สวนยางพัทลุงโวย อปท. ไร้งบทำถนนพาราซีเมนต์

ชาวสวนยางพัทลุงโวยนโยบายรัฐอุ้มสวนยางไร้ผล เหตุ อปท. บางพื้นที่ ไม่มีงบประมาณลุยทำ “ถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์” ส่งผลราคาน้ำยางสดไม่ขยับ

นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สวนยางพาราส่วนใหญ่เข้าสู่ฤดูกาลผลัดใบ ชาวสวนยางพาราจังหวัดต่างๆ จะเริ่มทยอยหยุดกรีด ยกเว้นที่ จ.พัทลุง ยังสามารถกรีดได้ 1-2 เดือน ส่งผลให้ปริมาณยางพาราจะเริ่มหดหายไปจากตลาด แต่ราคาน้ำยางสดกลับไม่ขยับขึ้นมากนัก โดยภาวะราคาน้ำยางสดไม่สมดุลกับยางแผ่นรมควัน เช่น ยางพารารมควัน ราคา 44 บาทเศษ/กก. ขณะที่น้ำยางสดอยู่ที่ 41 บาท/กก. ทั้งที่การผลิตยางแผ่นรมควันมีต้นทุนการผลิตประมาณ 5-7 บาท/กก.

“ปัจจัยสำคัญที่จะดันให้ราคาเคลื่อนไหวได้ คือ นโยบายโครงการถนนยางพารา 1 หมู่บ้าน 1 กม. โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำน้ำยางพาราไปสร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ 7.5 หมื่นหมู่บ้าน วงเงินรวม 9.23 หมื่นล้านบาทนั้น จนถึงตอนนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมาย เพราะ อปท. เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด บางแห่งมีงบประมาณ แต่บางแห่งไม่มีงบประมาณ ดังนั้น การจะแก้ปัญหาให้ได้ผล รัฐบาลต้องมีงบประมาณชัดเจนในการทำโครงการ เหมือนกับโครงการต่างๆ ที่รัฐบาลส่งตรงถึงประชาชน เช่น โครงการสร้างอาชีพ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน หมู่บ้านละ 200,000-300,000 บาท เป็นต้น

นายไพรัช กล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางยางพารา ในปี 2562 ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น หลังการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562 ต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ต่อยอดขยายผลนโยบายนำยางพารามาทำถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ 1 หมู่บ้าน ถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ 1 กิโลเมตร โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณโดยตรงแล้วส่งผ่าน อปท. แต่ละแห่งลงมา พร้อมระบุให้ชัดเจนว่า สร้างถนนยางพาราซอยล์ซีเมนต์ เพื่อดันราคายางพาราให้ขยับขึ้น ทั้งนี้ ราคายางพาราตามเป้าหมายอยู่ในเกณฑ์ที่กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี ราคาประมาณ 65 บาท/กก.

“เมื่องบประมาณถึงโดยตรง ทำถนนได้ทันที ราคายางพาราจะปรับขึ้น เพราะยางพาราจะไม่ออกตลาด มีผลต่อตลาดทันที พ่อค้าจะต้องหาซื้อแข่งขันกัน เพื่อส่งมอบตามสัญญา”

นายชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ในกลุ่มตน ในฐานะผู้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพารา ทั้งหมอน แผ่นรองพื้น ทำสนามฟุตซอล ฯลฯ โดยเฉพาะสนามฟุตซอล ได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยมีคำสั่งซื้อมาจากต่างจังหวัดทางภาคอื่นๆ เป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จากงานที่เข้ามาปริมาณมาก ต้องยกเลิกการแปรรูปผลิตบางยาง เช่น รองเท้าแตะจากยางพารา คู่ละ 299 บาท ไว้ก่อน ทั้งที่ผลิตภัณฑ์มียอดจำหน่ายที่พอไปได้ เพราะขณะนี้รองเท้าจากยางพารารูปแบบต่างๆ ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์