กศน.แพร่ สืบสานมรดกแห่งแผ่นดิน ร่วมใจอนุรักษ์ “เรือนมิชชั่นนารี ”อายุ135 ปี

เรือนมิชชั่นนารี เรือนไม้สักโบราณ อายุ135 ปี

จังหวัดแพร่  เป็นหนึ่งในเมืองต้องห้าม…พลาด  เพราะเมืองแพร่มีของดีซ่อนตัวอยู่มากมายให้ค้นหา  ที่นี่ได้ชื่อว่าเป็นประตูเมืองสู่ล้านนาและเป็นเมืองแห่งป่าไม้ โดยเฉพาะไม้สัก  เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เป็นยุคทองของการสร้างบ้านเรือนทรงยุโรปประยุกต์ที่รู้จักกันดีในชื่อ  “ บ้านขนมปังขิง ” ที่เน้นประดับตกแต่งบ้านด้วยลายฉลุ

ทุกวันนี้ชาวเมืองแพร่ยังคงอนุรักษ์ ผลงานสถาปัตยกรรม ที่เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองแพร่ไว้อย่างครบถ้วน  ได้แก่  คุ้มวงศ์บุรี (ถนนคำลือ)  บ้านวิชัยราชา (ถนนสันกลาง)  บ้านหลวงศรี (ถนนเจริญเมือง) คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ (ถนนคุ้มเดิม) และ เรือนมิชชั่นนารี (ถนนยันตรกิจโกศล)

เรือนมิชชั่นนารี  ….มนต์เสน่ห์แห่งเรือนไม้สักโบราณ

“ เรือนมิชชั่นนารี ” เป็นชื่อเรียกบ้านเรือนไม้สักชั้นเดียวยกสูงของมิชชั่นอเมริกาที่เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาที่เมืองแพร่ เมื่อร้อยกว่าปีก่อน เรือนมิชชั่นนารี มีจำนวน 2 หลัง เรือนหลังแรก อยู่ในบริเวณโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน  ส่วนเรือนหลังที่ 2 ปัจจุบันอยู่ในบริเวณสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดแพร่ ( กศน.จังหวัดแพร่ ) ถนนยันตรกิจโกศล

ศาสนาจารย์ดาเนียล แมคกิลวารี
นางโซเฟีย แมคกิลวารี

ปี  2406 ( ค.ศ.1863 ) ศาสนาจารย์แมคกิลวาลี  และศาสนาจารย์โจนาธาน วิลสัน เดินทางมาสำรวจที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก เพื่อหาลู่ทางในการตั้งศูนย์มิชชันเผยแพร่คริสต์ศาสนา แต่การสำรวจครั้งนั้น ยังไม่มีการตั้งศูนย์มิชชันขึ้น เนื่องจากความไม่พร้อมหลายประการ จนกระทั่งปี 2410 ( ค.ศ.1867 ) ครอบครัวของศาสนาจารย์ดาเนียล นางโซเฟีย แมคกิลวารี และบุตรได้เดินทางมาประกาศศาสนาคริสต์ล้านนา ณ จังหวัดแพร่ ในปี 2437 ( ค.ศ.1894 )

ศาสนาจารย์ ดร.พีเพิลพร้อมคณะ ก่อสร้างสถานพยาบาลขนาดเล็กขึ้น เพื่อใช้ตรวจรักษาโรคแก่ผู้ป่วย โดยไม่คิดค่ารักษาพยาบาล ในขณะเดียวกันได้จัดสร้างโรงเรียนสอนหนังสือสำหรับเด็กชาย-หญิงขึ้น (โรงเรียนเจริญราษฎร์ ) และได้สร้างบ้านพักมิชชันนารี จำนวน  2 หลัง และโบสถ์คริสต์ศาสนาสำหรับนมัสการพระเจ้า

ปี 2484 (ค.ศ.1941) เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพญี่ปุ่นยกพลเข้าประเทศไทย รัฐบาลไทยจำเป็นต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น  และประกาศสงครามกับสหรัฐอเมริกา ทำให้แพทย์ชาวอเมริกันต้องอพยพหนีไปสู่ประเทศพม่า โรงพยาบาลอเมริกันถูกยึดเป็นของรัฐบาลไทย  และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงพยาบาลพหลโยธิน ข้าวของของมิชชั่นนารีถูกยึดและทำลาย ทำให้เอกสารสิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินสูญหายไป หลังจากสิ้นสุดสงครามสงบที่ดินของโรงพยาบาล ถูกเรียกคืนเป็นที่ดินของราชพัสดุ

ปี 2532 ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดแพร่ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ในวงเงิน 4,600,000บาทโดยดำเนินการก่อสร้างอาคารในพื้นที่ราชพัสดุจำนวน 12ไร่ 1งาน 3ตารางวา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนเจริญราษฎร์ (เรือนมิชชั่นนารีหลังที่ 2) บริเวณถนนยันตรกิจโกศล ตำบลในเวียง อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โดยกรมการศึกษานอกโรงเรียนได้จ่ายเงินชดเชยค่าที่ดินดังกล่าวแก่โรงเรียนเจริญราษฎร์เป็นวงเงิน 1,500,000 บาท ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวใช้เป็นที่ตั้งของสำนักงาน กศน.จังหวัดแพร่ จนถึงทุกวันนี้

เรือนมิชชั่นนารีระหว่างการซ่อมแซมหลังคา

สำหรับเรือนมิชชั่นนารีหลังที่ 2 ซึ่งอยู่ในความดูแลของ กศน.จังหวัดแพร่ คาดว่า ก่อสร้าง ราวปี 2426 จนถึงปัจจุบันเรือนไม้สักหลังนี้มีอายุถึง 135 ปีแล้ว สภาพทั่วไปของเรือนมิชชั่นนารี เป็นเรือนไม้สักชั้นเดียวใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่วมุงด้วยกระเบื้องว่าว ตกแต่งช่องลมประตูด้วยลายฉลุขนมปังขิง ลูกบิดกลอนประตูเป็นเหล็กหล่อจากยุโรป

เรือนไม้สักหลังนี้มีขนาดใหญ่แบ่งได้เป็น 10 ห้อง และมีห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่ สันนิฐานว่า เป็นห้องนอนลูกชายมิชชั่นนารี ( หรือเป็นห้องลับสำหรับหนีภัยสงคราม ) ถูกออกแบบให้ห้องใต้หลังคามีหน้าต่างบานสูง ทำให้บ้านเย็นเพราะมีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างและรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเรือนมิชชั่นนารีแล้ว เชื่อว่า เป็นการนำความรู้ทางสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตกมาใช้ออกแบบโครงสร้างอาคาร ให้มีรูปแบบแปลกตา สังเกตได้จากการออกแบบห้องใต้หลังคา รวมทั้งบริเวณพื้นไม้ชั้นล่าง ทำโครงสร้างไม้เป็นรูปกากบาท ช่วยรองรับน้ำหนักทำให้ตัวเรือนมีความมั่นคงแข็งแรงมากกว่าบ้านไม้สักทั่วไปอีกด้วย

พื้นไม้ชั้นล่าง ทำโครงสร้างกากบาท ช่วยรองรับน้ำหนักให้ตัวเรือนแข็งแรง

นอกจากนี้  หน้าต่าง ประตู รวมทั้งระยะความสูงของเพดานที่ได้สัดส่วนเหมาะสม เพราะผ่านการคิดคำนวณตามหลักสถาปัตยกรรมของชาติตะวันตก และมีการตกแต่งภายในด้วยอุปกรณ์ก่อสรางที่นำเข้าจากต่างประเทศ เช่น  หน้าต่างเป็นบานไม้ลูกฟักกระจก  ลูกบิดกลอนประตูเป็นเหล็กหล่อจากยุโรป  มีตะขอปรับระดับความกว้างของหน้าต่างได้  และผนังด้านในกรุไม้สักเป็นผนังสองด้านหนาประมาณ 1 ฟุต เพื่อป้องกันอากาศหนาวเย็น

ใช้อุปกรณ์ตะขอจากเมืองนอก ปรับระดับความกว้างของหน้าต่างได้

กศน.จังหวัดแพร่ อนุรักษ์เรือนมิชชันนารี

เรือนมิชชันนารีแห่งนีี้ เป็นสินทรัพย์ที่ติดมากับที่ดินราชพัสดุ เมื่อปี 2553 คุณสนิท  กาญจนประดิษฐ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงาน กศน.จังหวัดแพร่  ได้เข้ามารับตำแหน่งผอ.กศน.จังหวัดแพร่ พบว่า ตัวเรือนมิชชันนารีเก่าทรุดโทรมมาก จึงตั้งใจอนุรักษ์เรือนไม้สักโบราณแห่งนี้ ให้กลายเป็นมรดกของแผ่นดินก่อนที่จะสูญหายไป

ในช่วงนั้นมีพ่อค้าไม้มาติดต่อขอซื้อเรือนไม้สักหลังนี้ในราคา  3 ล้านบาท แต่ท่านไม่ยอมขายเพราะต้องการฟื้นฟูเรือนมิชชันนารีให้เป็นเกียรติประวัติของเมืองแพร่ ท่านได้นำแนวคิดนี้ไปพูดคุยกับคณะครูกศน.ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะทุกคนอยากเก็บรักษาเรือนมิชชันนารีเป็น มรดกตกทอดไปถึงลูกหลาน และสมบัติของแผ่นดินเมืองแพร่สืบต่อไป

ผอ.สนิทได้ติดต่อขอสนับสนุนเงินทุนจาก องค์กรปกครองในท้องถิ่น แต่ได้รับการปฎิเสธ เพราะไม่ได้เป็นเจ้าของทรัพย์สินโดยตรง หากต้องการให้มีการซ่อมแซมเรือนมิชชั่นนารี กศน.จังหวัดแพร่ ต้องทำเรื่องโอนเรือนไม้สักอายุ 135 ปีให้เป็นกรรมสิทธิ์ขององค์กรท้องถิ่นเสียก่อน จึงจะเบิกงบมาซ่อมแซมอาคารได้ เมื่อได้การปฎิเสธจากองค์กรท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ ผอ.สนิทก็ไม่หมดกำลังใจ

ผอ.สนิทตัดสินใจทำโครงการผ้าป่าเพื่อนำเงินบริจาคที่ได้มาใช้ซ่อมแซมเรือนมิชชันนารีแทน ปรากฎว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนทั้งเงินทุนและกำลังใจจากทีมครู กศน. นักศึกษากศน. รวมทั้งภาคเอกชนโดยเฉพาะกลุ่มโรงพิมพ์ต่างๆ และองค์กรต่างประเทศแห่งหนึ่ง ที่ตระหนักถึงคุณค่าของเรือนไม้สักโบราณแห่งนี้ ทำให้สามารถระดมเงินผ้าป่าได้หลายแสนบาทเพียงพอสำหรับใช้ปรับปรุงซ่อมแซมเรือนไม้สักหลังนี้ให้มีสภาพแข็งแรงและสวยงาม

ห้องใต้หลังคาขนาดใหญ่
ผอ.สนิท ชี้ให้ดู “เสาหลาบ” ช่างฝีมือโบราณจะใช้ขวานเหลาไม้สักเป็นเสาทรงสี่เหลี่ยม

สำนักงาน กศน.จังหวัดแพร่ ได้ว่าจ้างช่างรับเหมามาดีดตัวเรือนไม้สักให้สูงขึ้น  และซ่อมแซมหลังคา เสาเรือนและบันไดที่เก่าผุพัง  นอกจากนี้บนที่ดินของสำนักงาาน กศน. จังหวัดแพร่ได้ปลูกต้นสักอายุกว่า  30 ปีไว้จำนวนหนึ่ง จึงโค่นต้นสักบางส่วนนำมาใช้ซ่อมแซมเสาเรือนและบันไดในเรือนไม้สักแห่งนี้

เมื่อทีมช่างไม้ ได้ขุดลึกลงไปใต้ถุนเรือนไม้สักแห่งนี้ ก็เจออิฐเผาแบบโบราณ ผอ.สนิทจึงนำตัวอย่างอิฐโบราณไปให้ช่างฝีมือในท้องถิ่น ใช้เป็นต้นแบบในการผลิตอิฐเผาแบบโบราณขึ้นมาใหม่  เพื่อนำมาปูพื้นใต้ถุนเรือนใหม่อีกครั้ง  กศน.จังหวัดแพร่ได้ปรับปรุงบริเวณใต้ถุนเรือนไม้สักหลังนี้ เป็นมุมอ่านหนังสือ สำหรับนักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วไป

ต่อมาคณะกรรมาธิการสถาปนิกล้านนา สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ พิจารณาตัดสินให้ “ เรือนมิชชันนารี  (กศน.) ” ได้รับรางวัลชมเชย อาคารอนุรักษ์สถาปัตย์กรรมดีเด่น ประเภทอาคารสถาบัน ประจำปี 2555

หากใครผ่านมาจังหวัดแพร่ อย่าลืมหาโอกาสมาแวะเยี่ยมชม เรือนไม้สักโบราณหลังงามแห่งนี้ เชื่อว่า ผู้มาเยือนเรือนมิชชั่นนารี จะรู้สึกประทับใจกับความสวยงามของเรือนไม้สักโบราณหลังนี้ไม่รู้ลืมอย่างแน่นอน