เต่า … สัตว์เลี้ยงแสนรัก

เต่ายูนิฟลอร่า

“เต่า” เป็นหนึ่งในสัตว์เลี้ยงแสนรักของคนไทยหลายเพศหลายวัย บางคนเลี้ยงเต่าเปรียบเสมือนเพื่อนคุยคลายเหงา รู้สึกสบายใจ ชีวิตดีขึ้นมีความสุข ไม่เจ็บไม่ป่วย โรคภัยไม่มี  และบางคนเลี้ยงเต่าเพื่ออนุรักษ์พันธุ์เต่าไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ เป็นมรดกทางธรรมชาติให้เยาวชนรุ่นลูกหลานได้ดู

สายพันธุ์เต่า    

คนไทยนิยมเลี้ยงเต่าหลากหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธุ์ก็มีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป ได้แก่

เต่าดำ (เต่าแก้มขาว) Black Terrapin ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Siebenrockiella crassicollis เต่าดำ จัดเป็นเต่าขนาดเล็ก ยาวประมาณครึ่งฟุต หนักไม่ถึงครึ่งกิโลกรัม ตัวแบนไม่สวย กระดองดำ หัว หาง และขาดำ มีแต้มขาวเหนือตา แก้ม และตามใบหน้าอีกหลายแห่ง กระดองส่วนบนยาวเต็มที่ประมาณ 200 เซนติเมตร

เต่าดำ หรือ เต่ากา หรือ เต่าแก้มขาว

พบการแพร่กระจายพันธุ์เต่าดำในทั่วทุกภาคของประเทศไทย พบมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ นอกจากนี้ ยังพบเต่าดำที่อินเดีย อินโดจีน มาเลเซีย สุมาตรา ชวา บอร์เนียว และฟิลิปินส์ เต่าดำอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดที่ไหลช้าหรือแหล่งน้ำนิ่งบริเวณที่ราบต่ำ เช่น บ่อน้ำ ลำคลอง คูและหนองน้ำ เต่าดำกินอาหารได้ทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ชอบกินหอย กุ้ง ผัก และเมล็ดพืช ช่วงเวลากลางวันเต่าดำมักหมกตัวอยู่ในที่รก ชื้นแฉะ หรือตามโคลนใต้พื้นน้ำจึงเห็นตัวเต่าดำสกปรกเลอะโคลนอยู่เสมอ จะขึ้นบกเวลากลางคืน เพื่อหาทำเลวางไข่ หรือผสมพันธุ์ หรือย้ายที่ทำมาหากิน เต่าดำจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

เต่าจักร Spiny Terrapin ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Heosemys spinosa

เต่าจักร เป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็ก กระดองหลังค่อนข้างแบน เกล็ดกระดองหลังนูนเป็นสันอยู่กลางหลัง เกล็ดที่ขอบกระดองเป็นหนามแหลมรอบตัว คล้ายจักรและจะหายเมื่อโตเต็มวัย จะมีกระดองหลังโดยวัดจากเกล็ดเหนือต้นคอ พาดตามแนวกลางของความยาวกระดองหลังมาจรดที่ปลายเกล็ดเหนือโคนหางยาวประมาณ 20 เซนติเมตร

เต่าจักร

เต่าจักร จัดอยู่ในกลุ่มเต่าน้ำจืด ในประเทศไทยพบเต่าจักรเฉพาะในจังหวัดภาคใต้ และประเทศมาเลเซีย แถบเกาะสุมาตรา และบอร์เนียว อาหารของเต่าจักร ได้แก่ พืช ผลไม้ ลูกไม้และซากสัตว์ เต่าจักรมีการขยายเผ่าพันธุ์ทางธรรมชาติน้อยมาก เต่าจักรจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

เต่าหับ ชื่อวิทยาศาสตร์ Cuora amboinensis

เต่าหับ เป็นเต่าน้ำจืดขนาดเล็ก กระดองหลังโค้งนูน ความยาวของกระดอง 18 เซนติเมตร กระดองท้องมีสันขวางกับลำตัว 1 อัน ทำให้ดูเหมือนกับกระดองท้ายถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน ซึ่งชาวบ้านเรียกแผ่นแต่ละแผ่นที่ถูกแบ่งโดยสันนี้ว่า “หับ” โดยทั่วไปจะมี 2 หับ แต่บางตัวอาจจะมี 3 หับ เกล็ดของกระดองหลังมีสีน้ำตาล กระดองท้องมีเกล็ดสีเหลืองสด ขอบเกล็ดแต่ละอันมีสีดำ ขาทั้ง 4 มีสีเทา ผิวหนังบริเวณลำคอและหางสีขาว มีแถบสีขาวอยู่ที่สันของหัวและคอ

เต่าหับชอบอาศัยอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง กินทั้งพืชน้ำและสัตว์น้ำพวกหอย กุ้ง และลูกปลา เป็นอาหาร เต่าชนิดนี้มีเนื้อน้อย แต่ก็มีชนบางกลุ่มนำมาปรุงเป็นอาหาร เต่าหับจัดอยู่ในกลุ่มสัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 2

เต่าเฮอร์แมน ชื่อวิทยาศาสตร์: Testudo hermanni

เฮอร์แมน เป็นเต่าบกสายพันธุ์พื้นเมืองของทวีปยุโรป แถบประเทศสเปน ฝรั่งเศส หมู่เกาะแบลีแอริก คอร์ซิกาซาร์ดิเนีย ซิซิลี อิตาลี โรมาเนีย บัลแกเรีย แอลเบเนีย กรีซ บอสเนีย และเฮอรเซโกวีนา โครเอเชีย มอนเตเนโก  มีอายุโดยเฉลี่ย 30 ปี

เฮอร์แมนน์เป็นเต่าขนาดเล็ก เต่าที่ีมีขนาดโตเต็มยาวแค่ 28 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 3-4 กิโลกรัม มีลวดลายสีดำและสีเหลือง เมื่อเต่ามีอายุมากขึ้น สีของเต่าจะค่อย ๆ จางลง ตามธรรมชาติระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เต่าเพศเมียจะวางไข่ลึกลงไปใต้ดินประมาณ 10 เซนติเมตร ใช้เวลาฟักไข่นานประมาณ 90 วัน

เต่ารัสเซีย   ชื่อวิทยาศาสตร์: testudo horsfieldii

เต่ารัสเซีย จัดอยู่ในกลุ่มเต่าบกเลี้ยงง่ายที่สุด ทนทุกสภาพอากาศ น่ารักและเชื่อง

เต่ารัสเซีย

เต่า Testudo marginata

เต่า Testudo marginata เป็นสายพันธุ์พื้นเมืองของยุโรป  ขนาดตัวโตเต็มที่ประมาณ 30-35 เซนติเมตร จัดอยู่ในกลุ่มเต่าที่เลี้ยงง่ายเหมือนกับเต่ากรีก เต่าเฮอร์มานี่ ฯลฯ  ลักษณะเด่นของเต่าพันธุ์นี้ คือ  เวลาโตขึ้น ชายกระดองด้านท้ายของมันจะบานออก คล้ายกระโปรง ดูสวยงาม

เต่า Testudo marginata

เต่ากรีก ( testudo graeca )

เต่ากรีก จัดเป็นสัตว์ขนาดเล็ก หายากที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นที่ต้องการของนักเลี้ยงเต่าทั่วโลก เนื่องจากเต่าชนิดนี้ มีลักษณะพิเศษ คือ กระดองเต่ามีลวดลายสี ขาว น้ำตาล ดำ ตัดกันอย่างลงตัว

เต่ากรีก

เต่ารัศมีดารา

เต่ารัศมีดารา หรือ เต่าเรเดียตา หรือเต่าเรดิเอเต็ด ทอร์เทิส (Radiated tortoise) จัดอยู่ในกลุ่มเต่าบกขนาดกลาง เมื่อเต่าโตเต็มที่ มีขนาดประมาณหนึ่งฟุตครึ่ง น้ำหนักประมาณ 35 ปอนด์ เป็นเต่าที่ชอบความเย็นและความชื้นพอสมควร เพราะเติบโตในแหล่งธรรมชาติที่มีฝนตกชุก กินผักและผลไม้เป็นอาหาร เต่าตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้

เต่ารัศมีดารา พบเพียง 2 ชนิด เท่านั้น บนเกาะมาดากัสการ์ เป็นเต่าที่มีกระดองสีสวยมาก  เหมือนแฉกดาว โดยเฉพาะช่วงวัยเล็ก คล้ายกับเต่าในสกุล Geochelone ที่เคยถูกจัดให้อยู่ร่วมสกุลเดียวกันมาก่อน ทว่ามีลวดลายที่ละเอียดกว่ามากเหมือนกับลายของ “ดาว” โดยเฉพาะในตัวที่มีสีเหลืองมาก ถูกเรียกว่า “ไฮเยลโล่” ปัจจุบัน เต่าสายพันธุ์นี้ ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ  จัดอยู่ในสถานะ เต่าอนุรักษ์ ในบัญชีหมายเลข 1 (Appendix I) ของไซเตส

เต่ายูนิฟลอร่า

เต่ายูนิฟลอร่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Geochelone yniphora ถิ่นกำเนิดเกาะมาดากัสการ์ เต่าชนิดนี้จะมีกระดองสูงกลมขึ้นมามากกว่าเต่าชนิดอื่นๆ ตรงขอบด้านข้างของกระดอง มีลายสามเหลี่ยมสีเข้ม ในธรรมชาติเต่ายูนิฟลอร่าจะเลือกกินใบไม้ ตระกูลถั่ว ในสกุลชงโค (Bauhinia) เป็นอาหารหลักถึง 90% ที่เหลืออีกอีก 10% ที่เหลือจะกินหญ้าเป็นอาหาร

เต่ายูนิฟลอร่า เต่าชนิดนี้จัดได้ว่าเป็นเต่าที่หายากที่สุดในโลก อยู่ในทะเบียนแนบท้าย 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศของไซเตส เพราะเป็นสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ คาดว่า มีเต่าชนิดนี้เหลืออยู่ในธรรมชาติไม่ถึง 400 ตัว เนื่องจากกระดองเต่าชนิดนี้มีความสวยงามมาก เต่าขนาดใหญ่มีราคาซื้อขายสูงถึงตัวละ 1-2 ล้านบาท

เต่าอัลลิเกเตอร์

เต่าอัลลิเกเตอร์ หรือ เต่าอัลลิเกเตอร์ สแนปปิ้ง  มีชื่อภาษาอังกฤษ  Alligator snapping turtle ชื่อทางวิทยาศาสตร์: Macrochelys temminckii)  จัดเป็นเต่าน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เต่าอัลลิเกเตอร์ มีส่วนหัวใหญ่ตัน ขากรรไกรรูปร่างเหมือนจะงอยปากและกระดองยาวหนามีสัน 3 สัน แลดูคล้ายหลังของอัลลิเกเตอร์ อันเป็นที่มาของชื่อสามัญ กระดองเต่ามีสีเทาเข้ม หรือน้ำตาล ดำ หรือสีเขียวมะกอก

เต่าอัลลิเกเตอร์

เต่าตัวผู้มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ตัวผู้มีความยาวกระดอง 66 เซนติเมตร และมีน้ำหนักได้ถึง 80 กิโลกรัม เต่าตัวเมียมีน้ำหนัก 23 กิโลกรัม ความแตกต่างระหว่างเพศสามารถดูได้จากความหนาของโคนหาง โดยเต่าตัวผู้จะมีโคนหางที่หนากว่าเพราะเป็นส่วนที่ซ่อนอวัยวะสืบพันธุ์ไว้ เชื่อกันว่า เต่าอัลลิเกเตอร์มีอายุยืนได้ถึง 200 ปี แต่อายุโดยเฉลี่ยในที่เลี้ยง คือ 20-70 ปี เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่ออายุได้ 11-13 ปี โดยจะโตไปได้เรื่อยๆ ตลอดชีวิต ผู้คนจำนวนมากนิยมเลี้ยง เต่าอัลลิเกเตอร์ เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านเรือน และจัดแสดงตามสวนสัตว์

เรื่องเต่าๆ  สารพันปัญหาสัตว์เลี้ยง

หลักการให้อาหารเต่าบก

หลักการให้อาหารแก่เต่าบกกินพืชเช่น เต่าเฮอร์แมน  เต่ารัสเซีย เต่าTestudo marginata เต่ากรีก  ฯลฯ ต้องเลือกอาหารที่มีโปรตีน-ต่ำ ไขมัน-ต่ำ  น้ำมัน-ต่ำ อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุ ไฟเบอร์-(เยื่อใย) สูง และให้น้ำ พอเพียง

ฟักไข่เต่า

อุณหภูมิมีผลต่อการฟักไข่ของสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิด มันมีอิทธิพลต่อการพัฒนาการของตัวอ่อนในไข่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต่า ผลการศึกษาวิจัยพบว่า หากฟักไข่เต่าในอุณหภูมิต่ำกว่า 26 องศาเซลเซียส ตัวอ่อนตาย อุณหภูมิ 26-29.5 องศาเซลเซียส ลูกเต่าทั้งหมดฟักเป็นเพศผู้ ใช้ระยะเวลาฟัก 74-140 วัน  หากฟักในอุณหภูมิ 30-31.5 องศาเซลเซียส ลูกเต่าฟักออกมา มีคละเพศ จำนวนเท่าๆ กัน หากฟักในอุณหภูมิ 32-34 องศาเซลเซียส ลูกเต่าทั้งหมดจะฟักเป็นเพศเมีย โดยใช้ระยะเวลาฟัก 60-75 วัน  หากฟักในอุณหภูมิสูงกว่า 34 องศาเซลเซียส  ลูกเต่าฟักออกมาพิการ ไข่แดงไม่เข้าท้อง หรือตาย ต้องปรับอุณหภูมิฟักให้เหมาะสมสำหรับการฟักไข่เต่าของคุณ

กระดองเต่าเป็นแผล

แผลบนกระดองของเต่า มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราร่วมกันเข้าแล้ว ภาษาฝรั่งเรียกรวมๆ ว่า SCUD ย่อมาจาก Scute Chronic Ulcerative Disease หรือแผลหลุมและการอักเสบเรื้อรังบนกระดอง สามารถช่วยพยาบาลเบื้องต้นด้วยยาเขียว – มาลาไคต์กรีน เป็นยากำจัดพยาธิและเชื้อราภายนอกสำหรับสัตว์น้ำ ส่วนยาดำคือ โพวิโดน ไอโอดีน ยาฆ่าเชื้อใช้ภายนอก เพื่อกำจัดแบคทีเรีย ใช้ได้กับสัตว์แทบทุกชนิดรวมถึงคนเราด้วย

เมื่อต้องการใช้งาน ให้นำ โพวิโดน ไอโอดีน มาละลายน้ำเจือจางในอัตราส่วน 1 ต่อ 1 แล้วฟอกผิวกระดองที่เป็นแผลและมีสิ่งสกปรกอยู่ อาจใช้แปรงสีฟันเล็กๆ ช่วยขัดด้วยก็ได้ จากนั้นล้างน้ำสะอาด ซับให้พอแห้งแล้วใช้ยามาลาไคต์กรีน ละลายน้ำโดยใช้ตัวยา 2 มิลลิกรัม ผสมน้ำ 1 ลิตร เพื่อทาแผลที่พบทำวันละครั้งจนกว่าแผลจะดีขึ้น หรือถ้ายังไม่ดีละก็พาไปพบหมอเต่าจะดีกว่า

ถ่ายพยาธิถึงตาย

สัตว์ในตระกูลเต่าสามารถเกิดการเป็นพิษ เนื่องจากยาถ่ายพยาธิหรือยากำจัดปรสิตบางชนิดได้ ซึ่งมีข้อห้ามมิให้ใช้ยาถ่ายพยาธิกับเต่าทุกชนิดอยู่ 2 ขนาน คือ ยาไอโวเมคติน ที่ขอบใช้ฉีดกำจัดเห็บให้หมากันแพร่หลาย และยาปิเปอร์ราซีน ที่เป็นยาถ่ายพยาธิตัวกลม จำไว้ครับยา 2 ตัว นี้ห้ามใช้กับเต่าทุกพันธุ์

ขอขอบคุณเนื้อหาและภาพประกอบข่าวจาก

https://en.wikipedia.org วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

https://pixabay.com/th