ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนาที่นครสวรรค์สำเร็จ 4 เดือน ขาย ได้ราคา กำไรกว่าทำนาปรัง

เมื่อเร็วๆ นี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดงานวันรณรงค์และเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนาขึ้น ณ แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านใหม่สามัคคี หมู่ที่ 5 ตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ โดยมี นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานพร้อมทั้งเยี่ยมชมแปลงปลูกข้าวโพดของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้เป็นอย่างดี

นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร

ทั้งนี้ นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า ในพื้นที่การเก็บเกี่ยวส่วนใหญ่เกษตรกรจะใช้เครื่องเก็บเกี่ยว เพราะเป็นแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการสานพลังประชารัฐปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมีการสาธิตการไถกลบตอซังข้าวโพดเพื่อให้เป็นปุ๋ยสำหรับการปลูกพืชในฤดูการต่อไป

สำหรับเกษตรกรในอำเภอลาดยาว และอำเภอใกล้เคียงได้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 280 ราย มีพื้นที่เพาะปลูกรวมกว่า 9,000 ไร่ ขณะนี้เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้วประมาณ 1,947 ตัน มูลค่า 13,786,524 บาท โดยมีสหกรณ์การเกษตรศาลเจ้าไก่ต่อ จำกัด รับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด และส่งต่อให้บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งราคาขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 9.30 บาท

โดยที่เกษตรกรมีต้นทุนในการผลิตเฉลี่ยที่ 5,660 บาท ต่อไร่ และสหกรณ์จะรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกรที่ระดับความชื้น 27-30% ในราคา 6.70-6.80 บาท ต่อกิโลกรัม เกษตรกรจะมีรายได้จากการขายข้าวโพดเฉลี่ยอยู่ที่  8,040 บาท ต่อไร่ และเมื่อหักต้นทุนแล้วจะมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 2,380 บาท คาดว่าจะมีการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมดภายในเดือนพฤษภาคม 2562 นี้ มีผลผลิตรวมปริมาณ 10,700 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 75 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการที่วางไว้ ทั้งเรื่องปริมาณผลผลิตต่อไร่ คุณภาพของข้าวโพด และราคาที่รับซื้อจากเกษตรกร

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานวันรณรงค์และเก็บเกี่ยวข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ฤดูแล้งหลังนา ณ แปลงปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บ้านใหม่สามัคคี หมู่ที่ 5 ตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์

“พื้นที่ตรงนี้ตามที่เกษตรกรรายงานว่าในช่วงที่ต้นข้าวโพดเริ่มเจริญเติบโตได้เกิดหนอนกระทู้ระบาดทำให้ผลผลิตเสียหายไปส่วนหนึ่งแต่เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยวพบว่าเกษตรกรยังมีผลผลิตที่มีกำไรและเป็นกำไรที่ดีกว่าการทำนาปรัง เกษตรกรก็ยังพอใจที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาต่อไป ส่วนในเรื่องการบริหารจัดการศัตรูพืชกรมส่งเสริมการเกษตรจะดำเนินการหาแนวทางเพื่อป้องกันสำหรับฤดูการเพาะปลูกต่อไป โดนเน้นไม่ใช้สารเคมีแต่จะสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์ และการนำแมลงที่เป็นศัตรูของแมลงศัตรูพืชมาปล่อยให้มากขึ้น โดยจะระดมกำลังเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนของกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตรเข้ามาทำงานร่วมกันกับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งครั้งนี้หากลดการระบาดของหนอนกระทู้ได้ก็ย่อมเพิ่มกำไรให้กับเกษตรกรได้มากขึ้น” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าว

ทางด้าน นายเชือก คำนึก  เกษตรกรตำบลศาลเจ้าไก่ต่อ อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรรค์ ที่เข้าร่วมโครงการฯ โดยใช้พื้นที่ 70 กว่าไร่ในการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กล่าวว่า เดิมตนใช้พื้นที่ทำนาปรัง เมื่อมีเจ้าหน้าที่จากกรมส่งเสริมการเกษตรมาแนะนำให้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แทนจึงเข้าร่วมโครงการฯ ในระหว่างการปลูกก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาดูแลและแนะนำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้ง 4 เดือน ที่ปลูก ทำให้อุ่นใจมากยิ่งขึ้น และเมื่อถึงวันเก็บเกี่ยวพบว่าขายได้ราคาดี มีกำไรมากกว่าทำนาปรังครึ่งต่อครึ่ง ขณะที่ต้นทุนการเพาะปลูกก็น้อยกว่าด้วย

นายเชือก คำนึก

“4 เดือน ที่ปลูกตั้งแต่เตรียมดินหยอดเมล็ดพันธุ์ จนถึงวันเก็บเกี่ยวให้น้ำในแปลงปลูกเพียง 4 ครั้ง เท่านั้น ซึ่งเมื่อเทียบกับนาข้าวแล้วแตกต่างกันมาก ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ใช้น้ำน้อยกว่า และในการเก็บเกี่ยวครั้งนี้ก็จะไถกลบตอซังข้าวโพดด้วยเพื่อให้เป็นปุ๋ยสำหรับการปลูกข้าวในช่วงต่อไป ทำให้ประหยัดการใช้ปุ๋ยเป็นการลดต้นทุนได้มากอีกด้วย และข้าวโพดที่ปลูกกำลังจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว โดยสังเกตลำต้นข้าวโพดซึ่งใบจะแห้งมีสีน้ำตาล ฝักแก่จัดเปลือกหุ้มฝักเริ่มมีสีฟาง และจะปล่อยข้าวโพดทิ้งไว้ในแปลงให้แห้งดีเสียก่อน เพื่อทุ่นเวลาในการตาก และสะดวกในการเก็บรักษา สำหรับพื้นที่ปลูก 70 ไร่ ก็จะใช้รถเกี่ยวทั้งหมดคาดว่าจะได้ผลผลิตไม่น้อยกว่าไร่ละ 1,300 กิโลกรัม หรือ 1 ตันกว่าๆ รวมแล้วไม่น่าจะน้อยกว่า 90 กว่าตัน ขายตันละ 10,400 บาท เป็นอย่างน้อย หากความชื้นน้อยก็จะอยู่ที่ราคา 10,700 บาท ต่อตัน รวมแล้วอย่างน้อยจะได้รายได้ไม่น้อยกว่า 963,000 บาท” นายเชือก กล่าว

สำหรับจังหวัดนครสวรรค์ได้ดำเนินโครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนาปีการผลิต 2561/62 ทั้งหมด 14 อำเภอ พื้นที่ 69,767 ไร่ เกษตรกร จำนวน 3,870 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2560/61 จำนวน 13,409 ไร่ หรือร้อยละ 23.8 สำหรับในปีการผลิต 2561/62 คาดว่าจะได้ผลผลิตรวม 84,627.4 ตัน คิดเป็นมูลค่า 590.7 ล้านบาท

โดยจังหวัดนครสวรรค์ได้ดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างครบถ้วนตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และแนวทางของกรมส่งเสริมการเกษตร ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์โครงการให้แก่เกษตรกรที่สนใจเข้าร่วมโครงการ การรับสมัครเกษตรกร การจัดทำแปลงเรียนรู้ ตลอดจนการถ่ายทอดความรู้ให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่การปลูก การดูแลรักษา จนถึงขั้นตอนการเก็บเกี่ยว