วยกิต ถือเป็นกิจกรรมสันทนาการในการปฏิบัติของนักเรียนชั้น ป.1 จะมีผู้ปกครองมามีส่วนร่วมด้วยเนื่องจากเด็กนักเรียนยังเล็กเกินไป ส่วน ป.2-ป.6 จะรับผิดชอบด้วยตัวเองโดยแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นแปลงๆ ไป แต่ละแปลงจะมีนักเรียนรับผิดชอบ 2-3 คน

ร่วมแรงร่วมใจ
ผลผลิต

เนื่องจากโรงเรียนวัดเขาน้อยเป็นโรงเรียนตามโครงการพระราชดำริฯ อยู่แล้วมานานถึงเกือบ 30 ปี จึงมีการปลูกพืชผักและเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้ในการประกอบอาหารกลางวันให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนอย่างต่อเนื่องมาทุกปี นอกจากผักที่ได้จะเป็นผักที่ปลอดสารพิษแล้ว ยังสร้างเสริมกิจกรรมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการปลูกผัก เพื่อให้ความรู้สึกรักในการเกษตรติดตัวไปภายหน้า

ในกิจกรรมการปลูกผักของปีงบประมาณนี้ มีหน่วยงานของสำนักงานส่งเสริมสุขภาพแห่งชาติ หรือ สสส. โดย บริษัท สวนเงินมีมา เข้ามาดำเนินกิจการช่วยเหลือเพิ่มขึ้นอีกทำให้โรงเรียนมีความพร้อมในการทำแปลงผักและกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องมากยิ่งขึ้น

ลงแรง
เก็บผัก

โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด 7 ไร่ ได้แบ่งเป็นพื้นที่เกษตรประมาณ 1 ไร่ แบ่งเป็นแปลงเล็กๆ เพื่อให้นักเรียนทำได้ ผักที่ปลูกทั้งหมดจะเป็นผักที่นำมาประกอบอาหารในเมนูของโรงเรียนได้ เช่น ผักบุ้ง ผักกวางตุ้ง ผักคะน้า ผักกาดขาว ผักชี วอเตอร์เครส มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ผักสลัด ส่วนผักเลื้อยได้แก่ ฟัก แฟง ฟักข้าว ขจร ถั่วฝักยาว และแตงกวา สำหรับผลไม้ก็มี กล้วยน้ำว้า มะม่วง ขนุน มะขาม และมะละกอ

ส่วนองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ได้รับการศึกษาอบรมจากสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ทางโรงเรียนจึงเลี้ยงไก่ไข่ไว้ประมาณ 50 ตัว ในกรง มีผลผลิตไข่วันละประมาณ 40 ฟอง คิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงปิดเทอมที่ไม่ได้ทำอาหารให้นักเรียนจะเอาน้ำมันพืชเคลือบไข่ไว้จะทำให้ไข่ไก่สามารถเก็บไว้ได้ถึง 1 เดือนโดยไม่ต้องแช่ตู้เย็น

เลี้ยงไก่ไข่

ไก่ที่เลี้ยงนี้ซื้อไก่พร้อมไข่อายุ 18 สัปดาห์ โดยการประสานงานของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด บางครั้งก็ซื้อเอง บางครั้งได้รับความช่วยเหลือจากภาคเอกชนที่เล็งเห็นความสำคัญของโครงการนี้ ส่วนเป็ดเทศหรือเป็ดบาบารี เลี้ยงไว้ประมาณ 30 ตัว โดยใช้เศษอาหารหรือเศษผักมีผสมกับอาหารสำเร็จรูปบ้างเล็กน้อย ไข่เป็ดที่ได้ส่วนใหญ่จะทำเป็นไข่เค็ม ส่วนเป็ดตัวผู้เมื่อถึงอายุก็จะมีคนมาซื้อไปประกอบอาหาร

สำหรับปลาซึ่งเป็นเมนูฮิตของที่โรงเรียน ก็จะเลี้ยงเองในบ่อซีเมนต์ ก่อด้วยอิฐบล็อกฉาบเรียบสูง 1.2 เมตร กว้างยาว 3 คูณ 7 เมตร โดยจะเลี้ยงปลาดุกครั้งละ 2,000 ตัวตั้งแต่เปิดเทอม ประมาณ 2 เดือนกว่าๆ ก็เริ่มนำมาทำอาหารได้ ปลาดุกที่เลี้ยงจะกินได้จนเกือบถึงวันปิดเทอม

เมี่ยงใส่ดอกแก่นตะวัน

เมนูที่ยอดฮิตของนักเรียนที่นี่ซึ่งชอบกินอาหารรสค่อนข้างจัด จะมี พะแนงหมู พะแนงไก่ใส่วอเตอร์เครส แกงส้มปลาดุกใส่ผักรวม ผัดกะเพราะหมูใส่ผักไชยา แกงเทโพ ต้มจับฉ่าย สลัดผัก ส้มตำ ต้มเลือดหมู ไข่น้ำ เมนูสารพัดไข่ ก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กหมู และเมี่ยงปลาดุก

เมี่ยงซุปเปอร์แซ่บ

เมี่ยงปลาดุกหรือเมี่ยงซุปเปอร์แซ่บของโรงเรียนเขาน้อย จะใช้วัตถุดิบดังนี้ ปลาดุกย่าง 3 ตัว หมูสับรวนจนสุก ปลาทูน่ากระป๋อง ไข่ต้มฝานบางๆ ขนมจีนหรือเส้นหมี่ลวกตามต้องการ ผักในสวน เช่น โหระพา ผักชีใบเลื่อย สะระแหน่ คะน้าอ่อน ผักบุ้งอ่อน ใบชะพลู ดอกอัญชัญ

เมี่ยงซุปเปอร์แซ่บ
เมี่ยง

สำหรับน้ำจิ้มใช้พริกขี้หนูสวน 20 เม็ด กระเทียมกลีบใหญ่แกะเปลือก 2 ช้อนโต๊ะ น้ำมะนาว 2 ช้อนโต๊ะ น้ำเชื่อม 4 ช้อนโต๊ะ น้ำปลา 1-1.5 ช้อนโต๊ะ โขลกหรือปั่นรวมกันใส่ถ้วยพักไว้ นำปลาหมูต่างๆ มาวางไว้ในถาดพร้อมผักและน้ำจิ้ม ให้เด็กนำผักมารองตักปลา หมู ไข่ ขนมจีน วางแล้วราดด้วยน้ำจิ้มตามชอบ

จัดเป็นคำ
อาหย่อยครับ

อาหารกลางวันของโรงเรียนจะมีกับข้าว 2 อย่างทุกวัน ส่วนของหวานจะมีสัปดาห์ละ 2 วัน คือวันอังคารกับวันพฤหัสบดี วันที่เหลืออีก 3 วันจะเป็นผลไม้ เท่ากับมีของว่างครบทุกมื้อ ถือว่าโรงเรียนได้จัดการเรื่องส่วนอาหารนี้ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์โรงเรียนหนึ่งทีเดียว ส่วนชุดไทยนักเรียนจะแต่งมาโรงเรียนในวันศุกร์ โดยโรงเรียนหาเงินมาซื้อให้คนละ 1 ชุด

สิทธิ์ของผู้ผ่านการคัดเลือกโครงการโรงเรียนกินผัก

สิทธิ์ที่ผู้ผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อดำเนินโครงการโรงเรียนกินผัก ตั้งแต่ 5,000-40,000 บาท (พิจารณาตามความเหมาะสมของโครงการที่เสนอมา) และเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษกับทางโครงการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ได้แก่ กิจกรรมปฐมนิเทศเพื่อทำความรู้จักเพื่อนเครือข่ายจากโรงเรียนและหน่วยงานสนับสนุนอื่น ค่ายครูผู้นำ สร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงวิถีสุขปัญญา ศึกษาดูงานในพื้นที่โรงเรียนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการสร้างพื้นที่อาหารสุขภาวะภายในโรงเรียน (กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด)

การอบรมเชิงปฏิบัติการ เรียนรู้ร่วมกันในการสร้างปัจจัยความสำเร็จจากโรงเรียนต้นแบบ กิจกรรม Farm visit เยี่ยมชมแปลงผลผลิตทางการเกษตรที่จะเชื่องโยงผลผลิตเข้าสู่ครัวโรงเรียน ได้ร่วมกิจกรรมเผยแพร่และประชาสัมพันธ์โรงเรียนในงานต่างๆ ที่โครงการเชิญเข้าร่วม สามารถนำสื่อและองค์ความรู้รูปแบบต่างๆ ของโครงการไปปรับใช้ในโรงเรียน

สนใจติดต่อโครงการโรงเรียนกินผัก ติดต่อได้ที่ บริษัท สวนเงินมีมา โทร. (02) 622-0955, (02) 622-0966 หรือต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเมนูซุปเปอร์แซ่บ ติดต่อ คุณครูละอองแก้ว สุวรรณวงศ์ โทร. (089) 182-5561 คุณครูทัตชญา ระษารักษ์ โทร. (089) 523-6416