เผยแพร่ |
---|
นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า 21 กันยายน 2566 เป็นวันสถาปนา “กรมประมง” ครบรอบปีที่ 97 ซึ่งตลอดระยะเวลาเกือบศตวรรษที่ผ่านมา กรมประมงได้มุ่งมั่นพัฒนาภาคการประมงของประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ทั้งด้านการผลิตการแปรรูป และการตลาดให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามระบบสากลอย่างครบวงจร รองรับต่อความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับเกษตรกรและชาวประมงอย่างยั่งยืน โดยกรมประมงได้ตั้งแผนในการปฏิบัติราชการ เป็นระยะเวลา 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2566-2570 ภายใต้วิสัยทัศน์ “ยกระดับการประมงไทย ให้แข่งขันได้โดยใช้ทรัพยากรอย่างสมดุล พร้อมผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมที่สร้างความมั่งคั่งแก่เกษตรกร” ซึ่งมุ่งเน้นการต่อยอดจากแผนการพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ควบคู่กับนโยบายด้านการเกษตร 3 ด้าน คือ “ความปลอดภัยของอาหาร ความมั่นคงของภาคการเกษตรและอาหาร และความยั่งยืนของภาคการเกษตรตามแนวคิด” “Safety, Security & Sustainability for Resilience Agriculture” ครอบคลุม 5 กลยุทธ์ สร้าง เสริม เพิ่ม ยก และพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของเกษตรกรและชาวประมง โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อน ดังนี้
- สร้าง มุ่งเน้นบริหารจัดการทรัพยากรให้ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า
- เสริม ความมั่งคั่งให้เกษตรกรสู่เกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เพิ่มทั้งผลผลิตและมูลค่า เพื่อเพิ่มรายได้จากการประกอบอาชีพ
- เพิ่ม ความสามารถในการแข่งขันด้วยสินค้าดี มีคุณภาพ ปลอดภัย และหลากหลาย ส่งเสริมผู้ประกอบการและเกษตรกรให้ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าประมง
- ยก ระดับงานวิจัยและพัฒนาให้มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาตามความต้องการของภาคการเกษตรและประมง เพื่อตอบสนองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model)
- พัฒนา ศักยภาพของบุคลากรสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ และพัฒนางานด้านการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) เพื่อเชื่อมโยงสู่ระบบการให้บริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (National Single Window : NSW) โดยผลการดำเนินงาน ที่ผ่านมาได้ปรากฏเป็นความสำเร็จที่ช่วยในการพัฒนา ส่งเสริมศักยภาพให้กับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ชาวประมง จนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2566 มีเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพ ดังนี้
นายธนันชัย เอกเผ่าพันธุ์ เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด ประจำปี 2566 เล่าว่า
ได้ทำการเลี้ยงปลานิล อยู่ที่จังหวัดนครปฐม มีประสบการณ์เลี้ยงปลาน้ำจืดมายาวนานกว่า 10 ปี เดิมเคยประสบปัญหาอย่างหนัก เนื่องจากปลานิลที่เลี้ยงมีขนาดตัวที่ไม่ได้มาตรฐาน อีกทั้งเจอกับปัญหาปลานิล
ล้นตลาด จึงได้เริ่มศึกษาหาความรู้ เพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา มีการได้ปรับปรุงบ่อและวิธีการเลี้ยง มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มผลผลิต ต่อมาได้มีการนำ “ระบบการเลี้ยงปลาในกระชังในบ่อดินระบบปิดแบบน้ำไหลผ่าน (Modified IPRS)” ซึ่งจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูงในการจัดทำระบบมาปรับปรุงให้มีความเหมาะสมและใช้ต้นทุนการจัดทำระบบที่ประหยัดขึ้น ถึงแม้จะประสบปัญหาขาดทุนหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่ได้ย่อท้อ ยังคงคิดหาวิธีปรับปรุงแก้ไขอยู่ตลอดเวลา โดยยึดหลักการทำงาน “กล้าคิด กล้าทำ กล้าพัฒนาเพื่อผู้บริโภค และรักษาสิ่งแวดล้อม” จนทำให้ประสบความสำเร็จในทุกวันนี้
นายสุชาติ ศรีประสม เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกร่อย ประจำปี 2566 กล่าวว่า จากประสบการณ์การเลี้ยงกุ้งที่สั่งสมมามากกว่า 30 ปี จำหน่ายกุ้งส่งออกทั้งในและต่างประเทศ ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ได้ผ่านอุปสรรคต่างๆ มามากมาย ทำให้มีความรู้และความเข้าใจในการจัดระบบการเลี้ยงกุ้งได้เป็นอย่างดี สามารถวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ และแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ในการประกอบอาชีพโรงเพาะฟัก อนุบาล และผลิตกุ้งขาวแวนนาไม ยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ ทั้งด้านการกำกับดูแลฟาร์มให้เป็นไปตามมาตรฐานฟาร์ม การให้ความสำคัญด้านความสะอาดและสุขอนามัย การทำบัญชีฟาร์ม การสร้างบุคลากรให้มีคุณภาพ มีการปฏิบัติตามแนวทางการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี (Good Labor Practices : GLP) การปกครองที่ดีและการให้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม มีความชื่อสัตย์สุจริตต่อตนเองและผู้อื่น และต้องมีคุณธรรมในการประกอบอาชีพ อดทนพากเพียรใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตและประกอบอาชีพ พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงในทุกสถานการณ์ ควบคู่กับการรักษามาตรฐานการส่งออกผลผลิตให้มีคุณภาพ สู่การนำมาซึ่งรายได้จากกลุ่มลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
นายปกรณ์ วงศ์มโนพณิช เกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงาม ประจำปี 2566
อีกหนึ่งผู้ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม “ปลาคาร์พ” มานานกว่า 10 ปี ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี โดยนำเข้าปลาคาร์พสายพันธุ์คุณภาพจากประเทศญี่ปุ่น และเน้นการเลี้ยงด้วยระบบบ่อกรอง ซึ่งได้รับรางวัลจากการประกวดทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นฟาร์มที่ได้รับมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP), สถานที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำสวยงามเพื่อการส่งออก (สอ.3) ที่ได้รับการรับรองปลอดโรคตามองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (WOAH) และสถานกักกันโรคที่ได้รับการรับรอง โดยมีการนำภูมิปัญญาและนวัตกรรมมาใช้ในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เช่น การนำสมุนไพรและจุลินทรีย์มาใช้เพื่อลดการใช้ยาและเคมี มีพัฒนาสูตรอาหารเร่งสีสำหรับใช้ในฟาร์มและจำหน่าย นำโซลาร์เซลล์ที่เป็นพลังงานสะอาดมาใช้ในฟาร์มลดการใช้พลังงานไฟฟ้าและน้ำมัน นำวัสดุเหลือใช้มาทำวัสดุจากอิฐมวลเบาเพื่อใช้ในระบบกรองน้ำแทนหินภูเขาไฟที่มีราคาแพงและต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เป็นต้น โดยธุรกิจการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามสามารถสร้างรายได้หลักให้ครอบครัวอย่างต่อเนื่อง มูลค่าไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทต่อปี
จากความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำงานภายใต้การบูรณาการของทุกภาคส่วน ทำให้ภาคการประมงของประเทศสามารถการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565
ที่ผ่านมา ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ภาคการประมงสูงถึง 130,000 ล้านบาท ซึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 และยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นในปี 2566 อีกด้วย
อธิบดีกรมประมงกล่าวปิดท้ายว่า ในโอกาสที่จะก้าวสู่ศตวรรษใหม่ในไม่ช้านี้ กรมประมงจะยังคงยืนหยัดเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนการพัฒนาภาคการประมงของไทยอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและะสหกรณ์ โดยเน้นส่งเสริมสินค้าตามความต้องการของตลาด พร้อมนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในทุกกระบวนการเพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่า ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพและเพิ่มโอกาสทางการแข่งขันให้กับสินค้าประมงไทยในระดับสากล โดยยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้พี่น้องชาวประมง เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ สามารถประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง และพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนสืบไป