ผู้เขียน | กาญจนา จินตกานท์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปี 2566 จะเป็นปีทองทุเรียนปีที่ 8 ด้วยการเปิดฤดูกาลทุเรียนด้วยราคาที่รุนแรง กระดุมกิโลกรัมละ 310-320 บาท ชะนี 180-190 บาท หมอนทอง 200-220 บาท ปี 2566 ทุเรียนภาคตะวันออกจะมีปริมาณ 756,465 ตัน เป็นของจันทบุรี 507,901 ตัน ระยอง 158,137 ตัน ตราด 90,427 ตัน
จากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ปลูกและพื้นที่ให้ผล ท่ามกลางกระแสการบริโภคทุเรียนทั้งในและต่างประเทศ (จีน) ที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ปริมาณความต้องการของจีนยังคงสูงและหมอนทองยังคงครองตลาดได้มากที่สุด ขณะเดียวกัน พฤติกรรมการบริโภคทุเรียนของจีนเริ่มมองหา “ทุเรียนเบญจพรรณ” ที่มีความต่างและรสชาติอร่อยเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับตลาดบริโภคคนไทย ทำให้ตลาดทุเรียนเบญจพรรณเติบโตและมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จังหวัดตราดที่ได้ชื่อว่าทุเรียนสุกก่อนที่อื่น ปีนี้ชาวจีนบุกซื้อถึงสวนรับซื้อไม่อั้น
“สวนทุเรียนหลงบูรพา” เริ่มสายพันธุ์หลัก สู่ทุเรียนเบญจพรรณ
คุณกรีฑา งาเจือ หรือ เฟิร์น และ คุณณัฐวรรณ์ แปลงดี หรือ น้องหนู เจ้าของสวน “หลงบูรพา” เลขที่ 30 หมู่ที่ 5 ตำบลอ่าวใหญ่ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด คุณกรีฑา เล่าว่า สวนทุเรียนทำต่อจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อ เดิมเป็นพันธุ์ชะนี และเมื่อมารับช่วงต่อจากพ่อ-แม่ ได้ปลูกสายพันธุ์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ก้านยาว หมอนทอง และได้ขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนออกไปอีก 6-7 แปลง โดยตั้งชื่อว่า “สวนหลงบูรพา” แต่ละแปลงจะมีทั้งปลูกสายพันธุ์หลัก กระดุม พวงมณี ชะนี หมอนทอง และระยะหลังได้ทดลองนำพันธุ์ใหม่ๆ ที่ได้ความนิยม และพันธุ์โบราณของไทยที่ชิมดูแล้วชอบมาปลูก ที่ได้ผลแล้ว คือ หลงลับแล เม็ดในยายปราง (นกกระจิบ) นวลทองจันทร์ ดาวกระจาย กบพิกุล กบสุวรรณ รวมทั้งพันธุ์ลูกผสม จันทบุรี 2 มาจากชะนีและพวงมณี และพันธุ์ของเพื่อนบ้านที่ได้รับความนิยม มูซานคิง หนามดำ (โอฉี่) คาดว่าจะทยอยให้ผลเรื่อยๆ ใน 1-2 ปีนี้
จากที่ตั้งของสวนหลงบูรพาขนาด 40 ไร่เศษ แปลงที่ ตำบลอ่าวใหญ่ และตำบลอ่าวช่อ อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด อยู่ในภูมิศาสตร์ที่อยู่ติดทะเลมีลมพัดเข้าถึง 2 ด้าน พื้นดินเป็นดินปนทราย เป็นความเหมาะสมของดินและอากาศทำให้ทุเรียนที่นี่ออกเร็วกว่าที่อื่น 15-20 วัน และหากมีการทำสารเร่งสุกจะเร็วกว่า 20-30 วัน ปีนี้เริ่มแก่ตัดได้เดือนกุมภาพันธ์ และตัดทั้งหมดสิ้นทุกแปลงเดือนมีนาคม ในขณะที่ทุเรียนทั่วไปเพิ่งจะเริ่มออกกลางมีนาคมและมีปริมาณมากช่วงกลางเดือนเมษายน ทำให้ได้ราคาสูง เช่น กระดุม กิโลกรัมละ 300-310 บาท ชะนี 180-190 บาท หมอนทอง 200-220 บาท ในขณะที่เมื่อเริ่มฤดูกาลทั่วไป กระดุมจะราคากิโลกรัมละ 250-270 ชะนี 170-180 บาท หมอนทอง 200-220 บาท โดยการขายจะมีพ่อค้าขาประจำมาเหมาซื้อในสวน โดยที่เราผู้ขายจะเป็นคนกำหนดราคาเอง พ่อค้าพอใจจะซื้อที่ผ่านมาเป็นพ่อค้าประจำที่รับซื้อทั้งหมด ในขณะที่ทุเรียนเบญจพรรณเปิดตลาดออนไลน์ลูกค้าจองหมดไม่เพียงพอกับตลาด
เบญจพรรณ ขายออนไลน์ จีนบุกซื้อถึงสวน
คุณณัฐวรรณ์ เล่าว่า ทุเรียนเบญจพรรณจะทยอยออกมา 7-8 ปีแล้ว แรกๆ มีปริมาณไม่มากนักจะทำออนไลน์เอง โดยการโพสต์เฟซบุ๊กและให้ลูกค้าสั่งจองเข้ามา ก่อนที่จะมีผลผลิตออก เมื่อมีคนรู้จักมากขึ้นจะมีพ่อค้าออนไลน์เข้ามาเหมาซื้อประจำเพื่อไปขายลูกค้าออนไลน์ต่อ ตลาดทุเรียนเบญจพรรณเติบโตดี เพราะเป็นทุเรียนที่หายาก รสชาติอร่อยต่างจากทุเรียนพันธุ์หลัก และที่นี่จะตัดทุเรียนแก่จัดสุก 100% ไม่เกิน 2-3 วันสุกทานได้ ที่ทำตลาดไปแล้ว มีหลงลับแล หลินลับแล พวงมณี เม็ดในยายปราง กบสุวรรณ กบชายน้ำ และปีนี้เป็นปีแรกที่ปริมาณมาก 1,000-2,000 ตัน มีนายหน้าพาชาวจีนมาติดต่อขอซื้อเหมาส่งเครื่องบินไปขายตามห้าง กลุ่มเป้าเหมายเป็นกลุ่มพรีเมี่ยม ชอบลูกเล็กขนาดลูกละ 2-2.5 กิโลกรัม
ช่วงเวลาที่ให้ผลผลิตออกเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม หลังตัดกระดุมปลายเดือนกุมภาพันธ์จะมีเม็ดในยายปราง ดาวกระจาย สาลิกา ต่อจากนั้นกลางเดือนมีนาคมจะเป็นหลงลับแล กบสุวรรณ กบพิกุล ทุเรียนเบญจพรรณมีความอร่อย ความพิเศษต่างไปจากหมอนทอง อย่างหลงลับแลที่นี่ลูกเล็กกว่าทางจังหวัดอุตรดิตถ์แต่มีกลิ่นหอม เม็ดในยายปรางลักษณะเนื้อแห้งเหลืองสวย เนื้อเยอะเนื้อละเอียดเนียนเหนียว เม็ดลีบรสชาติหวานมัน มีกลิ่นหอมละมุนอ่อนๆ ช่วงฝนแล้งทำให้เนื้อทุเรียนแห้ง ทุเรียนเบญจพรรณลูกเล็กเมื่อก่อนอาจจะถูกปัดเป็นทุเรียนตกไซซ์จริงๆ สวนหลงบูรพาตัดแก่จัดสุก 100% ไม่เกิน 2-3 วันสุก ทำให้น้ำหนักหายไปมาก จึงกำหนดราคาสูงกว่าการซื้อเหมาของพ่อค้าที่ส่งออก
“ความนิยมทุเรียนเบญจพรรณ นอกจากหมอนทอง ปี 2566 ตลาดจีนต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจ เข้ามาหาซื้อในสวน ที่สวนหลงบูรพา เราจะกำหนดราคาขายทุเรียนทุกพันธุ์เองโดยราคาทุเรียนเบญจพรรณไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 300 บาท ถ้าผู้ซื้อหรือพ่อค้าพอใจ จะตกลงซื้อขายกัน แต่บางครั้งการขายเหมาจำนวนมาก อาจจะราคากิโลกรัมละ 250-300 บาท เพราะตัดแก่ 70-80% ตลาดออนไลน์ในประเทศกิโลกรัมละ 300-350 บาท ตอนนี้หลงลับและตัดปลายๆ เดือนมีนาคมนี้ลูกค้าประจำจองออร์เดอร์เกือบหมดแล้ว ทุเรียนเบญจพรรณทุกปีไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า เพราะมีลูกค้าประจำที่ซื้อไปขายออนไลน์ลูกค้าเดิมๆ สั่งประจำทุกปี และลูกค้าใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น” คุณณัฐวรรณ กล่าว
แนวโน้มทุเรียนไทยในอนาคต
คุณกรีฑาให้ความเห็นว่า ในอนาคต 4-5 ปีทุเรียนหมอนทองจะเป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไป จำนวนมาก (Mass Market ) และถูกกำหนดด้วยพ่อค้าคนกลาง ขนาด รูปทรง จำนวนพูเต็ม แบ่งเกรดละเอียด A/ B/ C/ D อาจจะไปถึง Z ความลำบากอยู่ที่ชาวสวน ในขณะที่การดูแลยากมีโรคมาก ป่วยง่าย ยิ่งต้นอายุน้อย ลูกจะใหญ่มากลูกละ 6-7 กิโลกรัม หากดูแล บำรุงไม่ทั่วถึงจะตายง่าย และยังมีภัยลมพายุที่ต้องโยง ค้ำกิ่ง เต้าลูกที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง และโรคที่เกิดขึ้นกันทั่วไปคือ ไฟทอปธอร่า (Phytopthora) หรือรากเน่าโคนเน่า และโรคใหม่ตอนนี้คือ เชื้อราฟิวซาเรียม โซลาไน (Fusarium solani) ที่ทำให้ความต้านทานโรคของทุเรียนน้อยลง ขณะที่เบญจพรรณเน้นเนื้อเป็นหลัก ไม่ติดด้วยรูปทรงหรือพูต้องเต็ม เป็นทุเรียนพื้นถิ่นดูแลง่าย ทนทานต่อโรค แข็งแรงลดการใช้ยา ไว้ลูกได้มาก ลูกมีขนาดเล็ก เนื้อมาก เปลือกบาง เม็ดลีบ รสชาติมีเอกลักษณ์ เรากำหนดราคาเองได้ ไม่ถูกหนดสเปกจากพ่อค้า และผลผลิตออกก่อนเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และยังมีผู้ปลูกน้อยในขณะที่ตลาดเติบโตขึ้น
“วงจรทุเรียนไทยช่วงนี้เติบโตเต็มที่ สายพันธุ์หมอนทองขึ้นสูงสุด ราคาทรง ตลาดอิ่มตัว ทำอย่างไรให้ทุเรียนพุ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ไม่ตกลงเหมือนระฆัง การปลูกทุเรียนเบญจพรรณน่าจะเป็นตลาดรองรับทุเรียนทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ พ่อค้า-แม่ค้าชาวจีนที่เข้ามาซื้อทุเรียนเบญจพรรณ เป็นเจนใหม่ หนุ่มสาว มาศึกษาเรียนรู้ ท่องเที่ยว และต้องการนำไปทำตลาดออนไลน์กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ในจีน แต่ต้องมีปริมาณที่มากพอ 1,000-2,000 ตันขึ้นไป เพราะต้องเช่าเหมาลำเครื่องบิน ตัดแก่ได้ 100% เพราะขนส่งรวดเร็ววันเดียวถึง
เพื่ออนาคตของอาชีพและความยั่งยืนทุเรียนไทย ชาวสวนคงจะต้องปรับตัวจากเกษตรกรเป็น “ธุรกิจการเกษตร” เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของตลาด สนใจสอบถามสวนหลงบูรพา โทร. 099-634-8833