กรมการข้าวลงพื้นที่ร้อยเอ็ดตรวจสอบคุณภาพข้าวทั้งระบบ หวังยกระดับข้าวไทยเติบโตมั่นคงยั่งยืน

นายประสงค์ ประไพตระกูล อธิบดีกรมการข้าว เปิดเผยว่า กรมการข้าวให้ความสำคัญในเรื่องการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร สร้างความปลอดภัยและความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ซึ่งกว่าจะเป็นสินค้าข้าวสารที่ได้รับเครื่องหมาย Q การันตีคุณภาพจะต้องผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าว ดังนี้

1.มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าว (GAP Seed) เริ่มจากเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ทราบแหล่งที่มาที่เชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP Seed หรือเมล็ดพันธุ์ข้าว ของกรมการข้าว หรือเมล็ดพันธุ์ที่ตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 และที่แก้ไข เพิ่มเติม

2.มาตรฐานข้าว GAP หรือมาตรฐานข้าวอินทรีย์ เกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร/ผู้ขอการรับรอง ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมการข้าวและตามมาตรฐานข้าว GAP หรือมาตรฐานข้าวอินทรีย์ รวมทั้งยินยอมให้ผู้ตรวจประเมินของกรมการข้าวเข้าตรวจประเมินและสุ่มเก็บตัวอย่างเพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพข้าวหรือสารตกค้าง เมื่อผ่านการตรวจประเมินจะได้รับใบรับรองตามมาตรฐานนั้นๆ

3.มาตรฐานโรงสีข้าว GMP ผู้ประกอบการแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมการข้าวและตามมาตรฐานโรงสีข้าว GMP และต้องผ่านการตรวจประเมินจึงจะได้รับใบรับรองตามมาตรฐานโรงสีข้าว GMP

4.มาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว ผู้ประกอบการคัดบรรจุข้าวสาร ยื่นคำร้องขอการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวขึ้นอยู่กับประเภทสินค้าข้าว และยินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมการข้าวและตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวแต่ละประเภท พร้อมทั้งให้ผู้ตรวจประเมินของกรมการข้าวเข้าตรวจประเมินและสุ่มเก็บตัวอย่างข้าวเพื่อนำมาวิเคราะห์คุณภาพข้าวหรือสารตกค้าง เมื่อผ่านการตรวจประเมินจะได้รับใบรับรองตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวประเภทนั้นๆ

ซึ่งมาตรฐานผลิตภัณฑ์สินค้าข้าวมีอยู่ด้วยกัน 5 ประเภท ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย ข้าวไทย ข้าวสีไทย และข้าวกล้องงอก โดยยื่นขอการรับรองกับกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว เมื่อได้รับการรับรองแล้วสามารถยื่นขออนุญาตใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ ซึ่งอนุญาตให้ใช้แสดงคู่กับเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Q ในข้าว 12 พันธุ์ คือ กข6 กข15 กข21 กข43 กข59 ปทุมธานี 1 พิษณุโลก 80 ขาวดอกมะลิ 105 ทับทิมชุมแพ สังข์หยด มะลินิลสุรินทร์ และข้าวเหนียวลืมผัว

ระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานข้าวของกรมการข้าว (Rice Certification System : Rice Cert.) เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมการข้าว ที่ใช้สำหรับการตรวจประเมินและรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้าวทั้งระบบการผลิต ภายใต้การให้บริการ Government Cloud Service (G-cloud) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) หลักการตรวจ ประเมินและให้การรับรองจะยึดตามมาตรฐานสากล ISO/IEC 17065 สำหรับมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับข้าวที่ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลภายใต้ระบบ Rice Cert. ประกอบด้วย การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวหอมมะลิไทย และการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว (ข้าว GAP) เกษตรอินทรีย์ ตาม มกษ.9000 (ข้าว ORG) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับเมล็ดพันธุ์ข้าว ตาม มกษ.4406 (GAP Seed) การปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงสีข้าว ตาม มกษ.4403 (โรงสีข้าว GMP) ผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว (Q) ทั้งนี้ เพื่อรองรับการให้บริการแก่หน่วยรับรอง (Certification Body : CB) และหน่วยตรวจ (Inspection Body : IB) ซึ่งเป็นเอกชนหรือมหาวิทยาลัยที่เป็น CB/IB ที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ผ่านระบบ Platform as a service (Paas) ในการใช้ระบบตรวจประเมินตามมาตรฐานข้าวต่างๆ ที่อยู่ในระบบ Rice Cert. ของกรมการข้าว เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจการตรวจประเมินระบบมาตรฐานต่าง ๆ ของหน่วยงานภาครัฐไปสู่ CB/IB เอกชนหรือมหาวิทยาลัย

เกษตรกรสามารถเข้าสู่ระบบ Rice Cert. เลือกระบบฐานข้อมูลตามมาตรฐานที่ต้องการ เพื่อสมัครและยินยอมปฏิบัติตามมาตรฐานต่างๆ ได้ เพียงกรอกเลขประจ้าตัวประชาชน 13 หลัก ผ่านระบบ Rice Cert. ซึ่งจะดึงข้อมูลทะเบียนราษฎร์จากกรมการปกครอง และข้อมูลทะเบียนเกษตรกรจากกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อยืนยันตัวตนและข้อมูลการผลิตข้าวของตนเอง โดยเกษตรกรผู้ขอการรับรองระบบการผลิตตามมาตรฐานสามารถติดตามผลการตรวจ ประเมินระดับกลุ่มและระดับแปลง และสามารถเรียกดูใบรับรองแบบออนไลน์ได้ เพื่อตรวจสอบและแสดงสถานะการรับรองกับผู้ประกอบการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทุกที่ทุกเวลา ผ่าน Mobile Application ของระบบฐานข้อมูลตามมาตรฐานต่างๆ ในระบบ Rice Cert.


อย่างไรก็ตาม กรมการข้าวได้ลงพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดเพื่อติดตามผลการตรวจ ประเมินและรับรองมาตรฐานข้าว GAP แบบกลุ่ม ของกลุ่มนาแปลงใหญ่สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.ร้อยเอ็ด จำกัด รวมทั้งการตรวจประเมินผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว Q ของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธกส.ร้อยเอ็ด จำกัด อ.เกษตรวิสัย และการตรวจประเมินโรงสีข้าว GMP และผลิตภัณฑ์สินค้าข้าว Q และการใช้เครื่องหมายรับรองข้าวพันธุ์แท้ของกรมการข้าว ที่สหกรณ์การเกษตรเมืองร้อยเอ็ด จำกัด เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตข้าวคุณภาพครบวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ความเชื่อมั่น เชื่อถือในระบบคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวไทย ช่วยยกระดับการผลิตข้าวคุณภาพดีของประเทศไทยต่อไป